ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ลูกสาวใครหนอ” เพลงต้องห้ามของ “ชาย เมืองสิงห์” จอมพลสฤษดิ์ ห้ามออกอากาศ?
ไม่ว่าจะในยุคไหนก็ตาม หลากหลายสิ่งมักถูกตีตราว่าเป็น “สิ่งต้องห้าม” แม้กระทั่งเสียงร้องเพลงก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามได้เช่นกัน ดังปรากฏในเหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของชาย เมืองสิงห์ ว่าเมื่อสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เคยมีคำสั่งห้ามเพลงจังหวะฝรั่งออกวิทยุ จนเพลง “ลูกสาวใครหนอ” ถูกสั่งห้ามไปด้วย
ชาย เมืองสิงห์ มีนามจริงว่า “สมเศียร พานทอง” เขาคือนักร้องเจ้าของฉายา “แมน ซิตี้ ไลอ้อน” คนใกล้ชิดบางทีก็เรียกว่า “ลิงแดง” จากน้ำเสียงแหลมเล็ก ร้องเล่นลูกคอหลายชั้นเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ร้องได้หลายแนว ทั้งลิเก รำวง แหล่ เพลงพื้นบ้าน ฯลฯ
ด้วยความที่ชาย เมืองสิงห์ เคยบวชเรียนที่สิงห์บุรี ทำให้ซึมซับลีลาการเทศน์ของพระซึ่งลูกคอลูกเอื้อนก็แตกต่างกัน เมื่อมาเป็นนักร้องลูกทุ่งจึงเป็นนักร้องที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังที่เลิศชาย คชยุทธ อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของชาย เมืองสิงห์ ในคอลัมน์ลูกทุ่งลูกกรุง ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน พ.ศ. 2537 ว่า
“อย่างพระเทศน์มหาชาติหน้าเทศกาลอะไรต่ออะไรผมไปฟังบ่อย เวลาพระเทศน์จะมีทำนอง ไม่ว่าจะสวดสังคหะ หรือสวดอะไรก็ตาม บางทีก็สวดวังเวง ผมก็อาศัยได้ฟัง อีกอย่างหนึ่งผมเป็นคนชอบทางนี้อยู่แล้ว ชอบดูลิเก เขาเอื้อนยังไง บางทีผมต้องไปส่งแม่ประจำทุกวันโกนวันพระ ไปรับไปอยู่คลุกคลีที่วัดฟังพระเทศน์มั่ง มีพระนักเทศน์นักแหล่เก่งๆ มา ท่านก็เอื้อนลูกคอยังโง้นยังงี้ พระท่านก็ชอบ ท่านก็สอนให้ ผมก็จดจำเอามา”
ขณะที่ชายเมือง สิงห์ เป็นนักร้องในวงดนตรีจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล ตั้งแต่ปี 2504 มีผลงานแผ่นเสียงมากมาย แต่ละเพลงฮิตติดหู แต่มีเพลงชื่อ “ลูกสาวใครหนอ” ซึ่งมีปัญหาอยู่บ้าง แม้จะโด่งดังแค่ไหน ใครอยากฟังมากเท่าใดก็หาฟังลำบาก เนื่องจากสมัยนั้น รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ สั่งห้ามวิทยุออกอากาศ (เพลงนี้ ชาย เมืองสิงห์ ร้องในช่วง พ.ศ. 2505-2509)
ชาย เมืองสิงห์ เล่าถึงที่มาที่ไปว่า
“ตอนนั้นเป็นยุคที่เอลวิส เพรสลี่ กำลังมีชื่อเสียง จอมพลสฤษดิ์แกก็สั่งห้ามเพลงจังหวะฝรั่งออกวิทยุ เพลงลูกสาวใครหนอผมร้องจังหวะออฟบิด ซึ่งเป็นจังหวะสากลจึงถูกสั่งห้าม ยุคนั้นเป็นยุคที่วัยรุ่นคลั่งไคล้กันมาก แกเลยสั่งไม่ให้เปิดเพลงของผมเลยออกอากาศไม่ได้ จะร้องได้ก็ตอนออกหน้าเวที ด้วยเหตุนี้ทำให้แผ่นเสียงขายดีขึ้นมาเรื่อยๆ คนก็สนใจ ธรรมดาก็ไม่เกี่ยวกัน ไม่มีเนื้อหาในเรื่องการเมืองอะไรหรอก เพียงแค่เป็นจังหวะสากลไปหน่อยเดียวเท่านั้น ซึ่งวัยรุ่นสมัยนั้นบ้ากันอยู่”
“ยุคแรกเพลงที่ผมพอใจและรักเอามากๆ มี มาลัยดอกรัก, น้ำนิ่งไหลลึก หนุ่มหน้ามน, ลูกสาวใครหนอ ยอมรับว่าภูมิใจมากที่ร้องเองแต่งเองแล้วมีคนชอบ ออกร้องที่ไหนคนแน่นยัดทะนานทุกแห่ง ยุคสองเป็นเพลงที่แต่งและร้องเองจากใจแท้จริง เช่น ไม่เป็นไรลืมเสียเถิด, เมียพี่มีชู้, ทำบุญร่วมชาติ”
ในแง่นโยบายของจอมพล สฤษดิ์ นั้น ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เคยวิเคราะห์ไว้ในหนังสือที่แปลเป็นไทยในชื่อ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการจัดระเบียบการเมืองของชาตินั้นคือ การเมืองต้องอาศัยหลักการของไทย ต้องละทิ้งอุดมการณ์ต่างประเทศ และต้องฟื้นฟูอุดมการณ์แบบไทยๆ ให้เป็นอุดมการณ์หลัก
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ยังบ่งชี้ว่า ในการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ. 2501 นั้นก็ถูกอธิบายว่ามีจุดมุ่งหมายขจัดอิทธิพลอันเลวร้ายของต่างชาติที่ทำให้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมในชาติแปดเปื้อนไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อหลัง พ.ศ. 2504 นโยบายการพัฒนาของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ มุ่งไปที่เรื่องความมั่นคงของชาติมากขึ้น และได้รับสนับสนุนช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินจากอเมริกัน
ขณะที่คำบอกเล่าของ เลิศชาย คชยุทธ คอลัมนิสต์กูรูด้านเพลงลูกทุ่งเล่าถึงข้อห้ามเกี่ยวกับเพลงในสมัยก่อนว่า ยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยห้ามเพลงประเภทหนึ่ง อาทิ “เพลงตลาด-เพลงชีวิต” เปิดทางสถานีวิทยุกระจายเสียง เพราะบางเพลงมีเนื้อร้องวิจารณ์โจมตีรัฐบาล
แต่เมื่อสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ข้อห้ามต่างๆ ค่อยคลี่คลายบ้าง การสืบค้นเกี่ยวกับข้อห้ามในด้านเพลงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ยังอยู่ระหว่างค้นหาเพิ่มเติมให้แน่ชัด หากท่านผู้อ่านมีข้อมูลเสริมก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้เช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- “เย้ยฟ้าท้าดิน” เพลงประจำตัวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- “มึงมันชั่ว” เพลงที่นายกฯ อย่างจอมพลสฤษดิ์ทนฟังไม่ได้ และสั่งแบน
-
“อร่อยมั้ย” คำพูดของวิเชียร ภู่โชติ หลังร้องเพลงจบ คำนี้มีนัยอะไร ทำไมถูกใจ “จอมพล สฤษดิ์” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563