ผู้มาก่อนกาล “สู้จริง” กี่ครั้ง? ย้อนนักบู๊ที่ไม่ได้มีดีแค่ปาก ดวล “สตรีทไฟต์” ก่อนดังสายดารา

บรูซ ลี (Bruce Lee) (ภาพจาก AFP)

บรูซ ลี (Bruce Lee) นักแสดงภาพยนตร์บู๊ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะการป้องกันตัว นักสร้างภาพยนตร์ชื่อก้องโลกอย่างเรื่อง Enter the Dragon (ไอ้หนุ่มซินตึ้ง มังกรประจัญบาน) หรือ Fist of Fury (ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง) แม้แต่ใครที่ไม่เคยได้ดูหนังของเขา อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อ “บรูซ ลี”

บรูซ ลี หรือ หลี่เสี่ยวหลง เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) เป็นลูกคนที่ 4 ของครอบครัวจากจำนวนทั้งหมด 5 คน พ่อของเขาเป็นนักแสดงงิ้วชาวฮ่องกง แม่เป็นลูกครึ่งเยอรมัน-จีน ส่วนตัวลีนั้นมีสัญชาติอเมริกัน เนื่องจากเกิดในระหว่างพ่อของเขากำลังตระเวนทัวร์แสดงงิ้วที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เขาได้รับสัญชาติอเมริกันไปโดยปริยาย

หลังจากลีเกิดได้ไม่นาน ครอบครัวก็ย้ายกลับฮ่องกง ลีมีบทบาทในภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในเรื่อง Golden Gate Girl ขณะที่เขาอายุได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น ลีเริ่มได้รับโอกาสในวงการภาพยนตร์มากขึ้น โดยงานส่วนหนึ่งก็ได้รับมาจากเครือข่ายคนรู้จักของพ่อ ขณะเดียวกันความสามารถและความเป็นธรรมชาติขณะอยู่หน้ากล้องก็ช่วยผลักดันให้เขาไปได้ไกลในฐานะนักแสดง ทำให้เขามีผลงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมปลาย ลีมีผลงานภาพยนตร์สะสมราว 20 เรื่องทีเดียว

นอกจากความสามารถด้านการแสดง ลียังเป็นนักเต้นที่เก่งกาจ การันตีโดยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันเต้นชะชะช่า อีกทั้งยังเป็นนักสู้ที่ไม่แพ้ใคร จากการเข้ารับการฝึกฝนกังฟูอย่างจริงจังกับ “ยิปมัน” ปรมาจารย์ทางด้านกังฟูตั้งแต่อายุได้เพียง 13 ปี

แม้ดูเหมือนว่าลีจะประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ เป็นลูกที่พ่อแม่ภูมิใจ แต่ในอีกทางหนึ่ง ลีก็สร้างปัญหาที่ทำให้พ่อของเขาปวดหัวจากเรื่องทะเลาะวิวาทต่อยตีร้ายแรง ข้อมูลบางแหล่งเล่าไว้ว่าถึงขั้นที่ทำให้เขาโดนไล่ออกจากโรงเรียน ซึ่งจากนั้นลีก็ถูกส่งให้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา กับครอบครัวของเพื่อน (Mathew Keegan, 2019)

ที่นั่น ลีทำงานหาเลี้ยงตัวเองโดยเป็นทั้งครูสอนเต้น เป็นทั้งพนักงานเสิร์ฟที่ร้านอาหารจีน จนกระทั่งสามารถส่งเสียตัวเองเรียนจนจบปริญญาที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน

เวลาต่อมา โอกาสสร้างชื่อเสียงในวงการก็เดินเข้ามาหา เมื่อโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ได้พบเห็นลีขณะสาธิตการต่อสู้แบบกังฟูในงานแสดงศิลปะการต่อสู้ จึงชักชวนเขาไปทดสอบหน้ากล้อง ซึ่งแน่นอนว่าลีผ่านการทดสอบ ได้รับบทในทีวีซีรีส์เรื่อง The Green Hornet (หน้ากากแตนอาละวาด) หลังจากนั้นลีก็ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์และวิทยุอีกมากมาย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อของเขาโลดแล่นได้อยู่ในวงการฮอลลีวูด

ตลอดการทำงานในวงการบันเทิง ลีพัฒนาตนเองในหลายๆ ด้าน ไม่ได้หยุดตนเองอยู่แค่การเป็นนักแสดงเท่านั้น ลียังได้เขียนบทภาพยนตร์และกำกับการแสดง พร้อม ๆ กับฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ สร้างผลงานต่างๆ มากมายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดเกินกว่าที่นักแสดงคนไหนจะใฝ่ฝันถึง ตัวของลีเองก็ได้กลายเป็นไอคอนความบู๊และศิลปะการต่อสู้ที่เหนือชั้น

แม้เขาจะขึ้นชื่อเรื่องศิลปะการต่อสู้ทั้งในและนอกจอ แต่หากถามเรื่องสถิติการชกในไฟต์ต่อสู้จริงจังแล้ว คำถามนี้อาจหาคำตอบได้แบบไม่แน่ชัดนัก

ผลการต่อสู้ที่ (พอมี) บันทึกไว้ใกล้เคียงกับสถานะ “อย่างเป็นทางการ” จากรายงานของสำนักข่าว ESPN สื่อกีฬาในสหรัฐฯ รวบรวมไว้ พบว่า มีเพียง 3 ครั้งเท่านั้น

ปี 1958 ลี นะเลิศการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่อสู้ระดับโรงเรียน ขณะที่เขาผสมผสานศิลปะการต่อสู้แบบ หย่งชุน (Wing Chun) และการชกมวยแบบตะวันตก ซึ่งเขากำลังอยู่ระหว่างซึมซับ และนำมาพัฒนาตัวเองก่อนหน้าการแข่งขัน

ปร 1959 เขาย้ายไปซีแอตเทิล ไปดวลกับโยอิชิ นากาชิ (Yoichi Nakachi) นักคาราเต้สายดำที่ YMCA ท้องถิ่น รายงานข่าวเผยว่า การดวลกันจบลงภายใน 11 วินาที เมื่อลีออกหมัดไปโดนโยอิชิจนร่วงลงกับพื้น และลีเข้าไปเตะที่ศีรษะคู่ต่อสู้ น็อกฝ่ายตรงข้ามอย่างเลือดเย็น

การต่อสู้ครั้งต่อมามีลักษณะใกล้เคียงกับครั้งปี 1959 ครั้งนี้เกิดขึ้นที่โอ๊คแลนด์ในปี 1964 เอ็ด ปาร์กเกอร์ (Ed Parker) ผู้ก่อตั้ง “อเมริกัน เคมโป้” และนักลงทุนที่เป็นคาราเต้รายแรกๆ ในสหรัฐฯ เชื้อเชิญลีมาสาธิตเทคนิควิดพื้นนิ้วเดียว ไปจนถึงการออกหมัดระยะประชิดอันลือลั่นของเขา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “หมัดระยะหนึ่งนิ้ว” (one-inch punch)

โอกาสนั้น ลีไม่เพียงสาธิต แต่ยังกล่าวเชิงอบรมและยกย่องการฝึกหัดตามลักษณะส่วนบุคคลนั้นเหนือกว่าการยึดกับสไตล์ที่ไม่ยืดหยุ่น

ครั้งนั้น บรูซ ลี หักล้างและมองข้ามศิลปะการถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ตามธรรมเนียมแบบดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง สร้างความไม่พอใจต่อผู้ชม จนถูกนำไปบอกต่อกันแบบปากต่อปาก

สัปดาห์ต่อมา เขาสาธิตเทคนิคในซาน ฟรานซิสโก และแซวกังฟูแบบดั้งเดิม และประกาศข้อความที่ถูกตีความ (ซึ่งอาจตีความกันไปผิดความหมาย) ว่า ตัวเขาเองเปิดรับโอกาสดวลต่อสู้กับผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้รายใดก็ได้ในย่านคนจีน

ผู้ที่รับคำท้าคือ Wong Jack Man ผู้อพยพอายุราว 23 ปี จากฮ่องกงเหมือนกับลี และกำลังสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง มีเปิดโรงเรียนสอนส่วนตัว หลังจากเจรจาเรื่องสถานที่ เวลา และกฎกติกาการดวลกันหลายสัปดาห์ ในที่สุด ผู้รับคำท้าพร้อมลูกศิษย์จำนวนหนึ่งขับรถไปหาลีถึงสตูดิโอฝึกซ้อมที่โอ๊คแลนด์

การต่อสู้ที่เกิดขึ้นถูกบอกเล่ากันตามรายละเอียดปากคำที่แตกต่างกันออกไปจากข้อมูลของผู้พบเห็นเหตุการณ์ ตำนานปากต่อปากที่อาจผิดเพี้ยนไปเมื่อถูกบอกเล่าต่อกัน ผสมกับชื่อเสียงและสถานะคนดังของลี

บรูซ ลี
บรูซ ลี (Bruce Lee) (ภาพจาก AFP)

รายงานข่าวจาก ESPN ประมวลข้อมูลต่างๆ และรวบยอดออกมาเป็นสถานการณ์โดยคร่าวได้ว่า การดวลครั้งนั้น Jack Man ยื่นมือออกไปในทำนองเป็นการสัมผัสทักทายกันในเบื้องต้น (นึกเทียบกับการสัมผัสนวมก่อนชกมวยสากล) แต่ลีมองข้ามไปและพุ่งตัวไปข้างหน้า เขาน่าจะพยายามทำให้เกิดการน็อค 11 วินาทีแรกเหมือนก่อนหน้านี้ เดินตามแนวคิดที่เขาเชื่อและเรียนรู้จากการต่อสู้แบบสตรีทไฟต์ว่า “ให้จบแต่เนิ่นๆ”

แต่ Jack Man ที่เป็นกังฟูและมีทักษะดีเยี่ยม หลบหลีกได้อย่างช่ำชอง ก็หลบเลี่ยงไป และโจมตีลีที่คอ เมื่อเริ่มปะทะกันเข้า ลีพยายามจู่โจมคู่ต่อสู้หนักขึ้น ฟาก Jack Man ไปสะดุดกับขอบพื้นในสตูดิโอเล็กน้อย เปิดโอกาสให้ลีกระโจนเข้าใส่ ระดมปล่อยหมัดชุดใหญ่ก่อนที่ทั้งคู่จะถูกแยกออกจากกัน

ท้ายที่สุดลีเป็นฝ่ายชนะ แต่สภาพของทั้งคู่ก็ไม่ได้ออกมาดูดีเลย การชกกินเวลาราว 3 นาทีส่งผลต่อลี เขากังวลเรื่องขีดจำกัดของหย่งชุน และรู้สึกว่าตัวเขาถูกเล่นงานเข้าแล้ว เขาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับคู่ต่อสู้ที่ตั้งใจจะรักษาระยะห่างจากตัวเขามากกว่าจะเข้ามาจู่โจมเขา และยังผิดหวังกับพละกำลังของตัวเอง

รายงานข่าวให้มุมมองไว้ว่า การต่อสู้ครั้งนั้นปลดปล่อยลีจากการผูกมัดตัวเองกับสไตล์หย่งชุน หรือสไตล์เดี่ยวๆ แบบอื่น

แมทธิว โพลลี (Matthew Polly) นักเขียนหนังสือประวัติบรูซ ลี ให้ความเห็นว่า ลีเป็นคนแรกที่ออกมาพลิกโฉมแนวคิดโดยบอกว่า “ธรรมเนียมเดิมและสไตล์คือเรื่องโง่เขลา สิ่งสำคัญคืออะไรก็ตามที่เวิร์กสำหรับคุณ” ซึ่งนั่นทำให้คนเกลียดเขาในช่วงเวลานั้น

“ในอดีต คุณควรทำในสิ่งที่ครูบอกคุณ เพราะมันคือธรรมเนียมอายุ 500 ปี และคุณควรจะทำให้ธรรมเนียมนั้นมีอยู่ต่อไป” โพลลี กล่าว

แนวคิดของลี เป็นเช่นเดียวกับสิ่งที่แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ศิลปินชาวอเมริกัน และมูฮัมหมัด อาลี นักมวยรุ่นเฮฟวี่เวตในตำนานกระทำในยุค 60s สิ่งที่ลีแตกแขนงแยกออกมาจากธรรมเนียมดั้งเดิมสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง เขามีไอเดียเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้แบบใหม่ จะต้องผสมผสานหลอมรวมระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ทันสมัย พร้อมสำหรับการใช้งานต่อสู้ มากกว่าจะเป็นในเชิงสุนทรียศาสตร์

แนวคิดนี้ถางแนวทางใหม่ให้ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน ก่อร่างรูปแบบที่ลีฝึกฝนเมื่อเขาพัฒนาแนวทางส่วนตัวที่ภายหลังถูกเรียกว่า จิตคุนโด (Jeet Kune Do)

บรูซ ลี คือ ผู้มาก่อนกาล หากมองว่าระบบ “ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน” หรือ Mixed Martial Arts ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในเวลาต่อมา ขณะที่สังเวียนการต่อสู้แบบผสมผสานรายการ UFC เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 1993 ก่อนขยายตัวมาโด่งดังจนถึงปัจจุบัน โดยนับตั้งแต่ปี 1993 วงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทั่วโลก ทำให้ศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ ปรับทฤษฎีและการสอนโดยหลอมละลายให้ออกมาในฐานคิดเพื่อการต่อสู้จริง

วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) บรูซ ลี จากโลกนี้ไปอย่างกะทันหันจากอาการสมองบวม ขณะอายุเพียง 32 ปี จากการชันสูตรศพพบว่า อาการดังกล่าวเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของยาแก้ปวดหลัง ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องสาเหตุการตายของลีก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่อยมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Akintoye, Dotun. “Could Bruce Lee win a real fight?”. ESPN. Published 6 JUN 2020. Access 29 MAR 2022. <https://www.espn.com/espn/story/_/id/29266542/could-bruce-lee-win-real-fight>

Augustyn, Adam. “Bruce Lee American-born actor”. Britannica. Access 27 Nov 2018. <https://www.britannica.com/biography/Bruce-Lee>

“Bruce Lee Biography”. Biography. Published 27 APR 2017. Access 27 Nov 2018. <https://www.biography.com/actor/bruce-lee>

Keegan, Mathew.How Bruce Lee Became Hong Kong’s Most Famous Son”. Culture Trip. Published 18 OCT 2019. Access 27 Nov 2018. <https://theculturetrip.com/asia/hong-kong/articles/how-bruce-lee-became-hong-kongs-most-famous-son/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561, ปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อ 29 มีนาคม 2565