ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2536 |
---|---|
ผู้เขียน | พระไพศาล วิสาโล |
เผยแพร่ |
จากบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนี้มักกล่าวกันว่า คนไทยแต่เดิมไม่ดื่ม “สุรา” เท่าใดนัก ดังในบันทึกของลาลูแบร์ แชรแวส และสังฆราชแห่งเบริธ กล่าวกันว่า น้ำบริสุทธิ์เป็นเครื่องดื่มทั่วไปของชาวสยาม ที่นิยมรองลงมาคือ น้ำชา ส่วนสุรานั้นมีน้อยมากและเฉพาะคนชั่วร้ายเท่านั้น
ซึ่งมีอิทธิพลทางพุทธศาสนาที่ให้งดเว้นจากสุราและสิ่งมึนเมา ศีลข้อสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งมีปรากฏในพระไตรปิฎก คัมภีร์ต่าง ๆ ของพุทธศาสนาก็เช่นกัน ส่วนที่มีอิทธิพลต่อคนไทยมากที่สุดคือ ไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้คำสอนในวรรณกรรมท้องถิ่นมากมาย ทั้งในอิสานและภาคใต้ ได้ส่งผลต่อค่านิยมเกี่ยวกับความดี เช่นผู้ชายที่ดีควรเลือกเป็นคู่ครองคือคนที่ถือศีล 5 ดังปรากฏในขุนช้างขุนแผน ก็กล่าวถึง หรือใน สุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ ก็สะท้อนทัศนคติเดียวกัน
ทั้งนี้ การบริโภค “สุรา” มีเงื่อนไขจำกัด ซึ่งขึ้นอยู่กับ
กรณี หญิงมีครรภ์ แม้ว่าแพ้ท้อง แต่อยากกินสุรา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ดังในขุนช้างขุนแผน ตอนที่นางเทพทองตั้งครรภ์ อยากกินสุรา
โอกาส เทศกาลและงานเลี้ยง กินสุราได้ เช่น งานสงกรานต์ บุญบั้งไฟ ฉลองแต่งงาน โกนจุก ปลูกเรือนขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่วันเทศกาล เช่น วันตรุษ วันสารท ถือว่าเปิดโอกาสให้ได้ “เล่นสนุก” ผ่อนคลายและมีอิสระกฎหมาย สามารถประพฤติบางอย่างได้โดยไม่ถือว่ามีความผิด หรือเอาโทษกัน เช่นในอีสาน ประเพณีบุญบั้งไฟ อนุญาตให้ผู้หญิงและเด็กวัยรุ่นเมาได้ ผลิตสุราเถื่อน ตำรวจหรือสรรพสามิตก็ไม่จับ
สถานะ ราษฎรสามัญบริโภคสุราได้บ้าง แต่ห้ามเด็ดขาดสำหรับเจ้านายและขุนนางในสมัยอยุธยา แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถควบคุมการบริโภคสุราในหมู่เจ้านายและขุนนางได้ กษัตริย์บางองค์ถึงกับมีชื่อว่าเมาเป็นอาจิณ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จึงทรงตราพระราชกำหนดใหม่ว่า ผู้ใดยังเสพสุราจะต้องโทษให้เป็นไพร่ และสักหน้าผาก ทรงกำหนดให้มีการสมาทานถือศีล 8 เป็นพิเศษในวันพระที่ไม่ทรงสั่งห้ามราษฎรมิให้เสพสุราด้วยอาจเป็นเพราะว่า ราษฎรยังบริโภคกันไม่มากนัก หรือเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะห้าม หรืออาจเป็นแหล่งรายได้ที่มาของแผ่นดินก็ได้
ที่มาของสุรา สุรามีที่มา 2 ทาง คือ ทำเองและซื้อ ที่ชาวบ้านทำได้แก่ สุราแช่เป็นหลัก แต่อาจทำเป็นบางฤดูกาล เช่นที่ภาคอีสาน ทำในช่วงฤดูว่างงาน คือหน้าแล้ง และข้าวในสมัยก่อนยังมีไม่มาก ชาวบ้านปลูกข้าวพอกิน อีกชนิดหนึ่งคือสุรากลั่น เดิมมิใช่ของพื้นบ้าน (ชื่อ “เหล้าโรง” ก็บ่งบอกแล้ว) เป็นสุรามาจากโรงงาน เชื่อว่าจีนเป็นชาติแรกที่ทำสุรากลั่นมายังเมืองไทย ในสมัยกรุงศรีอยุทธยามีคนจีนผูกขาดทั้งการขายและการกลั่นเป็นส่วนใหญ่ โรงสุราอยู่ในเขตชุมชนจีน คนไทยที่มีเหล้าโรงก็มีอยู่ไม่น้อยแต่ไม่มากเท่าชาวจีน ยังมีสุราอีกประเภทหนึ่งที่คนไทยบริโภคไม่มาก คือ เหล้าองุ่น มาจากเปอร์เซียหรือยุโรป เพราะแพง
นโยบายของรัฐ แม้สุราเป็นสิ่งต้องห้ามในพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ก็ทรงห้ามเจ้าขุนมูลนาย (ในทางนิตินัย) ส่วนราษฎรนั้นอนุญาตให้บริโภคสุราได้ โดยมีจารีตประเพณีเป็นตัวควบคุม รัฐปล่อยให้มีการบริโภคและผลิตสุราโดยเสรีมิได้เข้าไปแทรกแซงแต่อย่างใด จนกระทั่งสมัยพระเจ้าปราสาททองจึงมีการเก็บ “อากรสุรา” ทั้งจากผู้ผลิตและผู้ขาย ต่อมาในสมัยพระนารายณ์กำหนดพิกัดอากรสุราไทย
เหตุผลการเก็บอากรสุรานั้น มองได้ 2 แง่ คือ เพื่อเหนี่ยวรั้งการบริโภคและผลิตสุรามากเกินไป ราคาสุราที่สูงขึ้นจะทำให้คนบริโภคน้อยลง อีกแง่หนึ่งคือ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แผ่นดิน ซึ่งก็มักมีเหตุผลทั้ง 2 ประการนี้ร่วมกันเป็นข้อสนับสนุนการเก็บอากรสุราโดยรัฐ แต่บางกรณีกลับไปด้วยกันไม่ได้
การเก็บอากรณ์สุราสมัยพระนารายณ์ (และหลังจากนั้น) คงมุ่งที่การหารายได้มากกว่า เพราะนอกจากการเก็บตามจำนวนเตาที่ต้มกลั่นสุราแล้ว ยังเก็บอากรสุราเรียงตัวคน (ชายฉกรรจ์) คนละ 1 บาท ทุกครอบครัว (สำหรับเมืองที่ไม่มีเตาต้มกลั่นสุรา) ไม่ว่าจะต้มเหล้าหรือไม่ เท่ากับสนับสนุนให้คนต้มสุรา เพราะหากไม่ต้ม ก็เท่ากับเสียเงินไปเปล่า ๆ
จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายเปลี่ยนเป็นระบบเจ้าภาษีนายอากร ให้เอกชนประมูลสิทธิในการผูกขาดการเก็บภาษีอากรเป็นรายปีตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ นายอากรสุรามีรายได้จากการเก็บภาษีจากราษฎรที่ผลิตและจำหน่ายสุราในท้องที่ที่ตนประมูลได้ และยังมีรายได้สำคัญอีกส่วนหนึ่งจากการต้มกลั่นและจำหน่ายสุราเอง โดยได้รับสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว และยังมีสิทธิในเรื่องจับกุมผู้ผลิตและจำหน่ายสุราเถื่อนด้วย ที่รัฐให้นายอากรสุรารับผูกขาดนั้น ก็เพื่อนรายได้จำนวนแน่นอนกว่าแต่ก่อน และไม่ต้องมีภาระเรื่องสุราเถื่อน
แม้ว่าการตั้งนายอากรสุราในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อมีรายได้สำหรับใช้จ่ายในกิจการแผ่นดิน แต่ระบบนายอากรก็เป็นเครื่องมือที่จะสามารถใช้ควบคุมการบริโภคสุราของประชาชนด้วย เพราะถ้ามีสุราจำหน่ายมากเกินไป จะทำให้ราคาถูกลง ซื้อหาได้ง่าย และควบคุมจำกัดเขตการผลิตและจำหน่ายสุราได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดโลกสุราในไทย บันทึกฝรั่งว่าสยามนิยมดื่มแต่น้อย ทำไมกระดกกันอื้อสมัยรัตนโกสินทร์
- เปิดกรุ ปฏิทิน “แม่โขง” จากสุรายุคชาตินิยม ถึงความงามสตรียุค “อวบ” แล้วสวย
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตำนานแห่งการเสพสุรา เหล้า คือ – ยาพิษมึนเมา ฤา น้ำอมฤตเริงรมย์” เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2536
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2561