“ฟอลคอน” เขียนหนังสือลับถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือยึดอำนาจสยาม?

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาด ฟอลคอน หรือพระยาวิไชยเยนทร์ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ว่ากันว่ากระแสความเกลียดชัง ตลอดจนแผนการชิงพระราชสมบัติของพระเพทราชานั้น ฟอลคอนพอรู้เรื่องและพยายามหาหลักฐานยืนยันความผิดของพระเพทราชาแต่ไม่เป็นผล ฟอลคอนจึงหาแผนการดึงกำลังทหารฝรั่งเศสเพื่อไว้มาช่วยเหลือตนเองในเวลาจำเป็น

เมื่อคณะทูตฝรั่งเศสชุดแรกจะเดินทางกลับ ฟอลคอนได้มีหนังสือลับมอบให้บาทหลวงตาชาร์ดนำไปให้บาทหลวงเดอ ลาเชส (De la Chaise) พระพี่เลี้ยงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ โดยมีความสรุปว่า

ขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งลูกผู้ดีชาวฝรั่งเศสที่มีคุณสมบัติฉลาดเฉลียว เข้าใจวิธีการปกครองทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ไม่เย่อหยิ่ง ซื่อสัตย์สุจริต และรู้จักรักษาความลับ ซึ่งฟอลคอนรับจะเป็นผู้ช่วยให้ชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ได้รับตำแหน่งสูงๆ ในราชสำนักบ้างและในส่วนภูมิภาคบ้าง เป็นวิธีการแทรกซึมเข้าไปควบคุมระบบราชการไทยอย่างกว้างขวาง และเพื่อให้ดำเนินการเป็นไปได้เรียบร้อย ฟอลคอนขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งทหารปืนใหญ่ และเรือรบพร้อมอุปกรณ์ครบครันเข้ามาด้วย ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสจะได้รับนั้นมีราชอาณาจักรสยามเป็นเดิมพัน

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเห็นด้วยกับคำกราบทูล ทรงเชื่อในข้อมูลที่คณะทูตทูลถวายรายงาน จึงโปรดให้ส่งคณะทูตชุดที่ 2 ซึ่งมี เดอ ลาลูแบร์ (De La Loubère) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเมือง และเซเบเรต์ ดู บูลแลย์ (Cèbéret Du Boullaye) ผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการค้า พร้อมกองทหารประมาณ 600 คน ภายใต้การบังคับบัญชาของรายพลแดฟาร์ช (Gènèral Dèsfargues)

เดอ ลาลูแบร์ ถือคำสั่งสำคัญจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่าให้จัดตั้งศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในอาณาจักรสยามให้เป็นผลสำเร็จ ส่วนนายพลแดฟาร์ชถือคำสั่งให้ยึดเมืองบางกอกไว้ให้ได้ด้วยกำลังทหาร หากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเปลี่ยนพระทัยหรือมีทีท่าไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา

ในระยะเวลาดังกล่าวจึงปรากฏว่ามีบุคคลอยู่ 3 ฝ่าย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันแต่มีวัตถุประสงค์ต่างกันคือฝ่ายไทยต้องการกำลังทหารฝรั่งเศสมาช่วยเหลือหรือถ่วงดุลอำนาจฮอลันดาและอังกฤษ แลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสจะได้รับในอาณาจักรสยามคือ อนุญาตให้เผยแพร่คริสต์ศาสนาได้อย่างเสรี และให้อภิสิทธิ์บางอย่างทางการค้า พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างสัมพันธภาพกับประเทศฝรั่งเศสแต่ในลักษณะอยู่ห่างๆ

ฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งต้องดำเนินการตามพระบรมราโชบายและพระราชประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้เป็นผลสำเร็จ ขั้นแรกคือการแทรกซึมและแผ่อิทธิพลทั้งทางศาสนาและการเมือง โดยมีฟอลคอนเป็นผู้ตระเตรียมลู่ทางการรุกรานโดยสันติในครั้งนี้ และหากจำเป็นก็มีคำสั่งให้นายพลแดฟาร์ชใช้กำลังกองทัพดำเนินการ

ฝ่ายฟอลคอน มีวัตถุประสงค์สำคัญในการที่จะใช้กำลังทหารฝรั่งเศสให้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ในการปกป้องค้ำจุนและรักษาอำนาจอิทธิพลของตนในสยาม แต่ในแวดวงของผลประโยชน์แล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะได้มาอย่างง่ายดาย ยิ่งอุปนิสัยและความคิดเห็นของหัวหน้าแต่ละส่วนแตกต่างไม่ลงรอยกัน ก็ยิ่งเพิ่มความลำบากให้แก่ฟอลคอน

เขาจึงตกอยู่ในฐานะลำบากจากบุคคลที่แวดล้อมเขา

 


อ้างอิง :

หนังสือ การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”. โดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. สำนักพิมพ์มติชน 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2561