ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สภาพตลาดเมืองกรุงของประเทศไทยสมัย รัชกาลที่ 5 ตามบันทึกของนักวิชาการจากสหรัฐฯ บันทึกสภาพที่น่าสนใจไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพการค้า วิถีชีวิตของคนทั่วไป และสินค้าที่คนนิยมอย่างการ “เคี้ยวหมาก” แต่ธุรกิจที่พบเห็นมากในถนนใหญ่คือโรงจำนำ ขณะที่อาชีพที่ได้รับความนิยมมากก็เป็นการขายหมาก สะท้อนให้เห็นว่า ชาวสยามบางราย “ยอมอดข้าวดีกว่าอดหมาก”
แมกซ์เวลล์ ซอมเมอร์วิลล์ (Maxwell Sommerville) อาจารย์ผู้สอนวิชา Glyptology ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือเรื่อง Siam on the Mienam from the Gulf to Ayuthia เผยแพร่ครั้งแรกใน ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) แต่ไม่มีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่า แมกซ์เวลล์ เดินทางเข้ามาในไทยใน พ.ศ. ใด
สุมาลี วีระวงศ์ ผู้แปลและเรียบเรียงเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือคาดการณ์จากข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทย ที่เขานำมาเรียบเรียงน่าจะมีอายุเก่าเกินกว่านั้นไม่มากกว่า 5 ปีจากการเผยแพร่ ซึ่งทำให้คาดว่าอาจารย์ชาวอเมริกันเดินทางมาพบเห็นสภาพในช่วงรัชกาลที่ 5
เจตนาการเขียนของแมกซ์เวลล์คือ แสดงภาพของเมืองไทยที่ได้เห็น ตั้งแต่ปากอ่าวไทยขึ้นไปถึงอยุธยาอย่างละเอียด ผู้แปลจึงเชื่อว่า เป็นคู่มือการท่องเที่ยวยุคแรก ๆ ที่มีอยู่
เนื้อหาส่วนที่พูดถึงข้อมูลเกี่ยวกับเมืองไทย เริ่มต้นจากการเทียบท่า และเข้าโรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงแรมที่มีไม่มากนักในสยาม แมกซ์เวลล์ บรรยายมุมมองของตัวเองว่า เมื่อดูจากจำนวนโรงแรมในเมือง ชาวสยามเหมือนไม่ต้องการให้คนต่างถิ่นมาเยี่ยมเยือน ทั้งที่โรงแรมถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในพื้นที่อื่น แต่สำหรับสภาพในสยามแล้ว ใครมาก็แทบต้องนอนพักในตลาดอย่างพ่อค้าที่มาจากลาว อยุธยา หรือเกาะอื่น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดอาคารใหม่ ๆ มากขึ้นสำหรับต้อนรับแขกแปลกหน้า แต่ยังจำเป็นต้องหอบเครื่องนอนส่วนตัวมาเอง ขณะที่ในสยามมีขายข้าว ปลา เนื้อ ผลไม้ และน้ำพริก ซึ่งเป็นเครื่องจิ้มรสแหลม ใช้สำหรับเจริญอาหารและช่วยย่อย และแมกซ์เวลล์ อธิบายว่า เป็นอาหารที่ชาวตะวันตกไม่มีวันยอมแตะเป็นอันขาด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงแรมที่พักของชาวยุโรปขึ้นใหม่
“เมื่อแรกเริ่มสร้างโรงแรมนี้ขึ้น ชาวสยามพากันตื่นเต้นว่ามันใหญ่โตมโหฬารเหลือขนาด และไม่เชื่อเลยสักนิดว่านักเดินทางจะยินดีขึ้นกระไดไปพักอยู่ชั้นสูงๆ เพราะพวกเขานั้นชินแต่กับบ้านเรือนชั้นเดียว แต่เมื่อถูกถาม พวกเขาก็เพียงแต่ ‘เคี้ยวหมาก พลางพึมพำว่า ‘ตามใจ ตามใจ’ เท่านั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบอาคารก็เหมือนกัน”
ครั้นเข้าพัก แมกซ์เวลล์ อธิบายว่า เวลากลางคืนยุงชุมเสียแทบเอามือแปะที่หน้าผากเวลาไหนก็ตาม เป็นต้องได้ซากยุงติดมือออกมาไม่ต่ำกว่า 8-10 ตัวเสมอ ซึ่งแมกซ์เวลล์ ไม่กล้าเรียกเด็กรับใช้มาจัดการ เพราะคิดว่าล้วนเป็นพวกนับถือพุทธ อาจทำให้หมดความนับถือ และคิดว่าตัวเองเป็นคนบาปหนา
แมกซ์เวลล์ ยังเล่าว่า มีโอกาสเข้าพบนักวิชาการในราชสำนักหลายท่าน อาทิ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ โดยมีนายเวอร์นอน เคลเลตต์ ผู้ช่วยกงสุลใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้แนะนำให้
บันทึกของนักวิชาการอเมริกันเล่าสภาพพื้นที่ใกล้เคียงโรงแรมว่า ห่างไปทางด้านหลังประมาณ 300 เมตร จะเลี้ยวจากถนนตรงริมแม่น้ำ เข้าสู่ถนนใหญ่ที่เรียกว่า “ถนนใหม่” ซึ่งทอดผ่านสถานที่หลายแห่งที่ก่อนหน้านี้จะไปถึงได้ทางเรือเท่านั้น ระหว่างทางจะพบสะพานสูง ทอดข้ามคลองที่มีชื่อเสียง เช่น คลองน้อย คลองสาน คลองตะพานหัน และคลองขุดใหม่
ถนนเส้นนี้ นายแมกซ์เวลล์ บรรยายว่า เมื่อแรกสร้างวิศวกรเจอความลำบากในการกรุยแนวให้ตรง เพราะต้องตัดผ่านดงไม้ที่ชาวพุทธถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์จนไม่มีคนยอมตัด สุดท้ายต้องจ้างพวกหัวขโมยมาทำ แม้จะเป็นพวกหัวขโมยก็ยังเว้นไม่ตัดหลายต้น
ผู้ใช้ถนนเส้นนี้เดินทางไปมานับด้วยเป็นหลักพันคนเสมอ จึงมักมีพ่อค้ายึดข้างถนนใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน ธุรกิจที่พบมากคือ โรงจำนำ รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ลูกค้าที่ต้องการเที่ยวเดินหาร้านที่จะให้ราคาสูงสุดก็สะดวก
“พวกพ่อค้าโรงจำนำนี้รวยเร็ว ทำการอยู่ไม่กี่ปีก็มีข้าวของแปลกๆ เต็มร้าน ดึงดูดพวกนักท่องเที่ยวได้อย่างชะงัด”
บริเวณใกล้กับโรงจำนำ มีร้านชำ ร้านเครื่องเหล็ก และร้านขายผ้านุ่ง ซึ่งผ้านุ่งที่ทอในศตวรรษที่ 18 บางผืนสวยงามมาก ท่อนกลางเป็นไหมเคลือบ มีลายเชิงชายงามประณีต ช่างทอเป็นคนในบ้านผู้ดี แต่ต้องเอามาจำนำเนื่องจากยากจนลงในระยะที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองใน ค.ศ. 1781 เมื่อพระเจ้าแผ่นดิน (ผู้แปลระบุว่าเป็นพระเจ้าตากสิน) ทำศึกกับเขมรและเก็บภาษีอย่างรุนแรง
เมื่อเดินไปถึงใกล้เขตวังก็เลี้ยวเข้าถนนสู่ตลาด เนื้อที่ประมาณ 2-3 ไมล์ กิจการอาชีพที่แพร่หลายที่สุดจากที่พบเห็นคือ ขายหมากเป็นคำๆ มีผู้ขายรายทางในตลาด วัตถุดิบมีใบไม้เครือเถาที่เรียกกันว่าใบพลู ผลหมาก คนขายจะค่อย ๆ ตัดใบพลูเป็นสามเหลี่ยม ใช้พายไม้อันเล็กป้ายผสมขมิ้นลงตรงกลางรวมกับเนื้อในของผลหมาก แล้วม้วนใบพลูเป็นรูปกรวยเรียวแหลมอย่างชำนาญ ผู้เขียนบรรยายว่า ผู้ขายมือเป็นระวิงตลอด เพราะลูกค้ามากเสมอ
“ชาวสยามนิยมกินหมากกันทั่วไป บางคนถึงแก่ยอมอดข้าวมากกว่าอด ‘เคี้ยวหมาก’ เสียอีก พอได้หยิบหมากเข้าปากก็เหมือนหน้าจะชื่นขึ้นทันตาเห็นทุกคนไป คนที่มีฐานะดีและยศสูงจะมีคนรับใช้ถือหีบหมากตามติดไปทุกหนแห่ง ในหีบนั้นนอกจากใบพลูสดกับหมากที่แกะแล้ว ก็มีปูนผสมขมิ้น สีเสียดหอม ลูกเกดอย่างไม่มีเม็ด และบางทีก็มีฝอยยาสูบอย่างดีไว้ใช้ขัดฟันก่อนกินหมาก…”
แมกซ์เวลล์ ยังเล่าว่า ภาพวิถีชีวิตชาวสยามที่พบเห็นบ่อยแทบทุกที่คือแม่อุ้มลูกเข้าสะเอว ทั้งๆ ที่บางทีเด็กนั้นโตจนเลี้ยงตัวเองได้ดีแล้ว
“อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าชื่นใจที่เราได้เห็นด้วยเหมือนกันว่า ชาวสยามผู้เยาว์ไม่ลืมบุญคุณของผู้ใหญ่และพร้อมที่จะช่วยเหลือคนเจ็บหรือผู้ชราในเวลาที่คนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือ”
อ่านเพิ่มเติม :
- จริงหรือไม่? “สนามหลวง” เคยเป็น “สนามกอล์ฟ” ของฝรั่งและไฮโซไทย สมัย ร.5
- ถนนเจริญกรุง ฝุ่นจับ-สกปรก มี “ตรอกอาจม” รัชกาลที่ 5 ทรงกำชับทำให้สะอาดก่อนต่างชาติมา
อ้างอิง:
Sommerville, Maxwell. “Siam on the Mienam from the Gulf to Ayuthia”. แปลโดย สุมาลี วีระวงศ์. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 : เมษายน 2527
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2561