“เทคนิคไล่ผี” ยุคกลาง จากคติเทววิทยา คนที่ถูก “ผีเข้าสิง” ได้ยินแล้วอาจเข่าทรุด

ไล่ผี ผีเข้าสิง ยุคกลาง เทคนิคไล่ผี
พิธีขับไล่ผีออกจากร่างกายของผู้ป่วยภายในวัด

เทคนิคไล่ผียุคกลาง จากคติเทววิทยา คนที่ถูกผีเข้าสิง ได้ยินแล้วอาจเข่าทรุด

ในห้วงสมัยกลาง (ค.ศ. 500-1500) การบำบัดเยียวยาคนบ้าหรือผู้ป่วยโรคจิต อยู่ในความดูแลของนักบวชหรือพระเป็นหลัก วัดจึงถูกใช้เป็นเรือนบำบัดและคุมขังไปในตัว

ในสมัยกลางยุคต้นๆ ผู้ป่วยโรคจิตจะได้รับการดูแลดีมีเมตตา มีผู้สวดมนต์ให้ มีน้ำมนต์ประพรม หรือมีน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ดื่ม มีแท่นบูชา และมีการพาผู้ป่วยทัวร์สถานที่อันควรเคารพต่างๆ และที่สำคัญก็คือ มีพิธีขับไล่ผีออกจากร่างกายผู้ป่วย คือเชื่อว่าผีมาเข้าสิงทำให้ผู้ป่วยเป็นบ้า

Advertisement

บางวัดและบางสำนักศาสนามีศาลบูชาเทพเจ้าและจัดพิธี “ไล่ผี” ที่แปลกประหลาดออกไป เช่น ใช้วิธีบำบัดรักษาแบบของกาเลน (Galen) ผู้เป็นแพทย์ชาวกรีกที่มีชื่อเสียงมากในช่วง ค.ศ. 130-200 เขาอพยพมาจากกรีก-เอเธนส์ เข้าอาศัยอยู่ในกรุงโรม วิธีรักษาของกาเลนก็คือ สำหรับผู้ป่วยชายที่เชื่อว่า ผีเข้าสิง ให้ใช้สมุนไพรประเภทลูปิน (lupin) กระเทียม และสมุนไพรอีกสองสามชนิด บดรวมกันผสมด้วยเบียร์และน้ำมนต์ แล้วเป่าพ่นใส่หน้าผู้ป่วยแรงๆ เชื่อว่าวิธีเช่นนี้ปีศาจจะเผ่นหนีไปเอง และผู้ป่วยจะคืนกลับเป็นปกติ

หมอกาเลน
หมอกาเลน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เทคนิคไล่ผีออกจากร่างผู้ป่วยรุนแรงมากเมื่อเน้นไปที่ตัวซาตาน ซ่ึ่งเชื่อว่าเป็นต้นตอของการเจ็บป่วย ด้วยเหตุดังนั้นหัวใจของการบำบัดรักษาผู้ป่วย จึงมุ่งทำลายตัวซาตานเป็นสำคัญ พร้อมกับร่ายเวทมนตร์ขับไล่ เทคนิคการบำบัดรักษาเช่นนี้เชื่อว่ามีประสิทธิภาพมาก เช่น เชื่อว่าสามารถไล่ผีปีศาจออกได้ถึง 5 ตัว จากร่างผู้ป่วยคนหนึ่ง คือ ทั้งปีศาจใหญ่และปีศาจเล็กๆ ถูกขับกระจัดกระจายออกไปหมด

อย่างไรก็ตามการขับไล่ผีแบบรุนแรงยังคงมีอยู่ เช่น ใช้การเฆี่ยนตีให้ตกเลือด เชื่อว่าขับไล่ผีได้ดีกว่า นอกจากนั้นยังมีการขับไล่ผีที่โหดร้ายต่างๆ เช่น ให้อดอาหาร ล่ามโซ่ จับจุ่มน้ำร้อน และการกักขังทุบตีทรมานต่างๆ อันถือว่าเหมาะสมกับความเป็นบ้า นอกจากนั้นยังเชื่อกันอีกว่า ถ้าให้ผู้ป่วยถูกจองจำจมอยู่ในปลักตมของความสกปรกมากเท่าใด ปีศาจที่สิงอยู่ในตัวผู้ป่วยก็จะหนีออกไปเพราะไม่อาจทนอยู่กับความสกปรกเหล่านั้นได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าสุขภาพของผู้ป่วยย่อมทรุดโทรมอย่างที่สุด จึงยิ่งมีความสิ้นหวังเป็นทวีคูณกับการบำบัดรักษาที่โหดร้ายเช่นนั้น

ในห้วง ค.ศ. 1500 การบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตหรือโรคบ้า ได้เปลี่ยนไปเน้นแนวเทววิทยา คือเชื่อว่าปีศาจที่เข้าสิงจนเจ็บป่วยหรือเป็นบ้านั้นมี 2 พวกด้วยกัน

พวกแรก เข้าสิงโดยเหยื่อหรือผู้ป่วยไม่ยินยอม การเข้าสิงจึงคล้ายๆ กับการถูกลงโทษจากพระเจ้า เพราะบาปกรรมที่เคยกระทำมาแต่ปางก่อน

ส่วนพวกหลัง ปีศาจเข้าสิงโดยเหยื่อมีความยินดีที่ได้มีปีศาจซ่อนอยู่ในร่างของตน และบุคคลนั้นได้กลายเป็นพันธมิตรของซาตาน ผู้เป็นเจ้าของเหล่าปีศาจทั้งหลายที่เชื่อว่ามีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติหลายอย่าง กล่าวคือสามารถบันดาลให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง พายุ น้ำท่วม และให้เกิดอาการตายด้านทางเพศ สร้างอันตรายให้ศัตรูทำให้พืชไร่เสียหาย ทำให้นมบูด และสามารถแปลงเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ ก็คนเช่นนี้แหละที่รู้จักกันว่าเป็น แม่มด

ผู้ป่วยที่ถูกประเมินว่าพระเจ้าลงโทษ ก็จะได้รับการบำบัดเยียวยาโดยวิธีขับไล่ผีออกตามที่นิยมกันในสมัยนั้นที่หนักไปทางกักขัง ทุกข์ทรมาน

ในเวลาต่อมา ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ผู้ที่ถูกผีเข้านั้น มีแนวโน้มจะถูกลงความเห็นว่าถูกพระเจ้าลงโทษ เป็นคนนอกศาสนาและเป็นแม่มด นัยหนึ่งก็คือคนบ้า และเพื่อให้หายบ้าก็ต้องไล่แม่มดที่เข้าสิงนั้นออกไป โดยวิธีอันรุนแรงชวนสยอง 3 อย่าง อย่างแรก คือตัดศีรษะหรือรัดคอจนตาย

วิธีไล่ผีอีกแบบหนึ่ง กับการเผาทั้งเป็น

อย่างที่ 2 เผาทั้งเป็น และอย่างสุดท้าย ทำให้เป็นง่อยเปลี้ยทุพพลภาพแล้วเผาทิ้งไป โดยก่อนเผาทั้งเป็นจะต้องทรมานให้สารภาพว่าตนเป็นแม่มด เป็นคนบาปหรือเป็นคนชั่วร้ายต่าง ๆ ในห้วงเวลานี้มีผู้คนถูกฆ่าตายด้วยวิธีทุกข์ทรมานมาก ไม่ว่าในฝรั่งเศส อังกฤษ หรือเยอรมนี

ความเชื่อเรื่องเผาทั้งเป็นเพื่อไล่ผี หรือแม่มดนี้ ได้แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “มนต์ไล่ผีกับแม่มดมนต์ดำ” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 ตุลาคม 2561