ศิษย์สืบสายสำนักพระยาพิชัยฯ ชกมวยเขมรตายจนยกเลิกมวยคาดเชือก

พี่น้องเลี้ยงประเสริฐ ด้านหน้าคือนายสอน บิดา ด้านหลังจากซ้ายไปขวาคือ พลอย, แพ, ฤทธิ์, โพล้ง และโต๊ะ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2527)

มวยคาดเชือกในปัจจุบันเป็นที่พูดถึงและมีให้เห็นในหน้าสื่อกันบ้าง แต่หากย้อนกลับไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาซึ่งเป็นยุคที่มวยเริ่มเป็นกีฬาแบบในยุคปัจจุบัน มีพี่น้อง 5 เสือจากสำนักท่าเสาของครูเมฆผู้สืบศิลปมวยไทยเมืองอุตรดิตถ์ มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น และหนึ่งในนั้นเคยชกมวยเขมรเสียชีวิตอันเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกมวยคาดเชือก

กีฬามวยเริ่มได้รับความนิยมนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มแข่งขันแบบอาชีพ และตั้งเวทีบ้างแล้ว พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม๊ค เศียรเสวี) จัดเปิดแข่งมวยอาชีพเป็นครั้งแรกที่สนามมวยสวนกุหลาบ (ในโรงเรียนสวนกุหลาบ) และแพร่หลายมาสู่สนามมวยแห่งอื่นๆ อาทิ สนามท่าช้าง, หลักเมือง, เสือป่า, สวนสนุก ก่อนที่จะมาถึงยุคเวทีราชดำเนิน

ยุคนั้นมีนักมวยที่หลั่งไหลเข้ามาพิสูจน์ฝีมือกับนักมวยในพระนครมากมาย นักมวยที่มีชื่อเสียงในยุคตั้งต้นกีฬามวยมีชื่อ “พี่น้อง 5 เสือ อุตรดิตถ์” จากตระกูล “เลี้ยงประเสริฐ” ซึ่งในตระกูลเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นศิษย์สืบสายสำนักพระยาพิชัยดาบหัก

ตำนานดั้งเดิมที่ชาวอุตรดิตถ์นับถือ ว่ากันว่า พระยาพิชัยฯ เป็นศิษย์สำนักมวยครูเมฆ ชื่อครูเมฆ ก็เป็นชื่อที่ภักดี สวนรัตน์ หรือ “พันเมือง” นักเขียนอาวุโสหยิบมาเขียนเป็นแนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “นายขนมต้ม” แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า นายขนมต้มเป็นศิษย์ครูเมฆจริงหรือไม่

พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว นักเขียนที่เชี่ยวชาญเรื่องหมัดมวย เขียนบทความเล่าเรื่อง 5 พี่น้องจากอุตรดิตถ์ นักมวยในตระกูล “เลี้ยงประเสริฐ” ว่ามีเรื่องเล่าสืบต่อกันในตระกูลว่า ครูเมฆเป็นครูมวยเก่าแก่ที่บ้านท่าเสา เมืองพิชัย ได้ถ่ายทอดวิชาสืบเชื้อสายกันมาถึงครูเอี่ยม และผู้สืบทอดต่อมาคือครูเอม ซึ่งเป็นผู้สอนวิชาแก่ 5 พี่น้องในฐานะหลานตาแท้ๆ ของครูเอม

พ.ต.ท. สมพงษ์ อธิบายว่า ข้อมูลนี้ได้รับจากปากคำของศิษย์สำนักบ้านท่าเสา คือนายโพล้ง และนายแพ เลี้ยงประเสริฐ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ซึ่งขณะนั้นท่านทั้งสองอยู่ในวัยชรามากแล้ว

สำหรับ 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ เริ่มปรากฏชื่อลือนามในวงการระหว่าง พ.ศ. 2465-2475 จากการเข้ามาชกสร้างชื่อในพระนคร รายนามเรียงลำดับตามพี่น้อง ได้แก่ นายโต๊ะ, นายโพล้ง, นายฤทธิ์, นายแพ และนายพลอย

ยุคที่สนามมวยในพระนครเปิดแข่งขันกันกว้างขวางเฟื่องฟู หลวงพินิจฯ (ไม่ทราบสร้อยราชทินนาม) ข้าราชการศาลเมืองสุพรรณ ไปพบนายโพล้ง นายแพ แสดงฝีมือในต่างจังหวัดหัวเมืองแล้วชื่นชอบ ชักชวนให้เข้ามาชกในกรุงเทพฯ ภายหลังขึ้นชกหลายครั้ง ทั้งสองนักมวยกลับบ้านไปชวนพี่น้องมาด้วยอีก 3 คน โดยสังกัดในความดูแลของ “คุณพ่อชลัมภ์ฯ” (นาวาเอก พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์ร.น.)

สำหรับกรณีที่เป็นข่าวดัง คือการชกของนายแพ ที่ครั้งหนึ่งมีนักมวยเขมรเป็นแขกครัว ชื่อนายเจียร์ พระตะบอง เข้ามาท้านักชกมวยไทยชกคาดเชือกกันแบบฉบับของมวยไทย

ภาพประกอบเนื้อหา – นายแพ เลี้ยงประเสริฐ (ซ้าย) กับ นายสมถวิล โชคอำนวย (ขวา) มวยจากสุราษฎร์ธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2564)

พ.ต.ท. สมพงษ์ อธิบายว่า นายเจียร์ เป็นนักมวยเอกฝีมือดี รูปร่างล่ำสันใหญ่โต ผิวดำ ลือชื่อเรื่องคงกระพันชาตรี ว่านยาอาคมตามแบบเขมรโบราณ และยังมีกิตติศัพท์ว่าเคยชกคนตายมาแล้ว

คุณพระชลัมภ์ฯ ที่เป็นผู้ช่วยนายสนามมวยหลักเมือง ได้ประกาศหาผู้ที่อาสาขึ้นลองฝีมือนายเจียร์ นายโพล้ง เป็นผู้อาสา แต่คุณพ่อชลัมภ์ฯ ขอให้นายแพลองชกดูก่อน

นายแพขึ้นชกกับนายเจียร์แบบคาดเชือกที่สนามมวยหลักเมือง นายแพเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งรูปร่างและน้ำหนัก ตกเป็นรองก่อนชกมาก เริ่มชกยกแรกก็มีท่าทีเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

เมื่อถึงยก 3 พี่เลี้ยงเห็นนายแพ ถูกรุกไล่ไปติดเชือกกั้นสังเวียน จึงตะโกนบอกให้นายแพ ใช้แม่ไม้ “หนุมานถวายแหวน” และเป็นจังหวะพอดีที่นายเจียร์ รุกถลำเข้ามา จึงโดนชกหมัดคู่ในท่าหนุมานถวายแหวนถูกเข้าลูกกระเดือกจนชะงักอยู่กับที่

นายแพเห็นวินาทีทองก็ไม่ปล่อยผ่าน ตรงเข้าชกซ้ายขวาจนหมัดนายเจียร์ ตกข้างลำตัว แล้วใช้แขนซ้ายโน้มนายเจียร์ เข้ามาพร้อมกับอัดหมัดขวาเข้าที่ลิ้นปี่แบบสุดแรง นักชกเขมรถึงกับทรุดลงกองกับพื้นเวที กรรมการนับ 10 แล้วก็ยังไม่ฟื้นสติ นายแพเป็นฝ่ายชนะน็อคในยกที่ 3 ไปได้

ขณะที่แพทย์สนามเข้ามาดูแลนายเจียร์เท่าไหร่ก็ยังไม่ฟื้น ต้องส่งโรงพยาบาลแต่นายเจียร์ได้สิ้นใจในระหว่างทาง

ข่าวการเสียชีวิตครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่เมื่อตำรวจและกรมการเมืองเข้าจับกุมนายแพในข้อหาฆ่าคนตาย และเอาตัวไปควบคุมรอพิจารณา และถูกคุมขัง 2-3 วัน พระยาเทพหัสดินทร์ (นายสนาม) พยายามวิ่งเต้นช่วยเหลือแก้ไขตามกระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายเดิมมีคุ้มครองอยู่แล้ว ตามบทบัญญัติในกฎหมายตราสามดวง ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ มาตรา 117 ว่า

“มาตราหนึ่ง ชนทั้งสองมีเอกจิตนเอกฉันทมาตีมวยด้วยกันก็ดี มวยปล้ำก็ดี และผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดก็ดี ค่นหัก ถึงแก่มรณะภาพก็ดี ท่านว่าหาโทษมิได้ อนึ่งมีผู้ยุยง ตกรางวัล ก็ดี ให้ปล้ำกันนั้น ผู้ยุหาโทษมิได้ เพราะเหตุผู้ยุนั้นจะได้มีจิตรเจตนาที่จะใคร่ให้สิ้นชีวิตหามิได้ แต่ใคร่จะดูเล่นเป็นผาสุกภาพ เป็นกำมแก่ผู้มรณะภาพเองแล”

กฎหมายข้อนี้ทำให้กรมเมืองปล่อยตัวนายแพ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่า การชกมวยแบบคาดเชือกเป็นการทารุณโหดร้ายเกินไป อาจเกิดกรณีดังกล่าวอีก จึงประกาศห้ามชกมวยแบบคาดเชือกอีกต่อไป โดยกำหนดให้สวมนวมแบบฝรั่งแทน (การชกมวยฝรั่ง หรือมวยสากลในยุคนั้นเริ่มได้รับความนิยมในไทยแล้ว) และเป็นที่ยึดถือกันมายุคหนึ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 ฉบับที่ 11. กันยายน 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2561