นักวิชาการอ้าง “The Man in the Iron Mask” เป็นเพียง “คนรับใช้-ไม่ใช่เจ้า”

“L’Homme au Masque de Fer” หรือ บุรุษหน้ากากเหล็ก ภาพพิมพ์ในปี ๑๗๘๙ จากห้องสมุดสภาคองเกรส สหรัฐอเมริกา (Wikimedia Commons) คำบรรยายในภาพอ้างว่าบุรุษหน้ากากเหล็กคือ หลุยส์ เดอ บูร์บง (Louis de Bourbon) โอรสองค์โตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่เกิดจากนางบำเรอ อีกหนึ่งทฤษฎีสมคบคิดที่ได้รับการกล่าวถึงมากแต่ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ

ผู้ที่เคยอ่านนิยายอิงประวัติศาสตร์คลาสสิคชุด “สามทหารเสือ” ของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ (Alexandre Dumas) เรื่องราวการผจญภัยของดาตาญัง (d’Artagnan) หนุ่มบ้านนอกที่เดินทางเข้ากรุงปารีสเพื่อหวังร่วมเป็นสมาชิกกองทหารราช องครักษ์ยุคศักดินาของฝรั่งเศส คงจะเคยได้ยินคำว่า “บุรุษหน้ากากเหล็ก” (The Man in the Iron Mask) มาบ้าง

โดยเฉพาะเมื่อปี 1998 เรื่องราวของบุรุษปริศนารายนี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์นำแสดงโดยนัก แสดงชื่อดังอย่างลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในแง่รายได้ และยังทำให้เกิดภาพจดจำว่า บุรุษหน้ากากเหล็กรายนี้เป็น “ฝาแฝดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในทฤษฎีที่ถูกอ้างโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงอย่างแน่ชัด

ภาพ “The Man in the Iron Mask” โดย Delaplace (del.), Berthet (sculp.) [Public domain], (Wikimedia Commons)
ภาพ “The Man in the Iron Mask” โดย Delaplace (del.), Berthet (sculp.) [Public domain], (Wikimedia Commons)

บุรุษหน้ากากเหล็กเป็นนักโทษการเมืองผู้โด่งดังในตำนานของฝรั่งเศสและเป็น บุคคลซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เขาถูกจับกุมตัวในปี 1669 ก่อนถูกส่งมาคุมขังในคุกบาสตีย์ (Bastille) จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อปี 1703 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เรื่องราวของเขากลายเป็นเรื่องลึกลับเนื่องจากอัตลักษณ์ของเขาถูกปกปิดตลอด การถูกคุมขัง ตัวตนของเขาจึงถูกคาดเดาไปต่างๆ นานา ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18 หลังการเสียชีวิตของเขาได้ไม่นาน บ้างก็ว่าเขาคือชนชั้นสูงชาวอังกฤษ บ้างก็ว่าเป็น “หลุยส์ เดอ บูร์บง เคาต์แห่งเวอร์มองดัวส์” (Louis de Bourbon, comte de Vermandois) รัชทายาทของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เกิดจาก หลุยส์ เดอ ลา วาลีแยร์ (Louise de La Vallière) นางบำเรอของพระองค์

วอลแตร์ (Voltaire) นักเขียนและนักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพลของฝรั่งเศสก็มีส่วนในการกระพือทฤษฎีสมคบ คิดกับเขาด้วย วอลแตร์อ้างว่า บุรุษหน้ากากเหล็กคือพี่ชายของพระเจ้าหลุยส์ ก่อนที่ดูมาส์ผู้แต่งนิยายสามทหารเสือจะรับช่วงแต่งเติมให้ดราม่ายิ่งขึ้นไปอีกว่าเขาคือฝาแฝดของพระเจ้าหลุยส์ แต่ล่าสุด พอล ซอนนิโน (Paul Sonnino) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซานตาบาร์บารา (University of California, Santa Barbara, UCSB) ได้ออกมายืนยันว่า บุรุษหน้ากากเหล็กมิได้มีชาติกำเนิดสูงส่งตามที่ร่ำลือและหน้ากากที่ปกปิดอัตลักษณ์ของเขาก็มิได้ทำจากเหล็กตามตำนานด้วย

“นักประวัติศาสตร์ที่จริงจังเขาไม่ให้ราคากับตำนานที่ถูกทำให้แพร่หลายโดยวอลแตร์และดูมาส์ซึ่งอ้างว่าเขาเป็นฝาแฝดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มานานแล้ว ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าชื่อของเขาคือ อุสตาช ดูจีร์ [Eustache Dauger] และเขาก็สวมหน้ากากเป็นครั้งคราวเท่านั้น อีกทั้งหน้ากากที่เขาสวมก็เป็นผ้ากำมะหยี่ไม่ใช่เหล็ก” ซอนนิโนกล่าว

“พวกเขา [นักประวัติศาสตร์] ยังเชื่อกันว่า ชายผู้นี้คือคนรับใช้ สิ่งที่พวกเขาพยายามหาคำตอบกันก็คือว่า ชายผู้นี้เป็นคนรับใช้ของใคร และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาถูกคุมขังภายใต้มาตรการที่เข้มงวดกว่า 30 ปี”

ซอนนิโนเสนอว่า ดูจีร์ น่าจะเป็นคนรับใช้ในผู้ดูแลคลังสมบัติของพระคาร์ดินัลมาซาริน (Mazarin) อัครมนตรีผู้มั่งคั่งแห่งฝรั่งเศสในช่วงที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งมรดกของพระคาร์ดินัลรายนี้ก็ตกทอดมาถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ด้วย

“สิ่งที่ผมบอกได้ก็คือ…ทรัพย์สินมหาศาลของมาซารินส่วนหนึ่งได้ชิงมาจากอดีตกษัตริย์และราชินีของอังกฤษ และอุสตาชก็ถูกจับกุมไม่กี่ปีหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ล่อให้พระโอรสของพวกเขา ซึ่งเป็นกษัตริย์อังกฤษในขณะนั้น [พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2] ร่วมทำสงครามกับพระองค์ด้วย [สนธิสัญญาลับแห่งโดเวอร์] ดูจีร์คงไปเผลอพูดอะไรไม่เข้าท่า และถูกข่มขู่ตอนถูกจับว่าหากเขาเปิดเผยตัวตนต่อผู้ใดเขาจะถูกฆ่าทันที” ซอนนิโนกล่าว

เมื่อถามว่าเหตุใดตัวตนของชายหน้ากากเหล็กจึงเป็นปริศนา หาข้อสรุปไม่ได้มาเป็นเวลานานกว่า 300 ปี ซอนนิโนตอบว่า นักประวัติศาสตร์พยายามสร้างเรื่องให้ดูสอดคล้อง ตามครรลอง และมีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่ตลอดเวลา แต่ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จาก UCSB กล่าวว่า “ชีวิตมันก็มีเรื่องที่ไม่เมกเซนส์ มนุษย์มีความซับซ้อนมากมายยิ่งกว่านั้น”


อ้างอิง: “Mystery Unmasked” โดย จิม โลแกน (Jim Logan); UCSB
The Man in the Iron Mask, French convict; Encyclopedia Britannica