ชนชั้นสูงสุดปวดใจ พบดิกชันเนรีแปล Siamese ว่า “คนจำพวกหนึ่งมีสีเนื้อดำคล้ำ-ขี้เกียจ”

Siamese คนสยาม สมัยรัชกาลที่ 5
ภาพ “คนสยาม” สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

Siamese แปลว่า “คนจำพวกหนึ่งมีสีเนื้อดำคล้ำ-ขี้เกียจ” ?

การดูนิสัยแม้เพียงบุคคลเดียวก็จะต้องเสียเวลาดูให้เที่ยงธรรมอยู่นาน ฉะนั้นยิ่งเราดูนิสัยของคนชาติหนึ่งหรือหมู่หนึ่งแล้ว เราก็จะต้องดูให้ทั่วถึงจากคนทุกพวกทุกชั้น ก่อนที่จะตัดสินชี้ขาดว่าคนชาตินั้น ๆ เป็นคนชนิดไร เพราะถ้าเราจะตัดสินด้วยใจเราชอบเราเกลียดเพียงจำนวน 2-3 คนที่เราได้พบเห็นนั้น ไม่ยุติธรรมเลย

Advertisement

อีกประการหนึ่ง เราจะต้องเข้าใจว่าความคุ้นเคยเกี่ยวข้องจนชินไปขณะหนึ่งก็ดี การฟุ้งไปตามสมัยนิยมชั่วครูชั่วยามก็ดี ไม่ควรเรียกว่านิสัยของชาติ เพราะเป็นไปตามเหตุการณ์ หาใช่เกิดขึ้นในเลือดเนื้อเองไม่

ในดิกชันเนรีเล่มหนึ่งแปลคำ Siamese ไว้ว่า “คนจำพวกหนึ่งที่มีสีเนื้อดำคล้ำและขี้เกียจ” 

ในเรื่องสีสันวรรณะนั้นย่อมเป็นไปตามดินฟ้าอากาศ สีที่จริงของไทยคือ สีนวล เพราะบ้านเดิมอยู่ทางเหนือ พวกเชียงใหม่เขาล้อพวกใต้เสมอว่าสีของเขาไทยแท้ พวกชาวใต้เช่น กรุงเทพฯ ปะปนกับแขกและมอญจนคล้ำไปเสียแล้ว

ส่วนคำว่าขี้เกียจนั้นน่าเจ็บใจว่าเป็นความจริงดังนั้น เพราะแม้จะมีคนขยันอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนมากก็ขี้เกียจ ทั้งนี้เป็นเพราะเรามีคนน้อยกว่าพื้นที่ดินอันอุดม

ราชทูตคนหนึ่งที่เข้ามาอยู่เมืองไทยได้ใหม่ ๆ และวันหนึ่งขึ้นไปเที่ยว picnic ที่อยุธยา เมื่อดูพระนครเก่าทั่วแล้วก็ล่องเรือไฟกลับมาพระนครกรุงเทพฯ ทางลำแม่น้ำ รุ่งขึ้นก็มาแสดงความขอบใจในการรับรองที่กระทรวงมหาดไทย เสด็จพ่อจึงตรัสปฏิสันถารด้วยว่า “ท่านเห็นเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง?” ราชทูตผู้นั้นตอบว่า “ข้าพเจ้าเสียใจมากที่จะต้องทูลตอบว่า เมืองไทยจะเจริญได้อีกไม่นาน”

เสด็จพ่อตกพระทัยตรัสถามว่า “ทำไมเล่าท่าน?” ราชทูตนั้นตอบว่า “เมื่อข้าพเจ้าล่องเรือผ่านมาตามลำน้ำ ได้เห็นคนนุ่งผ้าข้าวม้าผืนเล็กนิดเดียว นอนหลับสบายท่าทางเป็นสุขอยู่บนท่าน้ำของวัด บางคนก็กำลังจับปลาแล้วอาบน้ำเป็นสุข มองไปดูทางไร่นาก็เขียวชอุ่มด้วยดินอุดม ใครเล่าท่านจะยินดีทำงานเมื่อเขาสบายพอแล้ว” เสด็จพ่อตรัสว่า ทำเอาเราไม่มีคำจะตอบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“นิสัยของคนไทย”. จากหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น”. โดย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล. สำนักพิมพ์มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กันยายน 2561