ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สำหรับผู้นำ, นักการเมือง, นักธุรกิจ, นายทหาร ฯลฯ และถ้าว่าตามจริงแล้ว สำหรับบุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน ที่ “อาหาร” แต่ละมื้อที่กิน หรือที่ออกเงินเลี้ยงบุคคลอื่นๆ บางครั้งมีความหมายมากกว่าแค่เรื่องของข้าวปลาอาหาร แต่มีเรื่องของงาน, ผลประโยชน์, การปรับทุกข์ผูกมิตร ฯลฯ หนึ่งในตัวอย่างการ “กิน” ที่เกิดประโยชน์ คือการ “เลี้ยงโต๊ะ” สมัยรัชกาลที่ 5
นนทพร อยู่มั่งมี เป็นผู้เขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “เลี้ยงโต๊ะ: การเมืองบนโต๊ะอาหารและความ ‘ไม่กลืนกลาย’ ทางวัฒนธรรมของชนชั้นำสมัยรัชกาลที่ 5” (ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2553) ซึ่งสรุปย่อมาดังนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเกี่ยวกับสถานการณ์เมื่อแรกที่พระองค์ทรงครองราชย์ว่า “ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกองค์…”
เพื่อให้อำนาจการเมืองที่สั่นคลอนกลับมามั่นคงจึงจำเป็นต้องแสวงหากลุ่มทางการเมืองเพื่อสนับสนุนและจะมีกลุ่มไหนดีไปกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ โดยดำเนินการผ่านการสมาคมของราชสำนักด้วยการ “เลี้ยงโต๊ะ”
การเลี้ยงโต๊ะที่ดูเสมือนงานเลี้ยงรื่นเริงกลับเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์กับรรดาพระราชวงศ์ในระดับต่างๆ หลังการเสด็จประพาสสิงคโปร์เมื่อปี 2413 เป็นต้นมา เจ้านายที่รัชกาลที่ 5 ทรงเลี้ยงโต๊ะนั้น มีพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงพระเยาว์ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่า
“ถึงเวลาค่ำเมื่อเสวย ถ้าวันไหนคนนั่งโต๊ะขาดจำนวนก็โปรดฯ ให้เรียกเจ้านายเด็กๆ ไปนั่งเก้าอี้ว่างได้ ‘กินโต๊ะ’ และได้กินไอสกรีมก็ชอบ”
กิจกรรมเลี้ยงโต๊ะได้เป็นสื่อเชื่อมสัมพันธ์ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ที่นิยมกันจนเป็นธรรมเนียมราชสำนัก ซึ่งปีหนึ่งมีการจัดเลี้ยงโต๊ะในพระบรมมหาราชวังเป็นประจำ 4 ครั้ง คือ เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ (วันที่ 1 เมษายน), เลี้ยงโต๊ะเฉลิมพระชนมพรรษา, เลี้ยงโต๊ะเทศกาลตรุษจีน และเลี้ยงโต๊ะข้าวแช่สงกรานต์
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้วาระสำคัญ เช่น ฉลองวันประสูติ, ฉลองการเลื่อนพระยศ, พิธีโสกันต์ (โกนจุก) “เลี้ยงโต๊ะ” ตามวังของเจ้านายพระองค์นั้นๆ โดยพระองค์เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน และทรงมีพระราชดำรัสที่แสดงพระราชประสงค์ที่จะเชื่อมสายสัมพันธ์ในหมู่พระญาติวงศ์ลำดับชั้นต่างๆ เช่น
งานโสกันต์พระองค์เจ้าชายจิตรเจริญ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) พ.ศ. 2418 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “…จิตรเจริญเปนลูกน้าของฉัน ควรนับเปนน้องอันสนิทขึ้นอิกชั้น 1 ตัวฉันเองเล่าซึ่งได้มียศเป็นเจ้าฟ้าใหญ่ยิ่งเหมือนเจ้าฟ้าซึ่งมีมารดาเปนเจ้าฟ้า ฤาพระมารดาเปนพระองค์เจ้าเต็มที่…เมื่อเทียบตัวฉันกับจิตรเจริญโดยชาติตระกูลก็เสมอกันไม่สูงไม่ต่ำ เปนอย่างกันทีเดียว”
งานเลี้ยงฉลองเลื่อนพระยศกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล พระโอรสในรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2419 ทรงแสดงถึงสายสัมพันธ์กับเจ้านายพระองค์นี้ความว่า “บัดนี้ฉันจะได้กล่าวถึงพวกเจ้านายพระราชวงศานุวงศ์เหล่านี้ ได้เปนที่นับถือของตัวฉันมา เพราะฉันได้เกิดจากมารดาซึ่งเปนเชื้อสายในพระราชวงศ์ คือพ่อฉันเปนพี่ของเจ้านายราชวงศ์เหล่านี้ แต่ตัวฉันเองก็ดีกับท่านเล็กท่านกลาง แลฟ้าน้องหญิงซึ่งได้เกิดขึ้นภายหลัง จึงไม่ได้เห็นตาของตัวแท้ๆ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังได้เห็นพระราชวงศ์ทั้งฝ่ายในฝ่ายหน้า ซึ่งนับเนื่องในชั้นเดียวกับตาฉันยังเหลืออยู่มกา ได้หมายใจว่าท่านเหล่านี้เหมือนหนึ่งเปนตาตัวของฉันซึ่งไม่ได้แลเห็น ถึงท่านพวกราชวงศ์เหล่านี้เล่า เมื่อเวลาแต่เดิมมาครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านก็ได้มีความกรุณาในตัวฉันมากกว่าเจ้านายทั้งปวง”
งานเลี้ยงวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ พ.ศ. 2419 เจ้านายที่ปฏิบัติราชการกรมมหาดไทยเป็นอย่างภักดีมาเป็นเวลานาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชื่นชม ว่า “พระองค์ท่านแห็นแก่แผ่นดิน แลมีความรักข้าพเจ้าโดยสุจริต…ควรนับได้ว่าเปนที่หนึ่งในราชการและสติปัญญาแลความรู้ของท่านยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้วงปวงในเวลานี้”
ความไม่มั่นคงการทางการเมืองในช่วงต้นรัชกาลเปลี่ยนไป
การเลี้ยงโต๊ะทำให้เจ้านายหลากหลายระดับมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ตลอดจนสร้างความกลมเกลียวระหว่างกันอันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากการตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) และสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ (Privy Council) ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2416
เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะ “เปนโอกาสที่เราจะได้แซกมือลงไปได้บ่อยๆ เราจึงได้ถือเอาอำนาจเอกเสกคิวติฟได้ทีละน้อยจนภายหลังตามลำดับมาจนกระทั่งถึงบัดนี้เรากลายเปนตัวเคอเวอนเมนต์” บทบาทของสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินสามารถถช่วยเสริมสร้างพระราชอำนาจในเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การปลดพระยาอาหารบริรักษ์ หลานของสมเด็จเจ้าพระยาผู้สำเร็จราชการออกจากเสนาบดีกรมนาเมื่อพ.ศ. 2417 ด้วยข้อหาทุจริตเงินอาการค่านา
ไม่เพียงเท่านั้น รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างกลุ่มการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2416 ประกอบด้วยพระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางหนุ่มที่ได้รับการศึกษาอย่างดีตามแบบตะวันตก รู้จักกันในนามของ “กลุ่มสยามหนุ่ม” มีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ทรงเป็นอุปนายก และการออกหนังสือ “ดรุโณวาท” เมื่อ พ.ศ. 2417 เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของกลุ่มอำนาจเดิม โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ทรงเป็นบรรณาธิการ
นี่คือพระอัจฉริยภาพและกุศโลบายอันประเสริฐยิ่งของพระพุทธเจ้าหลวง
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อ “เลี้ยงโต๊ะปีใหม่” แบบตะวันตกเป็นสิ่งใหม่ เจ้านายใช้คบหาสมาคม-ปรับตัวตามยุคสมัย
- “เลี้ยงโต๊ะจีน” กับการควบคุมชาวจีนในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5
- “กิน” ต่างระดับ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ.2565