ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ดูวิธี “สำเร็จโทษ” เจ้านาย ไม่ได้มีแค่การใช้ ท่อนจันทน์ แต่ยังมี “ใส่หลุมอดอาหาร” และวิธีพิสดารต่างๆ
การสำเร็จโทษเชื้อพระวงศ์ มีกฎที่เคร่งครัดอยู่ประการหนึ่ง คือ จะให้เลือดตกลงพื้นดินไม่ได้ เพราะถือว่าเลือดราชวงศ์นี้เป็นของสูง ไม่ควรที่จะให้ตกลงสู่พื้นดินซึ่งเป็นสิ่งต่ำต้อย ในทางกลับกันก็มองว่าเลือดของกษัตริย์หรือเชื้อพระวงษ์ผู้ที่จะถูกสำเร็จโทษจากเหตุที่เป็นกบฏ คิดร้ายต่อแผ่นดินนี้ถือเป็นของอุบาทว์ หากตกลงไปที่พื้นก็จะทำให้บ้านเมืองฉิบหายได้เช่นกัน
จากแนวคิดดังนี้ ทำให้เกิดวิธีการประหารที่มักได้ยินกันบ่อยครั้ง คือ การใช้ ท่อนจันทน์ “ขนาดใหญ่” ทุบลงไปที่ท้องของเจ้านาย ในท่าทางที่เปรียบได้กับการ “ตำข้าว”
นอกจากการใช้ท่อนจันทน์แล้ว ยังพบว่ามีวิธีการประหารวิธีอื่นๆ ที่ฟังดูโหดร้ายทารุณไม่แพ้กัน ทั้งนี้รายละเอียดบางส่วนของวิธีการประหารเจ้านายที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้พบว่า มีบันทึกไว้ในเอกสารของชาวต่างชาติ ไม่มีปรากฏในพงศาวดารไทย ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปข้อเท็จจริงที่แน่ชัดในขั้นตอนการประหารในแต่ละวิธีได้อย่างชัดเจน
ใส่หลุมอดอาหาร หรือฝังทั้งเป็น
วิธีการให้อดอาหารอยู่ในหลุม หรือฝังทั้งเป็นนี้ พบว่ามีบันทึกไว้โดยวันวลิต หรือ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) โดยระบุถึงการสำเร็จโทษพระปิตุลาไว้ว่า “ส่งพระมหาอุปราชไปเพชรบุรี แล้วจับพระองค์หย่อนลงในบ่อลึกและแห้ง หลุ่มนี้มีเครื่องคุมกันแข็งแรง ถวายอาหารให้น้อยลง ๆ ทุกวัน เพื่อให้พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยความหิว”
เช่นเดียวกันกับ ลาลูแบร์ ที่กล่าวถึงวิธีการประหารดังกล่าวในทำนองเดียวกัน คือ “ก็ถือกันอย่างเคร่งครัดว่า มิพึงให้พระขัตติยโลหิตต้องตกจากพระวรกาย จึงมักใช้ทรมานให้สิ้นพระชีพด้วยเชิงอดพระกระยาหาร ลางทีก็ให้อิดโรยสิ้นพระชีพไปเองด้วยความอดอยาก โดยวิธีลดทอนพระโภชนาหารให้น้อยลงทุกวัน ๆ”
ส่วนในบันทึกของเฟอร์ดินันด์ เมนเดซ ปินโต นั้นก็ได้กล่าวถึงการลงโทษอย่างรุนแรงนี้ว่า “พระองค์จะต้องถูกลงพระอาญาอย่างหนัก โดยต้องอยู่ในหลุมลึกของเรือน มีควันทะเลสาบน้ำร้อนที่ส่งกลิ่นเหม็นจนเหลือทนทาน”
นอกจากบันทึกของชาวต่างชาติแล้ว ก็พบว่าในเอกสารของไทย คือบันทึกของขุนหลวงหาวัดก็ได้กล่าวถึงการประหารแบบขุดหลุมฝังทั้งเป็น เช่นเดียวกัน
ถ่วงน้ำ
วิธีการถ่วงน้ำ พบว่ามีบันทึกไว้ในเอกสารของต่างชาติเท่านั้น โดยพบว่าเป็นวิธีการประหารที่ใช้กับพระราชธิดา หรือพระมเหสีที่ประพฤติไม่ชอบ
จากบันทึกของปาเลกัวซ์ พบข้อความที่เกี่ยวข้องกับการประหารแบบถ่วงน้ำไว้ว่า “พระราชินี หรือพระสนม ที่ประพฤติไม่ซื่อต่อพระองค์ หรือพระธิดาผู้ทรงประพฤติผิดจะถูกจับตัวใส่กระสอบหนัง มีก้อนหินถ่วงเย็บปากกระสอบแล้วนำไปถ่วงในกลางแม่น้ำเสียทั้งเป็น…”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเอกสารฝ่ายไทยจะไม่มีกล่าวถึงเหตุการณ์การจับเจ้านายถ่วงน้ำไว้ แต่หากพิจารณาจากหลักการของกฎมนเทียรบาลมาตรา 174 เรื่องการสำเร็จโทษ “ฝ่ายหญิง” แล้ว ก็จะเห็นว่าวิธีการจับถ่วงน้ำไม่ได้อยู่เหนือขอบเขตของกฎหมายเลย
ตัดพระเศียร
การประหารด้วยวิธีการตัดพระเศียร เรียกได้ว่าเป็นการ “หักหลักการ” การประหารโดยสิ้นเชิง การประหารวิธีนี้พบไม่บ่อยนักในหลักฐานเอกสาร แต่ก็คาดว่ามีอยู่ “นอกพงศาวดาร” ไม่น้อย
วิธีการตัดพระเศียรคาดว่า เป็นการประหารที่ใช้กับเจ้านายชั้นรองที่เข้าร่วมกับกลุ่มกบฏ โดยเจ้านายที่เชื่อว่าถูกตัดพระเศียรนี้มีหลายพระองค์ด้วยกัน ยกตัวอย่าง เช่น ขุนวรวงศาธิราช สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
สำเร็จโทษ วิธีพิสดาร
นอกจากวิธีการสำเร็จโทษที่กล่าวมาแล้ว ก็พบว่ามีวิธีการสำเร็จโทษวิธีอื่นๆ ที่มีลักษณะพิสดาร เช่น ในบันทึกของลาลูแบร์ได้กล่าวถึงการ “อุดพระนาสิกให้ทรงหายใจไม่ออกด้วยชิ้นภูษาอันมีค่า” หรือวิธีการ “สับร่างออกเป็น 2 ท่อน” ตามที่พบในบันทึกของวันวลิต
นอกจากนี้ ในเอกสารของคนไทย คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ ก็มีบันทึกไว้ว่า มีการจับเจ้านาย “ลอยแพหยวก” ในทะเล เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
อ่านเพิ่มเติม :
- ประหาร “7 ชั่วโคตร” เรียงตระกูลอย่างไร ใครโดนบ้าง
- บทลงโทษสุดโหด ในกฎหมายตราสามดวง ที่ความตายเรียก “พี่”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรามินทร์ เครือทอง. สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2562