ประหาร “7 ชั่วโคตร” เรียงตระกูลอย่างไร ใครโดนบ้าง

เพชฌฆาต ลงดาบ นักโทษ ตัดษีรษะ ประหารชีวิต ประหาร ที่ วักโคก ประหาร 7 ชั่วโคตร
เพชฌฆาตกำลังลงดาบ นัก โทษ ประหารรายหนึ่งที่วัดโคก (ภาพจากหนังสือ กรุงเทพในอดีต โดยเทพชู ทับทอง )

เรื่อง “ประหาร 7 ชั่วโคตร” เป็นโทษอยู่ใน “กฎมณเฑียรบาล” และ “ลักษณะกบฏศึก” เทพชู ทับทอง เขียนอธิบายไว้ในหนังสือเก่าชื่อ “กรุงเทพฯ แห่งความหลัง” สรุปเนื้อหาได้ดังนี้

ฆ่า 7 ชั่วโคตร” หมายถึงเฉพาะ 1. นักโทษและเมีย 2. ลูก 3. หลาน 4. เหลน 5. พ่อแม่ 6. ปู่ย่าตายาย 7. ทวด ซึ่งก็เกือบหมดวงศ์ตระกูลเช่นกัน แต่ยังมีเหลือญาติบ้าง

ในหนังสือกฎหมายเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในต้นรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่าโทษที่ต้องฆ่าทั้งโคตร และ ประหาร 7 ชั่วโคตร เป็นโทษอยู่ในกฎหมาย “กฎมณเฑียรบาล” และ “ลักษณะกบฏศึก” หลายมาตรา

กฎมณเฑียรบาล มีดังนี้

ถ้าเรือประเทียบล่มก็ดี ประเทียบน้ำตกก็ดี แลว่ายน้ำอยู่บันดาตาย ให้ภูดาษแลชาวเรือยืนเสร้าแลซัดมะพร้าวให้เกาะตามแต่จะเกาะได้ ถ้ามิได้อย่ายึด ถ้ายึดขึ้นให้รอดโทษถึงตาย ถ้าซัดมะพร้าวให้รางวัลเงินสิบตำลึงขันทองใบหนึ่ง ถ้าเรือเทียบล่มมีผู้อื่นเหนแลซัดมะพร้าวเอาขึ้นให้รอดโทษทวีคูณตายทั้งโคตร

อนึ่งชาววังสนม ตำรวจในบันดาขานขันหมากแลมิได้ขานขันหมาก โทษแหวะปาก ถ้างานพระราชพิธีแขกเมืองถวายบังคม ฆ่าเสียทั้งโคตร

อนึ่งถ้าเสด็จทรงม้า แลให้ขุนช้างชาวช้างขี่ช้างไล่ไซ้ ให้ขุนช้างทำคาใส่คอ ครั้งหนึ่งให้กราบทูลพระกรุณาว่าช้างเหลือมือ ถ้ามิฟังแลจำให้ไล่ไซ้ ให้วางจงสิ้นเชิงอย่ารั้งพระที่นั่งจึงจะพ้นถ้ามิทำตามอัยการดั่งนี้ พระที่นั่งเป็นอันตรายไซ้ให้เอาผู้ขี่ช้างฆ่าเสียทั้งโคตรเป็นต้น

เพชฌฆาตกำลังลงดาบนักโทษประหาร
เพชฌฆาตกำลังลงดาบนักโทษประหาร

ลักษณะกบฏศึก มีดังนี้

1 มาตราหนึ่ง ผู้ใดใจใหญ่ใฝ่สูงศักดิ์ มักกบฏประทุษร้าย จะต่ำพระองค์ลงจากกำภูฉัตร อนึ่งทำร้ายพระองค์ด้วยโหรายาพิศม แลด้วยยศเครื่องสาสตราสรรพยุทธให้ถึงสิ้นพระชนม์ อนึ่งพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้ใดไปรั้งเมืองครองเมือง แลมิิได้เอาสุพรรณบุบผา แลภัทยาเข้ามาบังคมถวายแลแขงเมือง อนึ่งผู้ใดเอาใจไปแผ่เผื่อฆ่าศึกสัตรู นัดแนะให้ยกเข้ามาเบียดเบียฬพระนครขอบขันธ์เสมาธานีน้อยใหญ่ อนึ่งผู้ใดเอากิจการบ้านเมืองแลกำลังเมืองแจ้งให้ฆ่าฟัง ถ้าผู้ใดกระทำดังกล่าวนี้โทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฐ์ โทษ 3 สฐาน สฐานหนึ่งให้ริบราชบาทวฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร สฐานหนึ่งให้ริบราชบาทวฆ่าเสีย 7 ชั่วโคตร… เมื่อประหารชีวิตนั้นให้ประหารให้ได้เจ็ดวัน จึงให้สิ้นชีวิต เมื่อประหารนั้นอย่าให้โลหิตแลอาสพตกลงในแผ่นดินให้ใส่แพลอยเสียตามกระแสน้ำ…

5 มาตราหนึ่งเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัวเลี้ยงให้มียศถาศักดิ์ แลมันโมหจิตรคิดใหญ่ใจใคร่ฝ่ายสูงศักดิ์ทำกบฏประทุษร้าย ต่อรบพุ่งเมืองท่านทำดังนั้น ท่านว่าโทษหนัก ให้ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร

14 มาตราหนึ่ง ผู้ใดพระเจ้าอยู่หัวแต่งให้มียศถาศักดิ์ แลเป็นนายหมวดนายกองทแกล้วทหารไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน มีการรณรงค์สงครามมิได้อยู่ช่วยราชการ ภาครอบครัวอพยพหนีไปเข้าด้วยฆ่าศึก แลไปซุ่มซ้อนอยู่ในป่าดงท่านว่าขบถ ให้ฆ่าเสียให้สิ้นทั้งโคตร อย่าให้ดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป เป็นต้น

การฆ่านั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งโดยมากเป็นการทรมานไปด้วยในตัว ตามกฎหมายลักษณะกบฏศึกกล่าวถึงการฆ่าชนิดทรมานนี้ว่า มีถึง 21 วิธี อาทิ

“ให้ต่อยกระบานศีศะเลิกออกเสีย แล้วให้เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงให้มันสมองศีศะพลุ่งฟูขึ้นดังม่อเคี่ยวน้ำส้มพอูม…สฐานหนึ่งคือให้นอนลงโดยข้างๆ หนึ่งแล้ว ให้เอาหลายเหล็กตอกลงไป โดยช่องหูให้แน่นกับแผ่นดิน แล้วจับเท้าทั้งสองหันเหียนไปดังบุทคลท่ากางเวียน…สฐานหนึ่งคือให้เคี่ยวน้ำมันให้พลุ่งพล่าน…แล้วรดสาดลงมาแต่ศีศะกว่าจะตาย…สฐานหนึ่ง คือ ให้เอาขวานผ่าอกทั้งเป็นแหกออกดังโครงเนื้อ…สฐานหนึ่ง คือให้ตีด้วยไม้ตะบองสั้นตะบองยาว” เป็นต้น

การฆ่าโดยไม่ทรมานได้แก่ การตัดศีรษะด้วยดาบ ซึ่งมีทั้งการเสียบประจานและไม่เสียบประจาน

สำหรับการประหารชีวิตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์สมัยต้นๆ ได้ความว่า ทำกันที่ป่าช้าวัดโพธารามหรือวัดโพธิ์ (ท่าเตียน) ตรงที่เคยเป็นที่ตั้งบริษัทบาโรบราวน์ ริมคลองหลอดฝั่งตะวันออก

ต่อมาย้ายมาประหารที่วัดโคกหรือวัดพลับพลาไชย แล้วย้ายมาประหารที่วัดบางกะสัน (วัดมักกะสัน) ริมคลองแสนแสบ ประตูน้ำปทุมวัน แล้วย้ายกลับไปประหารที่วัดโคกอีก ต่อมาจึงได้มาทำการประหารที่วัดภาษี ริมคลองแสนแสบ ถนนเอกมัย และวัดบางปลากด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ตามลำดับ

ถ้าเป็นเจ้านาย ได้ความว่าทำการสำเร็จโทษที่วัดปทุมคงคา สำเพ็ง โดยการใส่ถุงแดงแล้วทุบด้วยท่อนจันทน์

สำเร็จโทษ ท่อนจันทน์ กฎมณเฑียรบาล
ภาพสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ จินตนาการจากกฎมณเฑียรบาล โดย ธีรพันธ์ ลอไพบูลย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2561