รัชกาลที่ 5 ออกกฎหมายคุมเข้ม “น้ำมัน” เพราะกลัวไฟไหม้บ้านเรือน

เรือบรรทุกน้ำมัน สมัย รัชกาลที่ 5
เรือบรรทุกน้ำมันเข้ามาขายในเมืองไทย สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สยามเริ่มใช้ “น้ำมันก๊าด” แทนการใช้น้ำมันพืช และไขสัตว์ เพื่อใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านและถนนหนทางเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2431 ซึ่งตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเป็นการสั่งซื้อจากประเทศรัสเซีย

เรือบรรทุกน้ำมันลำแรกของโลก ชื่อ “มิวเร็กซ์” ของบริษัท เชลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ เทรดดิ้ง ขนส่งน้ำมันก๊าด “ตรามงกุฎ” เข้ามายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2435 จำนวน 1,250 ตัน

ภายหลังจึงมีประเทศอื่นนำมาจำหน่าย เช่น พ.ศ. 2435 บริษัท รอยัลดัทช์และเซลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด) เป็นบริษัทต่างชาติเข้ามาทำการค้าเกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทยเป็นครั้งแรก, พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด)

น้ำมันก๊าดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่มีข้อเสียคือ “ไวไฟ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหารือกับคณะเสนาบดีว่า มีเรือบรรทุกน้ำมันเข้ามาในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก หากเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนเรือแพขึ้น น้ำมันจะเป็นเชื้อให้ไหม้มากขึ้น จะทำให้ดับเพลิงได้ยาก และเป็นที่น่ากลัว จึงเห็นควรให้มีโรงเก็บน้ำมันที่สวนแถบล่าง เหนือเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ซึ่งห่างจากบ้านเรือน

ทางการไทยจึงได้นำความคิดเห็นที่จะตั้งโรงเก็บน้ำมัน ทำเป็นหนังสือไปปรึกษากงสุลต่างๆ

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาค 8 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงโรงสำหรับจัดเก็บน้ำมันที่จะสร้างว่า

“…ได้เอสติเม็ดราคาที่ จะต้องลงทุนทำโรงแลรักษา กับกฎหมายบังคับเรือที่บรรทุกน้ำมันแลลูกค้าที่ขายน้ำมันฉบับ 1 ไปให้ทุกกงสุล เมื่อกงสุลเห็นการประการใดให้แจ้งความมาให้ทราบ บัญชีเอสติเม็ด โรงยาว 39 ฟุตครึ่ง กว้าง 86 ฟุตครึ่ง สูง 16 ฟุต เสาตั้ง 12 ฟุต ไว้น้ำมันได้ 16,000 หีบ

ฝาขัดแตะเป็นเสาพื้น เครื่องบนไม้จริง หลังคาสังกะสี หน้าต่างที่บานแลลูกกรงเหล็ก หลังคามีรางน้ำตกที่คูรอบโรง แล้วทิ้งดินขึ้นข้างคูข้างนอกเป็นคันสูง 8 ฟุต กว้าง 10 ฟุต

ถ้าโดยเกิดเพลิงไม่ให้น้ำมันไหลลงแม่น้ำได้ แล้วมีสะพานข้ามชักได้ มีรั้วข้างนอกอีกแล้วปลูกต้นไม้รอบข้างนอกมีโรงๆ อีก 3 หลัง แล้วมีคูมีรั้วเหมือนกัน มีสะพานสำหรับขึ้นลงรวมประมาณเงิน 115 ชั่ง แลค่าใช้สอยสำหรับโรงนั้น การซ่อมแซมคิดเดือนละ 50 บาท เสมียนคนหนึ่งเดือนละ 60 บาท กุลี 2 คน เดือนละ 30 บาท คนนั่งยาม 2 คน เดือนละ 20 บาท คนเรือ 2 คน เดือนละ 16 บาท รวมเดือนละ 176 บาทที่จะต้องใช้เสมอทุกเดือน”

นี่คือต้นกำเนิดของคลังของบริษัทต่างๆ ที่ช่องนนทรีย์ คลองเตย กรุงเทพฯในปัจจุบัน

สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำมัน มีข้อความดังนี้

“กฎหมายข้อ 1 ว่า เรือกลไฟแลเรือใบลำหนึ่งลำใด ถ้าบรรทุกน้ำมันเข้ามาในกรุงเทพฯ เกิน 500 หีบแล้ว ต้องทอดสมอท้ายโรงน้ำมันหรือแวะที่สะพายโรงน้ำมันก็ได้ ให้ขนน้ำมันขึ้นไว้ในโรงเสียก่อน แล้วจึงเข้ามาได้

ข้อ 2 เรือกลไฟหรือเรือใบลำหนึ่งลำใด ถ้าบรรทุกน้ำมันไม่ถึง 500 หีบ เรือลำนั้นจะเข้ามาก็ได้ แต่ต้องขนน้ำมันส่งไปไว้ที่โรงในกำหนด 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เรือทอดสมอแล้ว

ข้อ 3 เรือกลไฟหรือเรือใบลำหนึ่งลำใดที่จะบรรทุกน้ำมันลงเรือก็ดี หรือขึ้นเรือก็ดี  ห้ามมิให้มีผู้ถือไฟหรือสูบบุปรี่กล้องเข้ามาใกล้เคียงน้ำมันในเวลาที่ขนขึ้นขนลงนั้น ให้เจ้าของผู้ที่รับผู้ที่ส่งน้ำมันต้องเป็นธุระตามระวัง

ข้อ 4 ว่าห้ามมิให้เรือกลไฟเรือใบลำหนึ่งลำใด รับบรรทุกน้ำมันลงเรือหรือขนขึ้นในเวลากลางคืน แลห้ามมิให้เอเย่นต์และเจ้าของเรือ ขนข้ำมันไว้บนสะพานเกิน 8 หีบขึ้นไป

ข้อ 5 ว่าเรือลำหนึ่งลำใดบรรทุกน้ำมันเข้ามาในกรุงเทพฯ ถ้าเจ้าของเรือนั้นจะไม่จำหน่ายในกรุงทเพฯ เรือลำนั้นจะต้องทอดสมออยู่ท้ายโรงน้ำมัน ถ้าจะเข้ามาต้องขนน้ำมันขึ้นไว้ในโรงเสียก่อน แล้วจึงจะข้ามาได้ ถ้ามีเพียง 8 หีบ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย

ข้อ 6 เรือลำเลียงลำหนึ่งลำใดที่บรรทุกน้ำมัน ต้องประพฤติตามกฎหมายนี้ทุกประการ และในเวลาที่รับรรทุกน้ำมันอยู่นั้นบ่าย 5 โมงแล้ว ห้ามมิให้เรือนั้นอยู่ในกำหนดที่ใกล้เคียงบ้านเรือน ให้ถอยไปจอดที่โรงน้ำมัน

ข้อ 7 ลูกค้าที่เอาน้ำมันเข้ามาด้วยเรือลำหนึ่งลำใด ถ้ามีเกิน 8 หีบแล้ว พอเรือลำนั้นเข้ามากรุงเทพฯ เจ้าของต้องบอกส่งน้ำมันไปไว้ที่โรง

ข้อ 8 ว่าพ่อค้าผู้หนึ่งผู้ใด ที่จะเอาน้ำมันไว้ที่ตึก บ้าน ร้าน เรือน โรง เรือ แพที่ในกำหนดใกล้เคียงบ้านเรือนในกรุงเทพฯ นั้น ไว้ได้แต่ 8 หีบ คิดเป็น 80 แกลลอน ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเอาน้ำมันไว้ที่แห่งเดียวเกิน 8 หีบเป็นอันขาด

ข้อ 9 ลูกค้าที่รับน้ำมันไว้ น้ำมันนั้นต้องไว้ในถังของเขาเอง หรือเอาไว้ในที่อื่น ให้มีฝาปิดก็ได้ ห้ามมิให้เอาน้ำมันไว้ในภาชนะที่ไม่มีฝาปิดด้วย เพื่อที่จะไม่ให้ถูกไฟ ซึ่งผู้ใดจะขีดไม่ขีดไฟ สูบบุหรี่ แลไฟอื่นแล เมื่อจะขายปลีก ผู้ที่ขายน้ำมันนั้นต้องเป็นธุระระวังอย่าขายด้วยภาชนะที่ไม่มีฝาปิด

ข้อ 10 โรงที่รับ โรงที่ส่งน้ำมันจะเปิดรับตั้งแต่เช้า 2 โมงจนบ่าย 5 โมง แลผู้จัดการโรงน้ำมันจะคิดค่าเช่าโรง หีบหนึ่งเดือนละ 4 เซ็นต์ครึ่ง เอาไว้ไม่ถึงเดือนต้องเรียก 4 เซ็นต์ครึ่งเหมือนกัน กับค่าขนน้ำมัน 2 เซ็นต์ และค่าส่งอีก 2 เซนต์ เจ้าของน้ำมันที่เอาน้ำมันไว้ในโรงต้องเสียทุกเดือนที่ขนขึ้นลงไปด้วย  ให้เรือลูกค้าที่บรรทุกน้ำมันและซื้อขาย ประพฤติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ถ้าทำผิดจะปรับไหมตามสมควร ไม่เกิน 400 บาททุกครั้ง ข้อกฎหมายนี้ทำไว้จำเพาะจะได้กันมิให้เกิดเพลิง ผู้ที่ใช้น้ำมันปิโตรเลียมจะได้ระวัง แต่จะข้อหนึ่งข้อใดในกฎหมายนี้ หรือค่าปรับไหมนั้น จะยกไปลบล้างข้อกฎหมานแผ่นดินที่ว่าด้วยอาญาไฟไหม้ แลโทษผู้ซึ่งทำผิด เพราะทำไฟไหม้ทรัพย์ผู้อื่นเสียไปนั้นไม่ได้”

กฎหมาย 10 ข้อ ว่าด้วยเรื่องน้ำมันที่ไทยประกาศใช้เป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถือกฎหมายอังกฤษที่ว่าด้วยน้ำมันปิโตรเลียมและดินปืน ซึ่งพระองค์ทรงโปรดให้กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ค้นคว้าจากหนังสือ Chambers Encyclopedia. Vol.VII หน้า 456 เมื่อจุลศักราช 1240 เป็นต้นเค้า

สำหรับหนังสือที่สอบถามไปยังกงสุลต่างๆ ปรากฏว่ากงสุลเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ จะมีข้อขัดแย้งก็เฉพาะข้อปลีกย่อย เช่น บางกงสุลเห็นว่าค่าเช่าโรงและค่าขนน้ำมันขึ้นหรือลงแพง บางกงสุลก็ว่าโรงเก็บน้ำมันที่จะสร้างขึ้นที่สวนล่างนั้นไกลเกินไป ฯลฯ ซึ่งกงสุลดังกล่าวพยายามจะรักษาผลประโยชน์ของตนไว้ แต่เรื่องหลักการใหญ่คือการตั้งโรงสำหรับเก็บน้ำมันนั้น กงสุลทุกประเทศเห็นด้วย

ด้วยเหตุนี้ โรงสำหรับเก็บ น้ำมันก๊าด จึงตั้งที่สวนล่าง เหนือเมืองนครเขื่อนขันธ์ ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ส่วนกฎหมายน้ำมันฉบับหลัง ใน รัชกาลที่ 5 ได้แก่ “พระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำสยาม” ซึ่งอยู่ใน “หมวดที่ 2 ข้อบังคับสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันปิโตรเลียในระวาง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

เทพชู ทับทอง “กฎหมายน้ำมัน”. กรุงเทพฯในอดีต, หจก.อักษรบัณฑิต 2518

ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์. “100 ปี ‘น้ำมัน’ ในสยาม”, ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2532


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561