ทำไมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สั่งรื้อ “วังสีทา” วังสำรองโดยพระปิ่นเกล้าฯ

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในชุด ทหารเรือ ทรง สนับสนุน ยกเลิก การอยู่ไฟ ประทับ พระบวรราชวัง
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าฟ้าจุฑามณี)

ชื่อ “วังสีทา” อาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่ในแง่หนึ่งถือเป็นวังที่บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ในราชวงศ์ได้อย่างน่าสนใจ จากที่วังแห่งนี้มีสถานะเป็นพระบวรราชวังสำรองของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่หลังจากเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้รื้อวังแห่งนี้

รัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศจากตะวันตกกำลังเข้ามาติดต่อกับไทย หลายครั้งที่ข้อข่มขู่เรื่องยกเรือรบมาถูกใช้เป็นเหตุผลในเหตุการณ์ต่างที่เกิดขึ้น รัชกาลที่ 4 จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่ออกพระนามกันว่า “วังหน้า” ทรงสำรวจหาที่ตั้งราชธานีสำรอง

Advertisement

สำหรับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเลือกสร้างพระบวรราชวังสำรองของพระองค์ ณ บ้านสีทา ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งตะวันตก แขวงเมืองสระบุรี สร้างเป็นเรื่องเครื่องไม้อย่างลาว คาดว่าสร้างแล้วเสร็จช่วง พ.ศ. 2402 ขณะที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ตั้งเมืองลพบุรี และบูรณะวังให้เป็นราชธานีสำรองแทน

สุที หริมเทพาธิป บรรยายสภาพพื้นที่ในบทความ “วังสีทาของพระปิ่นเกล้าฯ” ว่า วังสีทา มีแนวเขาล้อมคล้ายป้อมปราการธรรมชาติชื่อ “เขาคอก” มีช่องทางเข้าออก 2 แห่ง ช่องทางบกอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทางน้ำห่างจากช่องทางบก 80 เมตร ทรงปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นที่ฝึกกำลังพล เลี้ยงช้า ม้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่เขาคอกล้อมเป็นพื้นที่ราบซึ่งกว้างขวาง และมีทางน้ำ

สำหรับเหตุผลที่เลือกสีทาเป็นพื้นที่สร้างวังสำรองนั้น สุที มองว่า สระบุรีสมัยนั้นเป็นที่อยู่ของชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนหลังจากสงครามและยังมีกลุ่มที่อพยพเข้ามาเองในอีกหลายระยะ และในขณะที่ดำรงพระยศเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มีพวกลาวมาสมัครเป็นข้าราชบริพารจำนวนมาก พระองค์ทรงมีหม่อมห้ามนางในเป็นชาวลาว มีบริวารเป็นชาวลาวจำนวนมาก

สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ยังทรงโปรดแคน ฟ้อน และแอ่ว ในแง่เชิงศิลปะการดนตรี การแสดงของลาวนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 4 กลับไม่ทรงโปรด หลังจากที่พระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีประกาศเรื่องห้ามเล่นแอ่วลาว

ผู้เขียนบทความระบุว่า พระองค์เสด็จมาประทับที่วังแห่งนี้หลายครั้ง แต่ละครั้งก็ประทับอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งปีที่พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จกลับพระนคร จนสวรรคต

หลังจากการเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้รื้อวังสีทาเพื่อไปสร้างพระตำหนักถวายแด่พระโอรส-พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

สุที หริมเทพาธิป แสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุของการรื้อวังแห่งนี้ว่า น่าจะมีเหตุอื่นที่พระองค์ไม่ทรงโปรดพวกลาวแถบสีทา จากที่พระราชหัตถเลขาถึงเจ้านายผู้ใหญ่ มักมีข้อความลักษณะค่อนขอด กระทบกระเทียบพวกลาว และกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

อย่างไรก็ตาม การว่ากล่าวนั้นไม่ได้ทำให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สนพระทัยนัก โดยผู้เขียนมองว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นที่กล่าวขานกันว่าพระองค์มิใคร่ฟังคำนอกเหนือจากพระมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว รัชกาลที่ 4 จึงทรงมิได้กล่าวว่าอะไร ทรงเก็บความไว้ในพระทัยจนถึงช่วงหลัง “วังหน้า” สวรรคตแล้ว

สำหรับพื้นที่พระบวรราชวังสีทาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านสีทาเหนือ ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ต้องให้คนท้องถิ่นที่รู้ทางเป็นผู้นำเข้าไป บริเวณที่ติดแม่น้ำจะมีท่าขึ้นวังทำด้วยหินสีขาวฉาบปูนเป็นบันไดทางขึ้น แต่บันไดหินแทบไม่หลงเหลือแล้ว เนื่องจากพังทลายไปตามกาลเวลา หรือถูกชาวบ้านขนไปบ้าง หลักฐานที่หลงเหลืออยู่มีเพียงซากอาคารไม่ทราบขนาดแน่ชัด เนื่องจากหญ้าปกคลุมเกือบหมด

ส่วนเรื่องการเดินทาง ชาวบ้านเก่าแก่ที่อาศัยใกล้กับ วังสีทา ในวัยเด็กไม่แนะนำให้เดินทางมาในช่วงหน้าฝน เพราะสภาพป่ารกทึบ แต่ช่วงปีใหม่และช่วงสงกรานต์ ชาวบ้านมักจัดพิธีทำบุญถวายอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้เป็นเจ้าของวัง นำรถมาไถป่าหญ้าให้มีทางเข้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุที หริมเทพาธิป. “วังสีทาของพระปิ่นเกล้าฯ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 ฉบับที่ 10 (ฉบับสิงหาคม 2540)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2561