“ย่างสามขุม” ในวงการมวยไทยคืออะไร ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร

ย่างสามขุม มวย ผู้ชาย เขตร ศรียาภัย
เขตร ศรียาภัย เมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะนั้นอายุ 70 ปี กำลังจดท่าย่างสามขุม ถ่ายโดยศิษย์จุฬาฯ (ภาพจาก หนังสือปริทัศน์มวยไทย)

ย่างสามขุม เป็นท่าเหลี่ยมหรือการตั้งท่า ปัจจุบันเรียกว่า “ท่าจดมวย” เป็นท่าที่คงอยู่กับที่เฉยๆ นักมวยต้องฝึกหัดย่ำเหยาะ ยกเท้าก้าวย่าง ถือเป็นการฝึกร่างกายท่อนล่างของมวยไทย เพราะเวลาชกมวยจะไม่มีการยืนนิ่งๆ ซึ่งหากเป็นมวยสากล ก็พอจะเทียบเคียงได้กับ “ฟุตเวิร์ค” (Foot work)

สำหรับแบบย่างสามขุมตามที่ หลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) ปรมาจารย์มวยไทยอบรมฝึกสอนลูกศิษย์ เป็นแบบฝึกสอนเดียวกับของ “หลวงพ่อมา” เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนี้

“ท่าเตรียมตัว ยืนตัวตรง ยกมือซ้ายกำหมัดขึ้นถึงระดับแสกหน้าหรือหน้าผากตรงอุณาโลม (ระหว่างกลางหัวคิ้ว) หมัดขวาอยู่ห่างกึ่งกลางแขนซ้ายประมาณไม่เกิน 2-3 นิ้ว ถ้าห่างมากและปฏิปักษ์เตะหน้าแข้งปฏิปักษ์อาจพลาดถูกซี่โครง อันเป็นตอนที่เรียกว่าซี่โครงอ่อนซึ่งหักง่าย ต่อจากนั้น ก้าวขาซ้ายออกไปข้างหน้าให้เต็มก้าวยาว ระวังอย่าให้ถึงกับเสียศูนย์ บิดตัวตะแคงเหลี่ยมเพื่อให้เป้าเล็กลงครึ่งหนึ่ง น้ำหนักตัวอยู่บนปลายโต่งทั้งสองข้าง (Balls of the feet)” [สำหรับนักมวยถนัดซ้ายก็ตั้งท่ากลับกันกับที่กล่าวข้างต้น]

ส่วนที่มาของการย่างสามขุม อาจารย์เขตร ศรียาภัย-ครูมวยไทยชื่อดัง บันทึกไว้ว่า

“บรรพบุรุษของไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชามวยไทยไว้เป็นศิลปะประจำชาติ ได้จำแนกหลักการฝึกมวยไทยไว้เป็นขั้นๆ อย่างพิสดาร ตลอดจนพยายามบรรยายอุปเท่ห์เพื่อดำเนินการปลุกใจ (ปราณ) ให้เกิดความฮึกเหิมเป็นต้นขึ้นไว้…โดยกล่าวเป็นสัมโมทนียกถา หรือถ้อยคำรื่นเริงไว้ดังนี้

ครั้งนั้นพระอิศวรเป็นเจ้าประทับเกษมพระสราญอยู่กับพระอุมาในแดนสวรรค์ (ตามคติของลัทธิฮินดูหรือไสยศาสตร์หมายความว่า แดนแห่งความสว่างรุ่งเรือง) พรั่งพร้อมด้วยเทพยดาและสาวสวรรค์ฟ้อนรำบำเรอถวาย…เมื่อเวลางานรื่นเริงของชาวสวรรค์ยุติลง…พระผู้เป็นเจ้าทรงชายพระเนตรเห็นอสูรตาตะวัน หมอบเฝ้าอยู่แทบฐานพิมานเมฆ ก็ทรงพอพระทัย (ชอบประจบ?) ในความจงรักภักดี จึงตรัสปราศรัยด้วยถ้อยมธุรส

ฝ่ายพญายักษ์เลยลำพองใจเห็นได้ท่า ก้มหัวลงกราบทูลขอประทานที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์กว้างยาวโดยคณนาโยชน์ (หรือเท่ากับ 100 ตารางไมล์) พร้อมด้วยพระพรว่า สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา นาคา กุมภัณฑ์ หรืออสูรใดๆ หากบุกรุกเข้าไปในแดนแห่งกรรมสิทธิ์ของตนแล้วไซร้ ขอจับกินเป็นอาหารได้ตามอำเภอใจ พระอิศวร (แกให้พรแต่เรียกคืนไม่ได้) ก็จำต้องประทานพรและที่ดินให้แก่ยักษ์ตามขอ

เมื่อท้าวตาตะวันได้สิ่งพึงประสงค์ง่ายดายสมใจ ก็กลับคืนสู่ที่อยู่ข้างเขาพระสิเนรุราชบรรพต…มีความปลาบปลื้มลืมตัว เมามัวอำนาจ คาดคิดจะล่มฟ้า กำเริบอยากกินสัตว์แปลกๆ เป็นอาหารตามสันดานเลว ตั้งพิธีเพิ่มตบะร่ายมนต์วิเศษขึ้น…

ด้วยแรงฤทธิ์รากษสร้าย แรงฤทธิ์วิศวมนต์ เทวดา มนุษย์และสัตว์โลกน้อยใหญ่หลายหลากที่ต้องมนต์พากันหลงใหลล่วงล้ำเข้าไปในแดนมฤตยูโดยมิได้ตั้งใจ ท้าวตาตะวันเห็นดังนั้นดีใจจนน้ำลายไหลไล่จับกิน…ร้อนถึงพวกที่ยังไม่ถูกกินต่างพากันหวั่นเกรง นั่งนอนสะดุ้ง…ตกลงชวนกันขึ้นเฝ้าพระอิศวร…บรรยายความทุกข์ร้อนให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบ

พระอิศวรได้ฟังก็พิโรธ รับสั่งให้เทพบุตรไปตามพระนารายณ์ซึ่งประทับบรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทร ให้รีบปราบยักษ์เพื่อกำจัดยุคเข็ญโดยด่วน…

ครั้นพระนารายณ์ได้ทราบพระโองการของพระผู้เป็นเจ้า จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์รูปงาม นวยนาดเรื่อยๆ ล่วงล้ำเข้าไปในแดนหวงห้าม ด้วยลักษณะที่คณาจารย์มวยให้ชื่อว่า “นารายณ์ยุรยาตร” เพื่อสังเกตทีท่าอย่างระมัดระวัง แบบนักมวยได้ยินสัญญาณระฆังให้เริ่มต่อสู้กัน

ทันใดนั้นอสูรตาตะวันผู้ก่อความมืดมน (หมายถึงความชั่ว) แก่โลก ก็ตวาดด้วยเสียงอันดังดุจฟ้าร้องว่า ‘อ้ายหนุ่มเดนตาย จึงทะลึ่งเซ่อซ่าเข้ามาทำไม ไม่กลัวยักษ์จับกินหรือ’

พราหมณ์แสร้งทำ (ลูกไม้) เป็นกลัว ตอบคำตะคอกของยักษ์ด้วยสำเนียงสั่นเครือว่า ‘ท่านผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีใครเทียบเท่า ข้าน้อยเดินหาที่ดินเพื่อประกอบพิธีตามตำรับพระเวทแห่งวิสัยพราหมณ์สัก 3 ก้าว (เล่ห์เหลี่ยม) ไม่ได้ตั้งใจจะคำแหงหาญบุกรุกรบกวน ขอท่านอสูรได้โปรดเมตตาข้าด้วย เมื่อข้าประกอบพิธีเสร็จแล้ว แม้จะต้องตายก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะขึ้นชื่อว่าได้ประพฤติสมบูรณ์แบบที่ได้กำเนิดเกิดมาในตระกูลพราหมณ์แล้ว’

ท้าวตาตะวันไม่รู้กล (ไม้มวยไทย) ทะนงตนตอบว่า ‘กูได้ที่ดินแห่งนี้มาจากพระอิศวร ถ้ามึงอยากได้เพียงใช้ประกอบพิธี กูก็ยอมให้เท่าที่มึงต้องการโดยไม่คิดอะไรทั้งหมด’

พราหมณ์แปลงแกล้งทำเป็นสงสัย ถามอีกครั้งว่า ‘ท่านผู้เป็นใหญ่ (เหมือนคนไทยถูกจีนยกย่องในครั้งแรก) ท่านกรุณาให้แล้ว จะกลับเอาคืนหรือไม่’ อสูรตาตะวันไม่เฉลียวใจ ลั่นวาจาตอบด้วยความคะนองว่า ‘เมื่อกูให้เป็นสิทธิ์แล้ว กูก็รักษาสัจจะไม่เอาคืนเป็นอันขาด’

ทันทีที่ได้ยินยักษ์ตั้งความสัตย์ พระนารายณ์แปลงก็สำแดงเดช ป่าหิมพานต์สะท้านสะเทือน ‘ย่างสามขุม’ ยักเยื้องคลุมแดนยักษ์ทั้งหมด 300 โยชน์

อสูรตาตะวันตกใจ ตะลึง คิดว่าคงไม่มีใครทำได้เช่นนั้นนอกจากองค์พระสี่กร นึกขึ้นได้ กลัวตาย รีบเผ่นหนีเพื่อเอาตัวรอด แต่ไปไม่รอด ต้องถึงกาลมอดม้วยมรณาด้วยเดชามหาอิทธิฤทธิ์แห่งเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์

เพราะฉะนั้นตามตำราพระเวทจึง (นับ) ถือเอาการ ‘ย่างสามขุม’ หรือการก้าวจังหวะยักเยื้องสามเส้าเป็นแบบฉบับในขบวนการ ‘พาหุยุทธ์’ หรือ การชกต่อย และใช้อุปเท่ห์เล่ห์เหลี่ยมดำเนินการปลุกปราณ (จิตใจ) บรรดามัลละ [นักมวย] ในขณะเริ่มการต่อสู้…”

ความยิ่งใหญ่ของ “ย่างสามขุม” นั้น อาจารย์เขตร ศรียาภัย กล่าวว่า “ย่างสามขุม เป็นท่าเหลี่ยม ทำตัวให้แคบ และสะดวกแก่การเข้าหรือออก ผู้ได้ฝึกท่าสามขุมได้คล่องแคล่ว ก็เท่ากับมีสมรรถภาพในการเข้าตีหรือแม้แต่การถอยก็ทำร้ายปฏิปักษ์ได้”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์ มวยไทย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2566