ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“อร่อยมั้ย” เป็นคำพูดติดปากที่เป็นเอกลักษณ์ของ วิเชียร ภู่โชติ นักร้องเพลงลูกทุ่ง ที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชอบที่สุด ทุกครั้งและทุกที่ที่วิเชียรไปร้องเพลง เมื่อร้องจบเขามักถามผู้ฟังว่า “อร่อยมั้ย”
“อร่อยมั้ย” คำนี้เอง ที่ถูกใจ “จอมพล สฤษดิ์” เป็นอย่างมาก
เรื่องนี้ ประสาน ศิลป์จารุ (พ.ศ. 2471-?) หรือ “ทองแป๊ะ” นักร้องและนักแสดงตลก ที่ผันตัวเองมาจัดรายการวิทยุ “ขุดคุ้ยคุยแนะ” เป็นคนบอกเล่า
“มีอยู่ปีหนึ่ง ที่กระทรวงกลาโหม เขาครบรอบ เขาก็มีดนตรีของทหารอากาศ รู้สึกจะประมาณปี 2503 หรือ 2504 ดนตรีทหารอากาศนี่ ไอ้เชียร (วิเชียร ภู่โชติ) มันก็จะต้องไปร้อง เมื่อไอ้เชียรขึ้นร้อง มักเลือกเอาเพลง ‘เย้ยฟ้าท้าดิน’ เพลงนี้จอมพลสฤษดิ์ชอบมาก”
เนื่องจากเนื้อร้องกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของคน ผู้ไม่กลัวฟ้ากลัวดิน ซึ่งค่อนข้างตรงกับวิถีชีวิตของ จอมพล สฤษดิ์ ที่หากไม่แน่จริง คงไม่กล้ารัฐประหารยึดอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2501 แล้วขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางศัตรูทางการเมืองที่มีอยู่รอบด้าน
แต่นักร้องที่เคยร้องเพลง “เย้ยฟ้าท้าดิน” ไม่ได้มีแต่วิเชียร แล้วทำไมจอมพล สฤษดิ์ ถึงถูกใจนักร้องคนนี้ยิ่งนัก?
“ผมเองไปในงานนี้ด้วย จอมพล สฤษดิ์ก็นั่งอยู่ ทหารเต็มเลยนั่งกันอยู่ไอ้เชียรมันก็ทะลึ่ง มันร้องจบ เราก็นึกว่ามันจะโค้งแล้วมันจะเข้าโรง แต่จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น มันพูด มันพูดยังไงรู้มั้ย มันบอก ‘อร่อยมั้ย’” ประสานกล่าว
เท่านั้นเอง จอมพล สฤษดิ์ ก็หัวเราะลั่นอย่างชอบอกชอบใจ คนอื่นที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ก็เอ๊ะ อ๊ะ อะไรกัน แบบงง ๆ หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า วิเชียร “ทะลึ่ง” ไม่เลือกที่ หากจอมพล สฤษดิ์ ไม่สบอารมณ์ขึ้นมา คงจะเดือดร้อนกันแน่ เพราะคำดังกล่าวก็เป็นคำที่ จอมพล สฤษดิ์ ชอบใช้เช่นกัน แต่เป็นในบางบริบท
การกลับกลายเป็นว่า จอมพล สฤษดิ์ เอาเงินให้ วิเชียร 1,000 บาท
ส่วนคำนี้มีที่มาจากไหน ใช้เวลาใด จอมพล สฤษดิ์ เจ้าของฉายา “จอมพลผ้าขาวม้าแดง” คือผู้รู้ดีที่สุด
อ่านเพิ่มเติม :
- จอมพล สฤษดิ์ กับ 2 หมอดูประจำตัว ที่ดูแลด้านโหราศาสตร์
- “ข้าพเจ้ารับผิดแต่เพียงผู้เดียว” คำพูดอมตะของ “จอมพลสฤษดิ์”
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เลิศชาย คชยุทธ. “จอมพลผ้าขาวม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับวงการลูกทุ่ง ‘รัก-เดือดดาล’ เพลงไหน-ใครมากที่สุด” ใน, ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2534.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2566