มรดกความเศร้าในพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสงครามกลางเมือง “โมสตาร์” แห่งบอสเนีย

สะพานสตารี โมสต์ (Stari Most Bridge) เมืองโมสตาร์ (Mostar) ประเทศบอสเนีย – เฮอร์เซโกวินา

หลาย ๆ คนคงรู้จักสงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวียในต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งสาเหตุของสงครามเกิดจากการที่ชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในดินแดนยูโกสลาเวีย อย่างโครแอต สโลเวเนียน และบอสเนียน ต้องการแยกตัวเองออกจากการปกครองของชาวเซิร์บซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

แต่ทว่าการแยกตัวของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยสันติ เนื่องจากรัฐบาลของสโลโบดัน มิโลเซวิช (Slobodan milošević) ซึ่งปกครองยูโกสลาเวียในเวลานั้นไม่ต้องการให้ชนชาติต่าง ๆ แยกตัวออกเป็นเอกราช ด้วยเหตุนี้สงครามระหว่างชาติพันธุ์จึงได้เกิดขึ้น พร้อม ๆ กับจุดเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหม่

Advertisement

หนึ่งในดินแดนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสงครามในคราวนี้คือเมืองโมสตาร์ (Mostar) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศบอสเนีย – เฮอร์เซโกวินา โมสตาร์เป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามในบอสเนีย มีมัสยิดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยอาณาจักรออตโตมัน แต่น่าเสียดายที่มัสยิดที่เราเห็นทุกวันนี้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด หลังจากถูกทำลายในระหว่างสงครามกลางเมือง

เมืองโมสตาร์มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนเชียงใหม่และเกียวโตที่มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน มีจุดเด่นของเมืองคือสะพานที่ชื่อว่า สตารี โมสต์ (Stari Most) เป็นสะพานที่สร้างขึ้นเหนือแม่น้ำเนเรตวา (Neretva) ในปี 1557

สะพานสตารี โมสต์ คือสิ่งเชื่อมโยงระหว่างคนโครแอตซึ่งนับถือศาสนาคริสต์โรมันคาธอลิกกับคนบอสเนียนที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งต่างอาศัยอยู่กันคนละฝากฝั่งของแม่น้ำเนเรตวา แน่นอนสะพานแห่งนี้คือตัวแทนของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนความแตกต่างของคนสองชาติพันธุ์ สะพานสตารี โมสต์ยืนหยัดผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 จวบจนกระทั่งในปี 1993 สงครามระหว่างคนในชาตินี้เองที่ได้ทำลายสะพานที่เชื่อมคนสองชาตินี้ลง

บอสเนียเป็นประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมืองที่เรียกว่ารุนแรงที่สุดหลังสงครามเวียดนาม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุของสงคราม คือ หลังจาก นายพลโจเซฟ บรอซ ติโต (Josip Broz Tito) ประธานาธิบดีของยูโกสลาเวีย เสียชีวิตลง ประเทศยูโกสลาเวียที่ ที่ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ เซิร์บ (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่) โครแอต บอสเนียน สโลเวเนียน และมาซิโดเนียน พยายามที่จะประคับประคองดินแดนเหล่านี้ให้เป็นปึกแผ่นต่อไป ด้วยการเวียนให้คนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ดำรงตำแหน่งประธานของคณะบริหารพรรคคอมมิวนิสต์

ทว่าความพยายามประนีประนอมนี้ยุติลงเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ของยูโกสลาเวียล่มสลาย พร้อม ๆ กับการแยกตัวเองออกจากยูโกสลาเวีย ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ แต่ในขณะที่คนเซิร์บซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และปกครองศูนย์กลางของยูโกสลาเวียกลับไม่ต้องการให้ชาติพันธุ์อื่น ๆ แยกตัวไปจากตน ด้วยเหตุนี้สงครามกลางเมืองจึงปะทุขึ้นในปี 1991

นอกจากสงครามที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ และดูเหมือนดินแดนเล็ก ๆ อย่างบอสเนียจะเผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้าย เมื่อทั้งโครแอต และเซิร์บต่างรุมถล่ม เนื่องจาก บอสเนียนอกจากจะมีชาติพันธุ์ต่างจากชาวบ้านแล้ว ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังเป็นมุสลิม ขณะที่ดินแดนอื่น ๆ เป็น คริสต์โรมันคาธอลิก และคริสต์ออธอด็อกซ์ เคสที่ใหญ่ที่สุดและโด่งดังสุดคือการ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เซเบร์นิก้า (Srebrenica)

กลับมาที่เมืองโมสตาร์ ประเทศบอสเนียมีความวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากคือ ถ้ามีคนในครอบครัวเสียชีวิต ญาติจะต้องเอาใบประกาศที่มีรูปแบบชัดเจนมาติดประกาศเพื่อแจ้งให้คนในชุมชนได้ทราบ โดยจะระบุว่าคนที่เสียชีวิตคือใคร วันเกิดวันตาย สาเหตุที่เสียชีวิต

ใบประกาศแจ้งการเสียชีวิตของบุคคล พร้อมระบุข้อมูลวันเกิด วันเสียชีวิต และสาเหตุที่เสียชีวิต

นอกจากการแปะป้ายประกาศเรื่องคนตาย เมืองโมสตาร์ยังสร้างบรรยากาศชวนขนลุกให้เราอินกับพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากยิ่งขึ้น ด้วยการที่ตึกจำนวนมากยังหลงเหลือร่องรอยสงคราม รูกระสุนปืน รอยระเบิด ซากตึกที่ถูกทำลายจากสงครามยังคงกระจัดกระจายให้เราได้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นอกจากเศษซากตึกที่บิ้วอารมณ์ให้อินแล้ว Mostar ทำได้มากกว่าที่คุณคิด

การไปประเทศยุโรปแล้วจะเจอสุสานอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่เราพบเจอได้ทั่วไป แต่ที่โมสตาร์ คุณจะเดินผ่านสุสานของอิสลาม หรือกูโบว์ ไม่ต่ำกว่าสี่ห้าที่ตั้งอยู่ติด ๆ กัน สิ่งที่ทำให้บรรยากาศวังเวงไปกว่าเดิมคือ คนที่ตายเกือบทั้งหมดคือประชาชนและทหารที่เสียชีวิตระหว่างสงคราม ตั้งแต่เด็กอายุไม่กี่ขวบจนถึงคนแก่ ซึ่งปีที่คนตายเยอะสุดคือปี 1993 หรือปีที่กองทัพโครแอตเข้าล้อมเมือง

ไฮไลท์สำคัญของเมืองโมสตาร์ นอกจากสะพานสตารี โมสต์ ก็คือ พิพิภัณฑ์สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Museum of War and Genocide Victims) ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองตรงข้ามกับมัสยิดคาราดอซ (Karađoz Bey)

พิพิภัณฑ์สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Museum of War and Genocide Victims)

การที่พิพิธภัณฑ์เริ่มต้นด้วยข้อความหน้าพิพิธภัณฑ์ว่า “Keeping the memory alive is an importance factor in avoiding genocides and massacres in the future especially in times where separation and racism are slowly making their way back to the world …” ทำให้รู้สึกได้เลยว่าพิพิธภัณฑ์ นี้ต้องมีเนื้อหาที่ต้องชวนหดหู่อย่างที่สุด

โดยรวมของพิพิธภัณฑ์ใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านสิ่งของ เสื้อผ้า สมุดบันทึก ของเหยื่อในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสงคราม รวมทั้งเครื่องมือของทหารโครแอตและเซิร์บที่ใช้ทรมานชาวบอสเนีย โดยใช้วัตถุนั้น ๆ เป็นภาพตัวแทนของความเจ็บปวด สูญเสีย แน่นอนพิพิธภัณฑ์ชี้ว่ากองทัพโครแอต และเซิร์บคือผู้ร้ายของสงครามในครั้งนี้ (จริง ๆ แล้วการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นและทำโดยทุกชาติ ซึ่งมีผู้นำของบอสเนียถูกนำตัวขึ้นศาลโลกเช่นกัน แต่พิพิธภัณฑ์นี้เลือกที่จะไม่กล่าวถึงในส่วนของจำเลยชาวบอสเนีย)

สิ่งของเครื่องใช้ของเหยื่อสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Museum of War and Genocide Victims)

พิพิธภัณฑ์ได้เล่าถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ใช่แค่การฆ่าคนเท่านั้น แต่ยังทำลายการมีอยู่ของศิลปวัฒนธรรม รากเหง้า สิ่งที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของชาวบอสเนีย ทั้งการทำลายมัสยิด ศิลปวัฒนธรรม อย่างสะพาน สตารีโมสต์ เรียกว่าต่อให้มีคนรอด ก็ไม่เหลืออารยธรรม ความเจริญงอกงามเพื่อบ่งบอกเอกลักษณ์ของตนอีกเลย

นอกจากนี้ยังได้จัดสรรพื้นที่ให้หนึ่งห้องรวมทั้งทางเดินลงชั้นล่าง ให้กับบรรดาอาชญากรสงครามทั้งหมด โดยห้อยภาพ คดีที่ทำผิด และโทษที่ได้รับตามทางเดินจากส่วนที่หนึ่งลงไปยังชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นส่วนที่จำลองหลุมศพที่ถูกขุดขึ้นมา และการจัดการทางนิติวิทยาศาสตร์ แล้วก็มีห้องที่น่ากลัวที่สุดคือ มีห้องที่จำลองคุกมืดที่เอาหุ่นคนที่ใส่เสื้อผ้า แล้วเอาสีแดงป้ายเป็นเลือด ไปตั้งไว้มืด ๆ นี้

ภาพของเหล่าอาชญากรสงคราม และข้อความบอกคดีที่ทำผิด และโทษที่ได้รับ
ห้องจำลองคุกมืด ภายในมีหุ่นใส่เสื้อผ้าที่ถูกป้ายด้วยสีแดง

ทั้งหมดทั้งมวลสรุปคือเมืองโมสตาร์ เป็นเมืองที่สวยงาม ค่าครองชีพถูก เห็นความมีน้ำใจของผู้คน แต่ในอีกด้านนึงประวัติศาสตร์ โมสตาร์ก็ทำให้เห็นร่องรอยในความโหดร้ายของมนุษย์ที่ทำกับมนุษย์ด้วยกัน และทำให้เราตระหนักว่ามนุษย์ไม่เคยเรียนรู้และจดจำ

 “Without this learning we are prone to allow it to happen again and again” 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ปรับปรุงแก้ไขในระบบออนไลน์เมื่อ 17 กันยายน 2561