เสาหลัก 6 ประการคณะราษฎร ความทรงจำที่ถูกทำให้ลืม และการหวนคืนของความทรงจำ

โรงเรียนวัดบางช้างใต้ (กิตติวิทยากร) ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม ตามประวัติตั้งขึ้นปี 2464 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีแค่ชั้นปีละห้อง ตัวผมเองตอนย้ายมาเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ราวปี 2533 (แบบไม่ค่อยเต็มใจนัก) ยังเรียนอยู่ที่อาคารเรียนหลังเก่า ก่อนจะย้ายไปสร้างที่ใหม่ หลังผมเรียนจบออกไปนานแล้ว อาคารที่ว่าเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นซึ่งตอนนี้แทบจะทิ้งร้าง ด้านหน้ายกพื้นปูนสูง ถัดไปเป็นเสาธงอยู่ชิดกับรั้วโรงเรียน ผมยังจำได้ดีถึงความเท่ห์ ของรูปปั้นช้างหัวเสือที่เป็นน้ำพุที่ตั้งอยู่หน้าเสาธง ซึ่งเป็นโลโก้ประจำตำบล (เวอร์ชั่นเต็มมีสามนายพรานขี่ด้วย) เพื่อนบอกว่าก่อนผมมา ช้างหัวเสือยังพ่นน้ำออกจากปากได้

ทั้งๆ ที่มีสิ่งหนึ่ง ซึ่งผ่านตาผมบ่อยกว่านั้นเมื่อไปโรงเรียน แต่กลับนึกถึงมันน้อยมากเวลานึกถึงโรงเรียนเก่า โดยปลายเดือนกันยายน ปี 2560 ผมลงจากเชียงใหม่กลับไปเยี่ยมบ้านที่นครปฐม จู่ๆ ความทรงจำบางอย่างเกี่ยวกับโรงเรียนกลับแว้บขึ้นมาชั่วขณะ เลยขอให้น้องสาวขับรถไปดูโรงเรียนหน่อย สิ่งที่ผมพบช่วยรื้อความทรงจำกลับคืนมาใหม่ เผชิญอดีตอันลางเลือน ที่กำลังโฟกัสชัดเปรี๊ยะอยู่ตรงหน้า

ใช่จริงๆ ด้วย โรงเรียนผมมี “เสา 6 หลักประการ ของคณะราษฎร” (นี่หว่า)

ไม่ผิดแน่นอน มันเป็นเสาปูนธรรมดาๆ ไม่งดงามน่าดู ยอดบัวตูม ตั้งบนบัวลูกแก้วอกไก่ รองรับด้วยตัวเสาหกเหลี่ยม ตอนบนยอดปั้นปูนเป็นกระจังคว่ำ ทาสีขาว บัวและตัวหนังสือตอนนี้ทาสีแดง (จำได้ว่าสีน้ำเงิน) มีทั้งหมด 6 ต้น ตั้งเรียงลำดับกัน ตามหมายเลขไทยตอนบนของเหลี่ยมด้านที่หันไปทางเสาธง
ใต้หมายเลขมีข้อความปูนปั้นแสดง “หลัก 6 ประการของคณะราษฎร” ตามนี้

1 เอกราช 2 เศรษฐกิจ 3 ปลอดภัย 4 เสมอภาค 5 เสรีภาพ 6 การศึกษา

จำได้ว่าตอนยังเรียนอยู่ ผมกับเพื่อนเดินไล่เรียงอ่านข้อความบนเสาทั้ง 6 ต้นด้วยความรู้สึกชอบกล
และนึกคิดเอาเองว่าเป็นคำขวัญ (แปลกๆ เพราะไม่คล้องจองกัน) ของโรงเรียนเมื่อนานมาแล้ว เพราะตอนนั้นเสาก็ดูเก่า และโรงเรียนเองไม่เคยให้ท่องหรือมีคำอธิบายใดๆ ออกมา แล้วก็ปล่อยเรื่องนี้ไปไม่ได้ค้างคาใจอะไรกับมันอีก ตอนนี้ผมยังไม่ได้สืบสาวที่มาที่ไปของเสามากนัก แต่เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังปี 2482 ไม่นานนัก อนุมานจากเสาบัวตูมหลัก 6 ประการในโปสเตอร์ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย” ขนาบพานรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้เสาหลัก 6 ประการของโรงเรียนวัดบางช้างใต้
นำมาปรับเสากลมให้เป็นเสาหกเหลี่ยม แต่ยังคงลำดับเลขและข้อความของหลัก 6 ประการไว้คล้ายในโปสเตอร์

หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อยู่ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่่ 1 ซึ่งคณะราษฎรใช้เป็นแนวนโยบาย ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 พบได้เสมอในศิลปะ สถาปัตยกรรม งานประดับตกแต่ง หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับคณะราษฎรพอๆ กับโลโก้พานรัฐธรรมนูญ ซึ่งนิยมอ้างอิงให้สอดคล้องกับจำนวน 6 เช่น ป้อมหกเหลี่ยมเทินพานรัฐธรรมนูญของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสามุขด้านหน้า อาคารสถานที่ราชการมี 6 ต้น และน่าสนใจที่โรงเรียนวัดเล็กๆ ในต่างจังหวัดแห่งนี้ก็ลงทุนสร้างเสาคณะราษฎรขึ้นมากับเขาด้วย

นิทรรศการ [ของ] คณะราษฎร โดยชาตรี ประกิตนนทการ และกิตติมา จารีประสิทธิ์ เมื่อ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา นำสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับคณะราษฎรมาจัดแสดง สะท้อนให้เห็นว่าอุดมการณ์และสัญลักษณ์ของคณะราษฎร ได้แพร่หลายไปทั่วจนถึงระดับรากหญ้าของสังคมไทยผ่านผลิตภัณฑ์นานาชนิด

ทำไมความทรงจำเรื่องเสาหลัก 6 ประการของผมจึงรางเลือน ?

เรื่องนี้มีคำอธิบายที่น่าฟังกว่าการจะบอกว่าผมลืม (ก็อาจลืมจริงๆ) แน่นอนว่าหลังจากคณะราษฎรถูกพลิกเกมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อุดมการณ์และผลผลิตของคณะราษฎรในทางการเมืองและวัฒนธรรม
ก็เริ่มถูกแย่งชิงพื้นที่และปรับเปลี่ยนคำอธิบายใหม่ กลายเป็นผู้ชิงสุกก่อนห่าม ผมไม่เคยผ่านหูผ่านตาหลัก 6 ประการในหนังสือเรียนราวกับเรื่องนี้ไม่เคยอยู่ในพิภพ หนังสือที่อ่านถ้ามีเรื่องราวของคณะราษฎรล้วนจูงใจให้เชื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ มรดกทางศิลปวัฒนธรรม
ของคณะราษฎรถูกตีตราว่าด้อยค่า (เหมือนเสาหลัก 6 ประการที่โรงเรียน) เมื่อเทียบกับวัดวาอารามตามจารีตประเพณีอันวิจิตร ต่อเมื่อเริ่มเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงรู้ว่าคือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่ก็ไม่เคยหวนคิดถึงเสาหลัก6 ประการที่โรงเรียนอยู่ดี

ดูเหมือนว่าเสาทั้ง 6 ต้นกับผมไม่ติดค้างความทรงจำต่อกันมานานพอควร แล้วทำไมวันดีคืนดีก็พร้อมใจผุดขึ้นมาทวงความทรงจำกับผมเอาดื้อๆ ?

อาจกล่าวได้ว่าความวุ่นวายทางการเมืองในรอบสิบปีเศษมานี้ ช่วย CPR ลมหายใจของคณะราษฎรขึ้นอีกครั้ง งานเขียน งานสัมมนา กิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวกับคณะราษฎรผุดขึ้นมาราวกับคืนชีพในวันพิพากษา ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายว่าคณะราษฎรเป็นกลุ่มบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ถือกำเนิด
ถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อก่อการ 24 มิถุนายน 2475 มีอายุขัยเพียง 15 ปีก็ค่อยๆ ตายจากไป
พร้อมกับความทรงจำที่ถูกฝังกลบ ครั้งที่ 2 หลังรัฐประหาร 2549 ในฐานะวีรชนประชาธิปไตย ขณะที่ธนาพล อิ๋วสกุล กล่าวถึงกำเนิดใหม่ครั้งที่ 3 ของคณะราษฎร เมื่อเดือนเมษายน 2560

ฉะนั้น แม้ความทรงจำของคณะราษฎรจะถูกฝังกลบ ถูกลบความทรงจำ แต่การคืนชีพของกลุ่มบุคคล     เหล่านี้ก็นับมีพลังมากพอสำหรับผมในการกู้คืนความทรงจำส่วนลึกในวัยเยาว์ที่ถูกทำให้ลืมเลือนให้แจ่มชัด นำพาตัวเองมายังโรงเรียนเก่า ยืนเพ่งมองเสาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรด้วยความทรงจำใหม่ที่คราวนี้ยากจะลบเลือน

(ขอขอบคุณ รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ สำหรับภาพถ่ายโปสเตอร์ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์ไทย”)
บทความและภาพจาก https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2561