กำเนิดใหม่ของประวัติศาสตร์สุโขทัย

(ซ้าย) ปกศิลปวัฒนธรรม ฉบับปฐมฤกษ์ พฤศจิกายน 2522 มีเรื่อง สุโขทัย (ขวา) ปกหนังสือประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง เขียนโดย วริศรา ตั้งค้าวาณิช (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2557)

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชนชั้นนำไทยเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ที่ไกลออกไปกว่ากรุงศรีอยุธยา เริ่มรู้จักสุโขทัยในฐานะที่เป็นบ้านเมืองที่เจริญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา มีความพยามศึกษาค้นหาอดีต แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดสถานะและยุคสมัยของ “สุโขทัย” อย่างแน่ชัด

แม้ว่าชนชั้นนำจะถูกกระตุ้นเร่งเร้าให้ศึกษาความเป็นมาของชาติอย่างจริงจัง แต่การศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยโดยเฉพาะยังมีไม่มากนัก เรื่องเกี่ยวกับสุโขทัยยังปะปนอยู่กับงานเขียนอื่นๆ ไม่ได้ถูกเน้นย้ำและให้ความสำคัญนัก อีกทั้งยังมีส่วนที่เป็นตำนานอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ อยู่มาก

ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของความพยายามสืบค้นอดีตคือ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ “ของเก่า” ทั้งหลาย พยายามสร้างคำธิบายใหม่ สร้างเรื่องราวให้ชัดเจนมีหลักฐานรองรับ และดูเป็นเหตุเป็นผล แม้บางครั้งจะเป็นการตีความเข้าข้างตนเองก็ตาม ดังนั้นการจัดตำแหน่งแห่งที่ หาหลักฐานรองรับ และอธิบายความเป็นมาทำให้อดีตของสุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” จึงเป็นการสร้างตัวตนให้กับสุโขทัยได้อย่างดี

พ.ศ.2450-2495 จึงเป็นเวลาสำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นการค้นคว้าประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างจริงจัง เรื่องราวที่มีการศึกษาและสร้างขึ้นในเวลานี้ ทั้งการจัดยุคสมัย โครงเรื่อง รายละเอียด และแนวคิดบางประการจะกลายเป็นหลักสำคัญสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์สุโขทัยในภายหลัง โดยเฉพาะการทำให้สุโขทัยเป็น “ราชธานี” แห่งแรกของไทย

อ่านเพิ่มเติม: สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรก แต่เป็นรัฐเล็กๆ จากชุมชน 2,000 ปี

การสร้างให้สุโขทัยกลายเป็นรัฐในอุดมคติ การยกย่องให้พ่อขุนรามคำแหงเป็นกษัตริย์พระองค์สำคัญ ฯลฯ เรื่องราวบางอย่างได้กลายเป็นเรื่องเล่าหลัก หรือเล่าแม่บท (master narrative) ของประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการและยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน


คัดบางส่วนมาจาก หนังสือศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ ประวัติศาสตร์สุโขทัย “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง เขียนโดย วริศรา ตั้งค้าวานิช จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน. 2557


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 7 กันยายน พ.ศ.2559