วิธีทำ “พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด” ฉบับแรกใช้เวลาร่วม 50 ปี และฝีมืออาสาสมัครลึกลับ

ภาพประกอบเนื้อหา - ภูมิปัญญาจากที่คุมขัง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2543)

พจนานุกรมในโลกปัจจุบัน (รวมทั้งในอนาคตอีกยาวนาน) คงไม่มีฉบับใดยิ่งใหญ่เท่าพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า Oxford English Dictionary (OED) แต่กว่าจะเป็นพจนานุกรมฉบับแรกก็ใช้เวลาจัดทำรวมแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ และยังมีอาสาสมัครปริศนาส่งข้อมูลมาช่วยมากเป็นพิเศษด้วย

พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกมีชื่อว่า A New English Dictionary on Historical Principles (NED) เริ่มทยอยตีพิมพ์ เล่มแรกตั้งแต่วันที่  29 มกราคม พ.ศ. 2427 จนถึงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2471 เป็นหนังสือรวม 10 เล่ม ต่อมาในปี 2476 ได้จัดเล่มใหม่ รวมภาคผนวกที่จัดทําเพิ่มขึ้น รวมเป็น 12 เล่ม

Advertisement

ในช่วงปี พ.ศ. 2515-2529 มีการตีพิมพ์ภาคผนวกออกมาอีกเป็น 4 เล่ม โดยเริ่มจัดทํามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ทําการรวบรวมคําใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ พิมพ์เล่มแรก ในปี พ.ศ.2532 ได้ตีพิมพ์ใหม่ ถือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (OED2) รวมเป็น 20 เล่ม หนารวม ๒๒,000 หน้า รวบรวมคําทั้งสิ้นกว่า 500,000 คํา พร้อมคําอธิบายและอ้างอิงกว่า 2.4 ล้านประโยค

ที่มาที่ไปของพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด

พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวางโดยผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งในรัฐสภา ในศาล ในโรงเรียน ในห้องบรรยายและที่อื่น ๆ ด้วยการเริ่มต้น ประโยคว่า “พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า….”

นพ. วิชัย โชควิวัฒน ผู้เขียนบทความ “บุรุษลึกลับผู้อยู่ในฉากซ่อนเร้นของการจัดทำพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าว่า บรรณาธิการคนแรกที่สามารถจัดทําพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดเป็นผลสําเร็จเป็นคนที่มีพื้นเพจากครอบครัวที่ยากจนในเมืองเล็ก ๆ ชายแดน ต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้เพียง 14 ปี เพราะยากจนเกินกว่าจะเรียนต่อได้ และมีบุคคลอีกคนหนึ่งที่มีส่วนช่วยเหลือไม่น้อยในการจัดทําพจนานุกรมฉบับนี้ ซึ่งเมื่อเปิดเผยตัวออกมาแล้วยังความตื่นตะลึงให้แก่ผู้คนทั้งหลายเป็นอย่างมาก

หัวใจของพจนานุกรมคือ การบันทึกประวัติของคำแต่ละคำ ทุกๆ คำ ข้อสำคัญคือ ใครจะค้นหาคำต้องมีคำนั้นในพจนานุกรม ถ้าพูดถึงพจนารุกรมอังกฤษ-อังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก่อนมีพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดคือฉบับของ ซามูเอล จอห์นสัน ใช้ทีมงาน 7 คน เลือกคำจากเอกสารจำนวนมากจนเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2293 ใช้เวลาอีก 4 ปี คัด-เรียบเรียงข้อความต่างๆ 118,000 ข้อความ ได้คำทั้งสิ้น 43,500 คำ ตีพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2298 ชื่อ A Dictionary of English Language แต่ก็มีข้อบกพร่องในเนื้อหาหลายประการ

แต่สำหรับผู้ที่มีส่วนจุดประกายทำให้เกิดพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้ จริงๆแล้ว คือ ดร.ริชาร์ด เชเนวิค เทรนช์ เจ้าคณะแห่งมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ที่แสดงปาฐกถาเรื่องความบกพร่องในพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่หอสมุดลอนดอนเมื่อพ.ศ. 2400 จนทำให้สมาคมภาษาและหนังสือ มีมติให้จัดทำพจนานุกรมตามแนวคิดดร.เทรนช์ โดยเสนอให้คัดเลือกทีมงานขนาดใหญ่นับร้อยคนมาเป็นอาสาสมัครช่วยทำงาน เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมจากประชาชน

ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นบรรณาธิการคนแรกคือ เฮอเบิร์ต โคเลอริดจ์ แต่รับงานได้ 2 ปีก็เสียชีวิตลงเมื่ออายุแค่ 31 ปี ทำแค่อักษร A ไม่ถึงครึ่ง ผู้รับช่วงต่อคือ เฟรเดอริค เฟอร์นิวอลล์ เลขาธิการสมาคม แม้เป็นคนมีความรู้ แต่มีปัญหาเรื่องความประพฤติเชิงผู้หญิง ศรัทธาในการทำงานและเสน่ห์ดึงดูดอาสาสมัครมีไม่มากนัก

บก.คนสำคัญที่มาจากครอบครัวยากจน

พ.ศ. 2421 เจมส์ เมอร์เรย์ ได้รับเชิญให้ไปเจรจากับคณะผู้แทนของออกซ์ฟอร์ด สุดท้ายตกลงเซ็นสัญญากันในปี 2422

เจมส์ เมอร์เรย์ เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2380 ที่เมืองฮาวิค ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ใกล้ชายแดนด้านสกอตแลนด์ ครอบครัวมีอาชีพ ขายผ้า และตัดเสื้อผ้าขาย เจมส์เป็นคนรักการศึกษาเล่าเรียนมาก แต่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุเพียง 14 ปีเหมือนเด็กยากจนอื่น ๆ ใน อังกฤษเวลานั้น แต่เจมส์พยายามศึกษาต่อด้วย ตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่ออายุ 15 ปี เขารู้ทั้งภาษาฝรั่งเศส อิตาเลียน เยอรมัน กรีก และลาติน อายุ 20 ปีเป็นครูใหญ่ของสถาบันแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน สามารถแสดงปาฐกถาในที่ประชุมของสถาบัน และส่งงานวิชาการไปยังสมาคมวรรณกรรมและปรัชญา ตอนที่ออกซ์ฟอร์ดทาบทามให้เป็นบก.พจนานุกรม เขาอายุเพียง 40 ปี ถือว่าน้อยมากสำหรับงานเช่นนั้น

เบื้องต้นคาดว่าจะจัดพิมพ์ในรูปแบบเล่มขนาดแปดหน้ายก หนาประมาณ 7,000 หน้า แบ่งเป็น 4 เล่ม คาดว่าใช้เวลาทำประมาณ 10 ปี แต่ที่ทำออกมาจริงหนากว่านั้นมาก ใช้เวลานับจากเจมส์ เมอร์เรย์ รับเป็นบก.รวมถึง 50 ปี รวมเวลาตั้งแต่ต้นกว่า 70 ปี เจมส์ ทำงานนี้นาน 36 ปีจนเสียชีวิตด้วยโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปี 2458 ขณะอายุได้ 78 ปี 5 เดือน

หลังเซ็นสัญญาไม่นาน เขาเริ่มต้นเตรียมงานคือปรับปรุงสำนักงานจัดทำพจนานุกรมที่โรงเรียนมิลล์ฮิลล์ เรียกว่า “หอคัมภีร์” (Scriptorium) และเขียนจดหมาย 4 หน้ากระดาษผ่านสื่อ ส่งไปยังที่ต่างๆ เชิญชวนอาสาสมัครให้ช่วยทำงานนี้ต่อ

ห้าปีเศษหลังจากนั้น พจนานุกรมเล่มแรกตีพิมพ์ออกจำหน่ายได้ราว 6 เดือน เมอร์เรย์ ย้ายสำนักงานหรือหอคัมภีร์เข้าไปในม.ออกซ์ฟอร์ด พร้อมภรรยาและลูกทั้ง 11 คน (ชาย 6 หญิง 5)

งานจัดทำพจนานุกรมจัดทำอย่างเป็นระบบ 7 ขั้นตอน

1. ทีมงานตรวจสอบเอกสารที่ส่งมาจากอาสาสมัครคร่าวๆ ว่าข้อความที่คัดลอกมาสมบูรณ์ ตัวสะกดถูกต้อง

2. แยกเอกสารเป็นกลุ่มตามลำดับอักษร ลูกของเมอร์เรย์เริ่มรู้หนังสือและแยกคำได้ก็ได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 6 เพนนี ทำงานวันละครึ่งชั่วโมง

3. คำที่คัดไว้จะถูกเจ้าหน้าที่แยกไปตามประเภท เช่น คำนาม คำกิริยา

4. ข้อความที่รวบรวมไว้จะถูกนำมาเรียงตามลำดับเวลาในเอกสารต่างๆ

5. ผู้ช่วยบก.จะแยกย่อยความหมายที่แตกต่างของแต่ละคำ ขั้นตอนนี้อาจจัดทำร่างนิยามศัพท์ เป็นงานละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความสามารถพิเศษ

6. บก.ตรวจสอบและอาจจัดหรือแยกย่อยเอกสารใหม่ตามที่เห็นว่าเหมาะสม

7. บก.เขียนนิยามศัพท์แต่ละคำที่กระชับ ถูกต้อง เหมาะแก่การเรียน และส่งเข้าโรงพิมพ์

ภาพประกอบเนื้อหา – ภูมิปัญญาจากที่คุมขัง (ศิลปวัฒนธรรม, 2543)

อาสาสมัครลึกลับ

ในบรรดาอาสาสมัครที่เมอร์เรย์ ได้รับจดหมายมา มีนายแพทย์วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ จดหมายลงที่อยู่ “บรอดมัวร์ โครวธอร์น เบอร์คส” ระยะเวลา 17-18 ปีหลังได้รับจดหมายฉบับแรกจากไมเนอร์ จดหมายที่ส่งมาจากเขามีนับร้อยชิ้นต่อสัปดาห์ วันละประมาณ 20 ชิ้น เอกสารทุกชิ้นเขียนอย่างประณีตและชัดเจน

เซอร์เมอร์เรย์ เผยระหว่างการปราศรัยที่สมาคมภาษาฯ เมื่อ พ.ศ. 2440 ว่า เอกสารที่ได้รับจากอาสาสมัครราว 15,000-16,000 ชิ้น ครึ่งหนึ่งเป็นของไมเนอร์ รายละเอียดที่ส่งมาล้วนแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนมีความรู้ลึกซึ้ง

เมื่อม.ออกซ์ฟอร์ดจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องจากความคืบหน้าของพจนานุกรมเป็นไปด้วยดี แต่กลับพบว่านายแพทย์ไมเนอร์ ไม่ได้มาด้วย หลายคนประหลาดใจมากเพราะโครวธอร์นที่เป็นที่อยู่ของนายแพทย์ไมเนอร์ ห่างจากม.ออกซ์ฟอร์ดไม่ถึง 40 ไมล์เดินทางด้วยรถไฟประมาณ 60 นาทีเท่านั้น ดร.เมอร์เรย์ จึงเดินทางไปหาไมเนอร์ ด้วยตัวเอ

ดร.เมอร์เรย์ พบว่า บรอดมัวร์คือที่พักฟื้นสำหรับผู้วิกลจริตที่ก่ออาชญากรรม นายแพทย์ไมเนอร์คือผู้ต้องขังหมายเลข 742 ซึ่งถูกคุมขังตลอดชีวิต

นายแพทย์ไมเนอร์ เกิดในศรีลังกาเมื่อปี พ.ศ. 2377 เมื่ออายุ 14 ปี พ่อแม่ส่งกลับไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา จบจากม.เยล ด้านการแพทย์ รับราชการในกองทัพบกสหรัฐเป็นผู้ช่วยศัลยแพทย์ ช่วงนั้นเป็นสงครามกลางเมือง เชื่อว่าเหตุการณ์ที่ส่งผลทางจิตใจอย่างมากคือ ตีตราทหารที่หนีทัพจึงทำให้เริ่มป่วยทางจิต จนต่อมาถูกปลดประจำการ

ต้นปี พ.ศ. 2418 นพ.ไมเนอร์ ยิงกรรมกรถึงแก่ความตายเพราะประสาทหลอนว่ามีคนเข้าไปทำร้าย อาการของนพ.ไมเนอร์ มีลักษณะคุ้มดีคุ้มร้าย มักระแวงว่าจะมีคนเข้าไปทำร้ายในยามราตรี หลังจากปรับตัวในห้องขังได้ก็สามารถหาความเพลิดเพลินจากการอ่านหนังสือด้วยพื้นเพที่มีการศึกษาสูง เขาสะสมหนังสือจำนวนมากในห้องขัง หิ้งหนังสือสูงจรดเพดานทีเดียว

เมื่อนพ.ไมเนอร์ ได้รับข่าวเรื่องอาสาสมัครก็เป็นช่วงที่ถูกคุมขังมาแล้ว 8 ปี เวลาว่างสามารถทำประโยชน์แก่ทีมงานจัดทำพจนานุกรมได้มากมายกินระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาหลังที่อยู่ในสถานพักฟื้น อาการของเขาเริ่มกำเริบหนักถึงขั้นตัดอวัยวะเพศตัวเองทิ้ง หลังจากนั้นในช่วงบั้นปลายชีวิตถูกปล่อยตัวจากบรอดมัวร์ เนื่องจากถูกวินิจฉัยว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นแล้ว นพ.ไมเนอร์ กลับไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2463 รวมอายุ 85 ปี 9 เดือน

หนังสือที่นพ.ไมเนอร์ สะสมตกทอดมาถึงภรรยาของดร.เมอร์เรย์ ภายหลังตกเป็นสมบัติของม.ออกซ์ฟอร์ด

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้เขียนบทความเล่าว่า พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดฉบับพิมพ์ครั้งแรกในส่วนระบุขอบคุณอาสาสมัคร มีชื่อที่อยู่ของเขาด้วย ลงข้อความไว้สั้นๆ ว่า ดร.ดับเบิลยู.ซี.ไมเนอร์ แห่งโครวธอร์น”


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อจากส่วนหนึ่งของบทความ “บุรุษลึกลับผู้อยู่ในฉากซ่อนเร้นของการจัดทำพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด” เขียนโดย วิชัย โชควิวัฒน เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 22 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2543) เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561