ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | กิติกร มีทรัพย์ |
เผยแพร่ |
“พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” เขตพระราชฐานส่วนใน “พระราชวังเมืองลพบุรี” สมเด็จพระนารายณ์ มีทางลับจริงหรือ!?
สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเป็นผู้แสวงหาความรู้ใหม่ๆ เสมอ โดยเฉพาะจากยุโรป ใน พ.ศ. 2208 ทรงซ่อมสร้างเมืองลพบุรีเมืองโบราณให้สมบูรณ์ มีบาทหลวงชื่อ โทมัสโซ วัลกูอา เนรา ซึ่งเป็นชาวซิซิลี เดินทางมาจากมาเก๊า กับบาทหลวงชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่ง ช่วยกันออกแบบเรื่องสร้างป้อมค่ายและพระที่นั่ง โดยโปรดร่วมปรึกษาการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ดี มีนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นชี้ว่า ยังมีสถาปนิกชาวเปอร์เซียและอินเดียช่วยด้วย โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมการวางอาคารพระที่นั่งให้มีที่ว่างระหว่างตัวอาคาร เพื่อการทำสวนหย่อมและแปลงดอกไม้แบบเปอร์เซีย มีหลักฐานฝีมือช่างชาวเปอร์เซียและอินเดียที่ซุ้มประตูโค้งแบบเปอร์เซียที่เรียกว่า ออกี อาร์ค (ogee arch) หรือทรงกลีบบัวหลวง ซึ่งแต่เดิมเชื่อกันว่าเป็นโค้งแหลมแบบกอธิค ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สวนสวย พระที่นั่งงามช่วยบำบัดพระราชหฤทัยเครียดได้ส่วนหนึ่ง!
พระราชวังเมืองลพบุรีประกอบด้วย 3 เขตพระราชฐาน บนเนื้อที่ 52 ไร่ เขตพระราชฐานส่วนนอก ประกอบด้วย ตึกพระเจ้าเหา อาคารเลี้ยงรับรองแขกเมือง อาคารสิบสองท้องพระคลัง และถังน้ำประปาใหญ่ กับโรงช้างม้าพระที่นั่ง 10 โรง เขตพระราชฐานส่วนกลาง ประกอบด้วย พระที่นั่งจันทรพิศาลและพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท ด้านหลังพระที่นั่งจันทรพิศาลปัจจุบันเป็นเรือนพระประเทียบ (ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4) ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บริเวณนี้เป็นสวนหย่อมและสวนดอกไม้สวยงามแบบเปอร์เซีย
สำหรับเขตพระราชฐานส่วนในนั้น ประกอบด้วย พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ตำหนักพระราชธิดาและเรือนพระสนม กล่าวเฉพาะพระที่นั่งองค์นี้สมบูรณ์ด้วยความแข็งแรง กำแพงล้อมรอบมั่นคง มีประตูใหญ่เป็นทางหนีทีไล่ถึง 4 ประตู คือ ด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้าง ที่เบื้องหน้าพระที่นั่งเป็นสวนพันธุ์ไม้แปลกๆ และทางเดินมีเตาเผากำยาน (จัดวางไว้เป็นระยะๆ) จรุงกลิ่นหอมหวนอยู่ตลอดเวลา มีสระน้ำใสแบบเปอร์เซียริมพระที่นั่งสมพระเกียรติยศอย่างแท้จริง บนกำแพงกั้นโดยรอบทั้ง 3 ด้าน มีช่องชวาลา (niche) เป็นร้อยช่อง ใช้ตามไฟยามค่ำให้สว่างไสว!
อนึ่งป้อมปืนภายในกำแพงวังนั้น มีป้อมปืนถึง 5 แห่ง เป็นป้อมปืนที่ไม่มีหลังคาแต่มีช่องวางปืนใหญ่สำหรับยิงในแนวราบด้วย แสดงให้เห็นถึงการป้องกันศัตรูที่แข็งแรงอย่างมาก จงใจออกแบบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะ กับมีทางลับเป็นพิเศษสำหรับพระองค์ด้วย
พระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นผลของการใช้พลังความสามารถเพื่อนิรมิตสิ่งใหม่ที่งดงามสมพระเกียรติอย่างยิ่ง เป็นกลไกทางจิตแบบสร้างสรรค์-ครีเอทีฟ ทางจิตวิทยาว่าเป็นเรื่องการทดใช้แบบซับลิเมชั่น (sublimation) เต็มที่
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” ในพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ที่หายไป?
- บทบาท “ตึกพระเจ้าเหา” อนุสรณ์สถานรัฐประหารยึดอำนาจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
หมายเหตุ : คัดบางส่วนจากบทความ “เมืองลพบุรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มุมมองทางจิตวิทยาประวัติศาสตร์ (Psychohistory Viewpoint)” เขียนโดย กิติกร มีทรัพย์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562