งามหน้า! ย้อนคดีต้นรัตนโกสินทร์ “ลูกพระยาท้ายน้ำ” แอบนำของหลวงไปจำนำ?

ลูกพระยาท้ายน้ำ นำ ปืนหลวง ไป จำนำ

ย้อนคดีต้นรัตนโกสินทร์ “ลูกพระยาท้ายน้ำ” แอบนำของหลวงไปจำนำ ท้ายสุดเกิดอะไรขึ้น?

การทุจริตคอร์รัปชันไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออดีตมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการรับสินบนหรือเรียกอย่างสุภาพสำหรับคนบางกลุ่มว่า “ค่าน้ำร้อน น้ำชา” “สินน้ำใจ” ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตามมันก็คือการคอร์รัปชันดี ๆ นี่เอง นำมาซึ่งระบอบอุปถัมภ์ การเล่นพวกพ้องสร้างสองมาตรฐาน การเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีวันสิ้นสุดดั่งเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นั้น กรมหมื่นศักดิพลเสพ ทรงเป็นผู้ดูแลกำกับราชการกรมพระกลาโหมและหัวเมืองปักษ์ใต้ ในเวลานั้นทรงได้รับรายงานจากพระอสุรสงครามความว่า เดิมที พระยาท้ายน้ำ เบิกเอาปืนหลังม้ารองทรงต้นเหลี่ยม 1 กระบอกไปใช้ในการศึกยังเมืองถลาง เมื่อพระยาท้ายน้ำถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพนักงานไม่สามารถเรียกนำปืนกระบอกดังกล่าวกลับมาได้

เมื่อไม่นำปืนมาคืน จึงมีการเรียกไต่สวนหาสาเหตุการที่ไม่สามารถนำปืนมาคืนได้ จึงเรียก นายทองอยู่ ซึ่งเป็น ลูกพระยาท้ายน้ำ ผู้วายชนม์มาไต่สวนหาเหตุ ความปรากฏว่า นายทองอยู่ได้นำปืนกระบอกดังกล่าวไปจำนำไว้กับนายคุ้ม ซึ่งเป็นบ่าวของ พระยานคร

ครั้นจะให้นายทองอยู่บอกสังกัดของภรรยาบุตรของนายคุ้มเป็นคนบ้านเรือนถิ่นใด นายทองอยู่เองก็บอกไม่ได้ว่านายผู้นี้เป็นใคร อาจจะเป็นด้วยว่านายคุ้มผู้นี้เป็นคนธรรมดาที่มีอิทธิพลใหญ่โต ที่เป็นนายเงินของผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก และมีอิทธิพลมากพอที่จะทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งรับของหลวงมาจำนำ

ลูกพระยาท้ายน้ำให้การกับทางการว่า นายคุ้มคนนี้มีอายุประมาณ 50 ปีเศษ และสำคัญคือเป็นนักเลงหัวไม้ หน่วยก้านคงดีไม่น้อย เพราะเจ้านายคือ พระยานคร เรียกใช้สอยนายคนนี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อความเป็นเช่นนี้ กรมหมื่นศักดิพลเสพ จึงมีรับสั่งโปรดเกล้าฯ “ปืนนี้เป็นปืนหลวงอยู่ ให้ท่านพระยานครหาตัวนายคุ้มมาชำระว่ากล่าวสืบเอาปืนหลวงส่งเข้ามา ณ กรุง ถ้านายคุ้มรับจำนำไว้เป็นเงินมากน้อยเท่าใด ให้ท่านพระยานครบอกเข้าไปจะส่งเงินออกมาให้ ถ้านายคุ้มรับจำนำแต่มิรับว่าทำจริงให้ส่งตัวนายคุ้มเข้ามา” จะได้กระลาการเอานายคุ้มมาสอบปากคำกับนายทองอยู่ เพื่อให้ได้ทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ไม่มีบันทึกถึงผลจากการสอบสวนทั้งสองว่าเป็นเช่นไร และได้รับโทษทัณฑ์อย่างไรบ้าง แต่จากเรื่องราวทำให้ทราบอีกประการหนึ่งว่า การที่นำของหลวงไปจำนำ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ ลูกพระยาท้ายน้ำ มีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงนำปืนไปจำนำ หรือความจำเป็นนั้นอาจจะมาจากการพนัน ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินตัว ทำให้เงินขาดมือสิ้นเนื้อประดาตัว ถึงขั้นนำของหลวงไปจำนำ

ครั้นจะหาเงินไปไถ่ถอนออกมาก็สายเกินการณ์ จนทางการจับได้เสียก่อน ใช้จ่ายต้องประหยัด เงินขาดมือขึ้นมาคงยุ่งยากลำบากไม่น้อย ครั้นจะไปขอหยิบยืมจากคนสนิทก็พาลจะเสียเพื่อน เพราะคืนเงินไม่ตรงเวลา เป็นเรื่องน่าเศร้าของคนมือเติบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์.  จดหมายเหตุ รัชกาลที่ 2 จ.ศ. 1173. (2514).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2561