คณะสงฆ์ไทยเคยปกครองแบบ “แบ่งแยกอำนาจ” อย่างประชาธิปไตย ก่อน “สฤษดิ์” สั่งเลิก

พระสงฆ์ไทยรวมตัวประท้วงในปี 1975 (พ.ศ. 2518) เรียกร้องให้คืนสถานภาพทางสงฆ์ให้กับพระสองราย (พระพิมลธรรมและพระศาสนโศภน) ที่ถูกจับสึกในปี 1960 (พ.ศ. 2503) และภายหลังยังถูกดำเนินคดีฐานเป็นคอมมิวนิสต์ (AFP PHOTO)

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงจัดให้มีการปฏิรูปการปกครองโดยให้ภูมิภาคขึ้นตรงกับส่วนกลางที่กรุงเทพฯ เมื่อมีพระราชดำริให้มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ พระองค์ก็ทรงใช้หลักการเดียวกัน ให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศอยู่ภายใต้การปกครองและควบคุมจากส่วนกลาง ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 โดยกำหนดให้มีมหาเถระสมาคมซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการปกครองบำรุงสังฆมณฑล

แต่เมื่อมีการเปลื่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในเวลาต่อมา รัฐบาลในยุคนี้จึงมีดำริให้มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เสียใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปกครองของบ้านเมือง โดยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ซึ่งกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพื่อการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน อันเป็นลักษณะเดียวกันกับหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

(มาตรา 7 สมเด็จพระสังฆราชทรงบัญญัติสังฆาณัติโดยคำแนะนำของสังฆสภา, มาตรา 8 สมเด็จพระสังฆราชทรงบริหารการคณะสงฆ์ทางคณะสังฆมนตรี และมาตรา 9 สมเด็จพระสังฆราชทรงวินิจฉัยอธิกรณ์ทางคณะวินัยธร)

อย่างไรก็ดี หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำเผด็จการได้ขึ้นครองอำนาจ เขาได้สั่งยกเลิกพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวและประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แทน ล้มเลิกแนวคิดแบ่งแยกและตรวจสอบ คืนอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม ตามแนวทางเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยอ้างเหตุว่า

“การจัดดำเนินกิจการคณะสงฆ์ มิใช่เป็นกิจการอันพึงแบ่งแยกอำนาจดำเนินการด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการถ่วงดุลย์แห่งอำนาจเช่นที่เป็นอยู่ตามกฎหมายในปัจจุบัน และโดยที่ระบบเช่นว่านั้นเป็นผลบั่นทอนประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ จึงสมควรแก้ไขปรับปรุงเสียใหม่ให้สมเด็จพระสังฆราชองค์สกลมหาสังฆปริณายกทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคม ตามอำนาจกฎหมายและพระธรรมวินัย ทั้งนี้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระพุทธศาสนา” (จากหมายเหตุการประกาศใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505)

ด้วยเหตุนี้ คณะสงฆ์ไทยจึงมีการปกครองแบบรวบอำนาจตามแนวทางของ จอมพลสฤษดิ์ มาโดยตลอด แม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติในปี พ.ศ. 2535 แต่นั่นก็เป็นเพียงการสร้างความชัดเจนและส่งเสริมอำนาจตามพระราชบัญญัติฉบับเดิม โดยมิได้มีการปฏิรูปหลักการพื้นฐานของกฎหมายฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็ “เพื่อประสิทธิภาพแห่งการดำเนินกิจการ” ดังที่ท่านจอมพลผ้าขาวม้าแดงดำริไว้นั่นเอง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สฤษดิ์ลุยปราบสารเสพติด เบื้องหลังยกเลิก “ฝิ่น” ถึงประหารชีวิตพ่อค้า “เฮโรอีน” ด้วย ม.17

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ปราบนักเลง-อันธพาลแบบ “จอมพลสฤษดิ์” ในวิถีพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “จอมพลสฤษดิ์” เข้าสภาฯ แถลงนโยบายครั้งแรก กับวลีดักคอ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ พฤษภาคม พ.ศ. 2559