เผยแพร่ |
---|
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังเป็นพระวชิรญาณอยู่นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา และมีภูมิรู้ทางภาษาบาลีอย่างชนิดหาตัวจับยาก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบกิตติศัพท์ในด้านนี้ของพระองค์ วันหนึ่งจึงทรงอาราธนาพระองค์เข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมสนามหลวง
พระวชิรญาณเองก็ไม่ขัดพระราชศรัทธา จึงเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมถวาย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงฟังการสอบความรู้พระปริยัติธรรมในครั้งนั้นด้วยทุกวัน
วันแรกของการสอบพระปริยัติธรรม พระวชิรญาณทรงแปลคำภีร์พระธรรมบท อันเป็นหลักสูตรชั้นบาเรียน (เปรียญ) ตรี หรือประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ.3 ปรากฏว่าทรงแปลได้ตลอดไม่มีติด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งประทับเป็นประธานอยู่ในที่ประชุมพระมหาเถระผู้เป็นกรรมการควบคุมการสอบอยู่ด้วย ทรงเห็นว่าพระวชิรญาณมีความเชี่ยวชาญมากถึงเพียงนี้จึงมีพระราชดำรัสว่า ไม่ต้องแปลประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ. 3 อันเป็นหลักสูตรชั้นบาเรียนตรีก็ได้ ให้ข้ามไปแปลคัมภีร์มงคลทีปนี อันเป็นหลักสูตรบาเรียนโททีเดียวเถิด
วันที่ 2 พระวชิรญาณจึงข้ามชั้นจากบาเรียนตรีไปสอบชั้นบาเรียนโทคือแปลคัมภีร์ทีปนีเลยทีเดียว การณ์ก็ปรากฏว่าทรงแปลได้ไม่ติดขัดอีกเช่นเคย
ในวันที่ 3 ทรงเข้าแปลคัมภีร์บาลีมุต อันเป็นหลักสูตรชั้นประโยค 5 ก็ปรากฏว่าทรงแปลได้ฉลุยอีกเช่นเคย
หลังเสร็จสิ้นการแปลในวันที่ 3 นี้มีเรื่องไม่ปกติเกิดขึ้น เมื่อกรมหมื่นรักษ์รณเรศ (หรือหม่อมไกรสร) ซึ่งเป็นผู้กำกับกรมธรรมการในขณะนั้นและเป็นคู่อริทางการเมืองของพระวชิรญาณมาก่อน ได้กราบเรียนถามพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดมาฬีโลกยารามขึ้นในที่ประชุมกรรมการแปลขณะนั้นประมาณว่าให้ได้ยินกันโดยทั่วถึงว่า “นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน”
พระวชิรญาณทรงทราบว่าทรงถูกทักท้วงอย่างแรงเช่นนี้ก็ทรงน้อยพระหฤทัย จึงให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ที่ทรงเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมนั้นก็ด้วยมีความประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชศรัทธาที่ได้ทรงอาราธนาไว้นั้น หาได้มีความปรารถนาในทางยศศักดิ์อัครฐานหรือต้องการลาภสักการะแต่อย่างใดไม่ แลได้แปลถวายให้ทรงฟังมาแล้ว 3 วัน คิดเห็นว่าจะเฉลิมพระราชศรัทธาให้ตามสมควรแล้ว จึงใคร่ขอพระบรมราชานุญาตให้หยุดแต่เพียงนี้เถิดอย่าให้ต้องเข้าแปลอีกต่อไปเลย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความขุ่นข้องหมองพระทัยตามความที่กราบบังคมทูลมานั้น จึงไม่ทรงขัดศรัทธาของพระวชิรญาณ ทั้งยังได้พระราชทานพัดยศเปรียนธรรม 9 ประโยค อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาพระปริยัติชั้นสูงสุดแห่งคณะสงฆ์ไทยให้ทรงถึอเป็นสมณศักดิ์สืบมาอีกด้วย
เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์คราวนี้มีเบื้องหลังอย่างไร สมเด็จพระเจ้ากรมบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยขยายความให้ทราบภูมิหลังของกรมหมื่นรักษ์รณเรศซึ่งเป็นผู้กำกับกรมธรรมการในขณะนั้นว่า
“ด้วยหม่อมไกรสรอยู่ในพวกเจ้าหน้าที่ประสงค์จะได้ราชสมบัติพลัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปได้แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการเป็นไปดังประสงค์แล้ว เจ้านายพระองค์อื่นก็กลับสมัครสมานอย่างเดิม แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ทรงรังเกียจกินแหนงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอุดหนุนเพื่อให้เจริญพระเกียรติยศทางฝ่ายพุทธจักรดังกล่าวมาแล้ว
แต่หม่อมไกรสรทรงมีทิฐิ ถือว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะเป็นศัตรูราชสมบัติ คอยแกล้งเกลียดกันด้วยอุบายต่างๆ เพื่อจะมิให้มีผู้คนนิยมนับถือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงถูกหม่อมไกรสรเป็นตัวมารคอยใส่ร้ายต่างๆ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 จนผลกรรมบรรดาลให้ตัวเองต้องราชภัยเป็นอันตรายไปเอง…”
พระอัจฉริยภาพทางภาษาบาลีในพระวชิรญาณนั้นเอกอุเพียงไร ผู้ที่ศึกษาภาษาบาลีมาก่อนย่อมจะทราบเป็นอย่างดีว่ามีเค้าแห่งความเป็นจริงรองรับอยู่เป็นอันมาก ดังปรากฏหลักฐานเป็นผลงานพระราชนิพนธ์ในพระองค์อยู่หลายสิบเรื่อง ที่เห็นชัดและพระภิกษุสามเณรในประเทศไทยยังใช้สืบมาจนบัดนี้ ก็คือบทสวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น นะโม 8 บท (นมการฎฐกคาถา)
ยิ่งกว่านั้นประจักษ์พยานที่แสดงถึงความเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีในพระวชิรญาณสมกับที่ทรงได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยคอันเป็นเช่นปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา ก็คือเมื่อตอนก่อนจะเสด็จสวรรคตพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเป็นภาษาบาลีอยู่เป็นเวลานาน ทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์คาถา (ฉันท์หรือบทกวีภาษามคธ) ลาพระสงฆ์อีกยืดยาว
เมื่อพระวชิรญาณย้ายจากวัดราชาธิวาสมาจำพรรษายังวัดบวรนิเวศวิหารแล้วนั้น พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการศึกษาภาษาบาลีอย่างขนานใหญ่ จนเล่าลือกันว่าพระในวัดบวรสนทนากันเป็นภาษาบาลีหรือภาษามคธเป็นเรื่องธรรมดา ครั้นถึงเวลาเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมก็สอบผ่านกันมากกว่าพระสงฆ์จากสำนักอื่นๆ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าพระวชิรญาณทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีหรือภาษามคธจนเลื่องชื่อลือชากันมากขึ้นทุกทีเช่นนั้น จึงโปรดให้พระวชิรญาณเข้าร่วมเป็นกรรมการการสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวงด้วยผู้หนึ่ง แต่เพียงสมัยแรกที่ทรงเข้าเป็นกรรมการก็มีวิวาทะครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้น เมื่อพระองค์ไปเกิดมีเรื่องถกเถียงทางวิชาการกันกับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมฬีโลกยาราม ซึ่งเป็นพระมหาเถระผู้มีอาวุโสสูงกอปรกับมีความเชี่ยวชาญทางภาษาบาลี “แข็ง” ปั๋งกว่าใครอยู่ในขณะนั้น
เรื่องที่โต้เถียงกันนั้นมีอยู่ว่า พระมหาผ่องแห่งสำนักวัดประยุรวงศาวาส เข้าแปลพระปริยัติธรรมและแปลความแห่งหนึ่งในข้อสอบผิดหลักไวยากรณ์
เรื่องที่แปลนั้นมีว่า “ตุมเห อันว่าท่านทั้งหลาย นิสีทถ จงนั่ง อาสเน ในอาสนะ”
พระวชิรญาณไม่โปรดที่พระมหาผ่องแปลศัพท์ “อาสเน” ว่า “ในอาสนะ” จึงทักท้วงขึ้น
พระมหาผ่องจึงแปลใหม่ว่า “อาสเน = เหนืออาสนะ”
คราวนี้พระวชิรญาณโปรด แต่พระพุทธโฆษาจารย์เกิด “ไม่โปรด” ขึ้นมาบ้าง จึงเป็นฝ่ายทักท้วงว่าไม่ถูก คนกลางคือพระมหาผ่องเลยชักสีหน้าไม่ถูก ไม่รู้จะฟังใครเพราะต่างฝ่ายต่างก็ “ใหญ่” ด้วยกันทั้งคู่ คนหนึ่งเป็นดังหนึ่งแม่กองบาลีสนามหลวง แต่อีกคนหนึ่งก็ทรงเป็น “เจ้า” ทั้งยังทรงเป็นเจ้าที่ทรงพระปรีชาญาณทางมคธภาษาถึงขั้นเปรียญธรรม 9 ประโยคเสียอีกด้วย
พระวชิรญาณเห็นว่าสถานการณ์ของพระมหาผ่องท่าจะไม่ค่อยดี ขืนปล่อยไปอย่างนี้คงสอบตกเป็นแม่นมั่น จึงทรงแสดงทัศนะทางวิชาการขึ้นในที่ประชุมพระมหาเถระทั้งปวงในขณะนั้นว่า
“นั่งในอาสนะนั้น นั่งอย่างไร จะฉีกอาสนะออกแล้วเข้าไปนั่งที่ฉีกหรือจะเอาอาสนะขึ้นคลุมตัวไว้ในนั้น”
พระพุทธโฆษาจารย์ได้ฟังเช่นนี้ก็ถึงแก่ตบะแตก ลุแก่โทสะบังอาจกล่าวถ้อยคำหยาบช้าต่อพระวชิรญาณชนิดไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม สวนขึ้นมาว่า “ทุกวันนี้คิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าแผ่นดินดอก จึงได้มาไล่หนังสือ ถ้าหาไม่ก็ไม่ปรารถนาเดินมาให้เจ็บหัวแม่ตีน”
การสอบอันนั้นเลยเป็นการเลิกไปโดยปริยาย
เมื่อความทราบไปถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกริ้วเป็นอันมากสั่งถอดพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) จากกรรมการสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวง แล้วทรงมอบการทั้งปวงอันเกี่ยวด้วยการสอบพระปริยัติธรรมนั้นให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระวชิรญาณจนตลอดรัชกาล
ข้อความที่มหาปราชญ์ทั้งสองท่านโต้แย้งกันนั้น หลายท่านที่ไม่เคยเรียนภาษาบาลีมาก็อาจจะสงสัยว่าตกลงแล้วใครถูกกันแน่
ความข้อนี้ผู้เขียนไม่ขอวินิจฉัย แต่ขอคัดคำอธิบายของอาจารย์เริง อรรถวิบูลย์ ผู้เรียบเรียงประวัติของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์มาให้พิจารณาประกอบดังนี้
“…ความจริงทราบว่า อาสเน นี้ บรรดานักปราชญ์ชั้นครูอาจารย์ทุกๆ สำนักเรียนมักจะแปลกันว่า อาสเน ในอาสนะทุกๆ สำนัก โดยท่านอธิบายว่า เป็นศัพท์ที่จะต้องแปลเฉพาะความหมายเช่นเดียวกันกับศัพท์เฉพาะทางความหมายคือ “ในสีมา” และในหัตถบาสถ์ เป็นต้น ผู้เรียบเรียงหนังสือนี้ สมัยเมื่อเรียนบาลีธรรมบทก็เคยได้รับคำอธิบายจากอาจารย์ผู้สอนว่า ศัพท์บาลีบางคำซึ่งแปลความหมายออกมาเป็นภาษาไทยโดยทั่วๆ ไป จะต้องแปลให้ตรงความหมายที่นิยมกัน เช่น อยู่ จะต้องแปลต่อไปว่า ‘ใน’ หน้าคำว่า ให้ จะต้องต่อกับคำว่า ‘แก่’ ดังนี้เป็นต้น”
ต่อมาเมื่อพระวิชรญาณทรงลาผนวชเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ใน พ.ศ. 2394 แล้วนั้น ฝ่ายพระพุทธโฆษาจราย์ (ฉิม) วัดโมลีโลกยาราม ก็รู้ดีว่าลมการเมืองคงจะพัดพาเอาราชภัยมาตกต้องตนเป็นแม่นมั่นในไม่เร็วก็ช้า จึงรีบเก็บข้าวของเตรียมตัวจะกลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิมคือจังหวัดเพชรบุรี
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องจึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้พ้นโทษไม่ทรงถือสาหาความ ทั้งยังมีพระราชกระแสรับสั่งเป็นเชิงยกย่องว่า พระพุทธโฆษาจารย์นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญพระปริยัติธรรมมาก จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” ครองตำแหน่งเจ้าคณะกลาง แล้วอาราธนาให้มาเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุในพระนคร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) ไม่เคยคิดมาก่อนแม้แต่น้อยว่า ฟ้าจะเมตตาดินถึงเพียงนี้ จึงเกิดศรัทธาปสาทะในพระคุณธรรมแห่งความเป็นบัณฑิตที่แท้และสำนึกในมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงกอปรด้วยทศพิธราชธรรมอย่างยากจะหาผู้ใดทัดเทียมได้ เพราะนอกจากจะไม่ทรงเอาความกับตนแล้วยังกลับทรงพระราชทานยศให้ภิญโญมากขึ้น แลซ้ำยังยกย่องให้เป็นที่ปรากฏให้สังฆมณฑลเสียอีกด้วย
อาศัยพระกรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ในครั้งนี้เองเป็นเหตุ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) จึงประพันธ์คาถาถวายพระพรชื่อ “สุขาภิยาจนคาถา” (คาถาถวายพระพรให้ทรงเกษมสำราญ) ซึ่งขึ้นต้นด้วยบาทแรกว่า “ยํ ยํ เทวมนุสสานํ” แล้วทูลเกล้าฯ ถวาย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระคาถานี้แล้ว พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยมาก จึงโปรดฯ ให้พระสงฆ์ทั่วทั้งสังฆมณฑลสวดคาถานี้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาตราบจนถึงบัดนี้
ข้อมูลจาก
พระมหาวุฒิชัย วชิเมธี. “ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ” คาถาบาลีมีขึ้นเพราะเหตุวิวาทะระหว่าง รัชกาลที่ 4 กับพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมฬีโลกยาราม. ใน ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2561