เผยแพร่ |
---|
ประเด็นเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ, วิกฤตขีปนาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคต่างๆ, ผู้อพยพลี้ภัยสงคราม ฯลฯ ล้วนแต่เป็นหัวข้อหารือบนเวทีสันติภาพโลกอยู่เสมอๆ เพราะหากโลกมีสันติภาพ ปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น
นานาชาติจึงได้พยายามหารือเรื่องสันติภาพมากว่า 100 ปีแล้ว
รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์ เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “ไทย กับการประชุมสันติภาพนานาชาติ กรุงเฮก ครั้งแรก ค.ศ. 1899” (ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2546) ซึ่งขอสรุปมาดังนี้
การประชุมสันติภาพนานาชาติเริ่มก่อตัวขึ้นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2441 ปรากฏใน “บันทึกเวียน” (Circle Note) อ้างพระบรมราชโองการในพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ที่เคาน์ตมูราเวียฟ (Count Muraviev) ซึ่งมีไปยังผู้แทนการทูตของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ ณ ราชสำนักเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่จะนำไปสู่นำ “การประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮก ครั้งแรก ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442)”
ซึ่งในวงวิชาการมีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางหลายประเด็น เช่น บทบาทของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประสันติภาพนานานาชาติครั้งนี้ เป็นต้นว่า พระเจ้าซาร์โคลัสที่ 2 ผู้ทรงมีพระราชประสงค์จะได้รับการขนานพระนามว่า “ผู้สร้างสันติภาพ” และเหล่าเสนาบดีของรัสเซีย
หรือเหตุผลความนัยที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ให้มีการจัดประชุมนั้น พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสันติภาพถาวรขึ้น หรือ เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของรัสเวียเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะรัสเซียกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ถึงขั้นใกล้ล้มละลายทางการเงิน อันเป็นผลมาจากการลงทุนพัฒนากำลังอาวุธแข่งกับมหาอำนาจอื่นๆ
ขณะที่ผู้นำหลายชาติก็มีปฏิกริยาที่ไม่ดีนักต่อเรื่องนี้ เช่น พระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิปรัสเซีย ทรงยกย่องชื่นชมพระราชดำริของพระเจ้าซาร์ในที่สาธารณะ หากทรงรับสั่งถึงบันทึกเวียนฉบับนี้ว่า “ปีศาจชั่วร้าย” รัฐบาลาฝรั่งเศสที่เป็นพันธมิตรกับรัสเซียก็รู้สึก “เสียหน้า” เพราะรัสเซียไม่เคยปรึกษาหารือในร่างข้อเสนอนี้มาก่อนเลย
นอกจากนี้ประเด็นในบันทึกเวียนฉบับแรกก็ดูจะเป็นปัญหาอยู่หลายประเด็น เช่น ความไม่ชัดเจนและลักษณะที่เป็นอุดมคติเกินจริงของวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการบรรลุ “สันติภาพอย่างแท้จริง” (Universal Peace) ด้วยการ “เลิกสะสมกำลังอาวุธ” (Disarmament)
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลรัสเซียจึงรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับข้อเสนอการประชุมสันติภาพ และได้ออก “บันทึกเวียนฉบับที่ 2” (11 มกราคม พ.ศ. 2442) ซึ่งได้ปเลี่ยนสาระสำคัญในวัตถุประสงค์ของการประชุมนานาชาติจากเดิมไปหลายประการ กล่าวคือ
ความคิดเกี่ยวกับ “การยกเลิกการสะสมกำลังอาวุธโดยปราศจากข้อแม้” (Universal Disarmament) ที่เป็นข้อถกเถียงกันมากและเป็นข้อเสนอที่ถูกตั้งแง่ปฏิเสธมากที่สุด หรือแม้แต่ความคิดเกี่ยวกับการลดอาวุธ ที่เคยปรากฏในบันทึกเวียนฉบับแรก ก็ลบออกแและแทนที่ด้วยข้อเสนอว่าด้วย “การจำกัดอาวุธ” (Limitation of Armaments)ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์จริงและเป็นที่ยอมรับได้ในหมู่ชาติมหาอำนาจ
ที่สำคัญที่สุดคือ การใช้การไกล่เกลี่ยประนีประนอมโดยคนกลาง (Mediation) และการยอมรับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการโดยสมัครใจ (Voluntary Arbitration)
ท้ายที่สุด การประชุมสันติภาพนานาชาติครั้งแรก ก็เกิดขึ้นวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2442 (ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ 2 ) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีรัฐเอกราชรวม 26 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป ส่วนประเทศนอกทวีปยุโรปที่ได้รับเชิญได้แก่ สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, ตุรกี, เปอร์เซีย,จีน, ญี่ปุ่น และสยาม
แล้วสยามมีบทบาทในเรื่องสันติภาพโลกอย่างไร
โดยเหตุที่บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศตอนปลายคริสตศตวรรษที่ 19 พัสดุไปรษณีย์จากยุโรปมายังประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์ สำเนาบันทึกเวียนฉบับแรกของรัฐบาลรัสเซียมาถึงกรุงเทพฯ ในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2441 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศ รับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้แจ้งไปยัง นาย เอ.อี. โอลารอฟสกี อัครราช ทูตรัสเซียที่กรุงเทพฯ ว่า ไทยยินดีเข้าร่วมการประชุม
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเป็นผู้เสนอให้จัดการประชุม สันติภาพ และในบันทึกกเวียนฉบับแรกไม่ได้กำหนดสถานที่จัดประชุม รัฐบาลไทยจึงเข้าใจเอาเองว่าการประชุมคงมีขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นครหลวงของรัสเซีย โดยหลักการความเหมาะสมหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมจึงควรเป็น พระยาสุริยานุวัตร อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักรัสเซีย
แต่เมื่อสำเนาบันทึกเวียนฉบับที่ 2 มาถึงได้กำหนดสถานที่จัดประชุมเป็นที่กรุงเฮก ผู้แทนฝ่ายไทยจึงควรเป็น พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อัครราชทูตไทยที่กรุงลอนดอน มากกว่า
สุดท้ายเมื่อถึงวันประชุม 18 พฤษภาคม 2442 คณะผู้แทนไทยที่ได้รับแต่งตั้งประกอบด้วย 4 ผู้แทน และ 2 ผู้ช่วย คือ
1. พระยาสุริยานุวัตร เป็นผู้มีอำนาจเต็มคนที่ 1 (Frist delegate, plenipotentiary)
2. พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นผู้มีอำนาจเต็มคนที่ 2 (Second delegate, plenipotentiary)
3. นายชาร์ลส์ คอร์ราจิโอนี ดอเรลลี ที่ปรึกษาสถานทูตไทยประจำกรุงปารีส เป็นผู้มีอำนาจเต็มคนที่ 3 (Third delegate, plenipotentiary)
4. นายเอดวร์ด โรแลง กงสุลใหญ่ของไทยที่เบลเยี่ยม เป็นผู้มีอำนาจเต็มคนที่ 4 (Fourth delegate, plenipotentiary)
5. นายเจ.เอ.เอ็น และ 6. พระยาชัยสุรินทร์ เป็นผู้ช่วยประจำคณะผู้แทนไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชโชวาทแก่ผู้แทนกรุงสยาม ดังนี้
“[สำเนา]
พระบรมราโชวาท
พระราชทานแก่ผู้แทนกรุงยาม
ณ ที่ชุมนุมนานาประเทศที่เมืองเฮก
ผู้แทนสยาม ในที่ชุมนุมเมืองเฮกนั้นจะต้องใช้ถ้อยคำที่จะพูดจา แลใช้ความวินิจฉัยให้เปนไปในทางซึ่งเปนเหตุที่ตั้งอันสมควรสามข้อ คือ
ข้อ 1. – ว่า การชุมนุมนั้น ได้ให้มีขึ้นโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ผู้ซึ่งเปนมหามิตรเฉพาะพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลเปนผู้ซึ่งทรงสำแดงฉันทวิริยจิตรสนิทสเนหาเปนอันมากต่อกรุงสยาม
ข้อ 2. – ว่า กรุงสยามย่อมเหมือนกับประเทศทั้งหลายซึ่งไม่มีความประสงค์ที่จะชิงไชยในการศึก และไม่ได้จัดการทหารใหญ่โตแฃงแรงนัก เปนประเทศซึ่งมีแต่ที่จะเสีย แลไม่มีที่จะได้อันใดในการสงคราม กรุงสยามเองจึงได้มีเหตุอันสมควรทุกอย่างที่ปรารถนาอยู่เพื่อจะให้มีการชุมนุมนี้มีความสำเร็จบริบูรณ์ด้วย
เพราะเหตุที่กล่าวมาในสองข้อเบื้องต้นนี้ ผู้แทนทั้งหลายนี้ต้องรวังงดเว้นจากการที่จะเข้าด้วยกับการวินิจฉัยเด็ดขาดอันใดอันหนึ่ง ซึ่งจะพึงคิดเหนว่าเปนการที่บาดหมางน้ำใจของพระมหากษัตริย์กรุงรัสเซียฤาว่าเปนการบางอย่างที่จะทำลายความหมายของที่ชุมนุมนั้น
อีกประการหนึ่ง ถึงแม้ว่าไม่ได้มีที่หวังว่าจะเปนได้แล้วการย่อมจะเกิดเปนฃึ้นได้ ตามการปฤกษาในที่ประชุมว่าด้วยเรื่องพิเศษบางเรื่องแล้ว มีข้อดีแยกที่แตกออกไป ซึ่งจะพึงเปนฃึ้นได้โดยอำนาจของการบ้านเมืองที่มีความคิดไม่เปนมิตรต่อกันอยู่เงียบๆ ในระหว่างประเทศใหญ่ๆ สองประเทศฤาหลายประเทศกว่านั้นก็ดี เมื่อการเปนเช่นนี้แล้ว ให้ผู้แทนทั้งหลายจำไว้ว่าตนเปนผู้แทนประเทศหนึ่งซึ่งเปนกลางอย่างพิเศษ เปนประเทศที่ไม่สมควรจะแสดงความลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ฤาจะวินิจฉัยการในท่ามกลางความกล่าวอ้างของประเทศที่มีกำลังใหญ่ในยุโรปทั้งหลายนั้น
เพราะเหตุฉนี้ ผู้แทนทั้งหลายจะต้องกระทำการโดยรวังโดยอุบายอันแยบคาย ใช่แต่เฉพาะในการที่จะวินิจฉัยเด็ดขาดในการชุมนุมอย่างเดียว แต่ชั้นในถ้อยคำที่จะพูดจาสนทนา แลความประพฤติตนไว้ในที่ทั่วไปด้วย แล้วแลให้ช่วยอุดหนุนโดยมากที่สุดที่จะกระทำได้ในข้อความที่คิดขึ้นในที่ชุมนุม เพื่อจะให้เป็นการปรองดองกันก็ดี ฤาเพื่อที่จะให้ตกลงกันเปนกลางก็ได้ อันนี้ย่อมเปนธรรมดาที่จะคิดการนี้ด้วยมีกำหนดใจไว้ว่า ถ้ากรุงสยามมีประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่จะตกลงกันบางเรื่อง มีเปนต้นว่า แบบวิธีกระบวนพิจารณาคดีโดยคนกลางอย่างหนึ่งนั้นแล้ว ผู้แทนทั้งหลายจะต้องพูดจาแลวินิจฉัยเด็จฃาดในการนั้น ให้ถูกต้องสมกับประโยชน์ของกรุงสยาม
ข้อ 3.- ว่า เพราะการย่อมเคยเปนขึ้นเสมอในเมื่อความคิดอันอารีกว้างขวางบางอย่างเกิดยื่นเข้ามา แลวิธีที่จะใช้ทำการนั้นได้ทอลองโดยทางที่ใช้ได้แล้ว ยังมีทางที่จะเหนเสียไปได้ ด้วยผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบอยู่นอกที่ประชุมยกย่องส่งเสิมโดยรู้จักประมาณ ฤาเปนการที่คิดใหญ่โตจนเกินการไป จึงเหนว่าการเช่นนี้อยู่ในความคิดอันแยบคายของผู้แทนทั้งหลาย ที่จะตั้งตนไว้ให้พ้นจากการที่จะคิดใหญ่โตเกินกว่าการไป และจะต้องถือให้เคร่งครัดตามหมายกะการ 8 ข้อ ที่ชี้แจงไว้ในประกาศฉบับหลังฃองเคาน์ตมูราเวียฟ ฤาถือตามข้อความซึ่งที่ชุมนุมจะกำหนดห้ามไว้ในการปฤกษานั้นเองด้วย
ทรงเซนพระบรมนามาภิธัย
พระราชทานแต่วันที่ 30 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 118”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2561