ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ไพร่แต่ละหัวเมืองมีภาระหนักเบาในการถูก “เกณฑ์แรงงาน” ไม่เท่ากัน ไพร่ที่อยู่หัวเมืองใกล้กับเมืองหลวง หรือในหัวเมืองชั้นนอกที่ไม่ห่างไกลนัก มักถูก “เกณฑ์แรงงาน” มากกว่าไพร่ในหัวเมืองที่ห่างไกล ในสมัยรัชกาลที่ 5 “เมืองโคราช” หรือนครราชสีมา คือหนึ่งในหัวเมืองที่ถูกเกณฑ์ในอัตราสูง
ทำไมต้องเป็น “โคราช”
บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน อันหมายถึง เมืองโคราช และเมืองขึ้นน้อยใหญ่ ที่เรียกกันว่า “มณฑลลาวกลาง” และ “มณฑลนครราชสีมา” ตามลำดับ มีที่ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำมูลและสาขา โดยมีนครราชสีมาเป็นศูนย์กลาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 นครราชสีมาและเมืองขึ้นน้อยใหญ่จัดเป็นหัวเมืองชั้นใน โดยเป็นตัวแทนของกรุงเทพฯ ในการเข้าจัดการปกครองหัวเมืองในบริเวณที่ราบสูงโคราช

เจ้าเมืองโคราชจึงเป็นเจ้าเมืองที่ได้รับความไว้ใจมากที่สุดเมืองหนึ่ง
เมืองโคราช หัวเมืองในบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่างๆ ในบริเวณที่ราบสูงของสยามทั้งหมด ที่นี่เป็นหัวเมืองหนึ่งที่ถูกเกณฑ์แรงงานและสิ่งของหนักหนากว่าหัวเมืองอื่นๆ ในบริเวณที่ราบสูงของสยามขณะนั้น
เกณฑ์แรงงาน ภาระจากภาครัฐ
ปัจจุบันรัฐเก็บ “ภาษี” เป็นรายได้แผ่นดิน แต่ในอดีตมันก็คือ “ส่วย” ที่เรียกเก็บจากผลผลิตทั้งในรูปแบบของผลผลิตนั้น, สิ่งของอื่นและตัวเงิน กับ “แรงงาน” ที่ถูกเกณฑ์ แบบไม่ใช้ค่าใช้จ่าย มาใช้ทำงานราชการประเภทต่างๆ เช่น
เมื่อเกิดสงครามหรือการกบฏในบ้านเมือง ไพร่บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนจะถูกเกณฑ์ในราชการสงครามทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น “ศึกฮ่อ” ที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2418 เมืองนครราชสีมาได้รับคำสั่งให้เกณฑ์คนเตรียมพร้อมรับศึกฮ่อที่จะยกมาตีด้านหนองคายและโพนพิสัย ให้พระยานครราชสีมาเบิกเงินต่อเสนาเมืองนครราชสีมาซื้อเสบียงไว้ใช้ในราชการ และโปรดฯ ให้เกณฑ์คนตามระหว่างทาง ตั้งแต่เมืองนครราชสีมาลงไปจนถึงเขตแดนเมืองสระบุรี ในสงครามกับฮ่อครั้งนั้น ไพร่ของกองทัพเมืองนครราชสีมาถูกยิงตายไปหลายคน

“วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112” ซึ่งเป็นกรณีพิพาททางชายแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส นครราชสีมาเป็นฐานกำลังสำหรับเตรียมพร้อมที่จะส่งไปป้องกันสยามจากฝรั่งเศส ทางชายแดนด้านหนองคายลงมาจนถึงอุบลฯ มีการตระเตรียมกำลังคนและเสบียงอาหารไว้เป็นจำนวนมาก และมีการปรับปรุงเมืองนครราชสีมาให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์สำหรับป้องกันฝรั่งเศสหากมีการรุกเข้ามา การเตรียมการดังกล่าวทำให้ต้องเกณฑ์แรงงานและทรัพย์สินประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนบนเป็นจำนวนมาก
แม้แต่ในยามสงบ ก็อาจถูกเรียกให้ไปใช้แรงงานได้ เช่น พ.ศ. 2411 มีการเตรียมงานพระเมรุรัชกาลที่ 4 มีคำสั่งให้เมืองนครราชสีมาและเมืองขึ้นเกณฑ์คนไปช่วยด้วย โดยมีคำสั่งให้เลกคงเมืองนครราชสีมาผลัดเปลี่ยนกันลงไปทำพระเมรุ ณ กรุงเทพฯ เดือนละ 1,000 คน
หรือ พ.ศ. 2414 ที่มีการสร้างป้อมเมืองปราจีนบุรี ไพร่หัวเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนก็ถูกเกณฑ์เช่นเคย โดยให้เกณฑ์ทั้งเลกคงเมือง และไพร่สมที่สังกัดตามมูลนายต่างๆ เพื่อลงไปสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรี 4 เดือน เดือนละ 500 คน ถ้าตัวเลกผู้ใดไม่ลงไปทำการก็ให้คิดค่าแรงเดือนหนึ่งคนละ 4 บาท เพื่อจ้างจีนก่อกำแพงต่อไป
อย่างไรก็ตาม โคราชไม่ใช่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยโครงสร้างของดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ ทำให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกอยู่เสมอ หากปีใดผลผลิตไม่ดี รายได้ขัดสน ก็เกิดการอพยพครอบครัวทิ้งภูมิลำเนาไปอาศัยทำมาหากินในเขตแขวงเมืองลาว เมืองเขมร หรือลงไปอยู่ตามแขวงเมืองสระบุรีกรุงเก่าก็มี
อ่านเพิ่มเติม :
- “อีสาน” คำนี้มีความหมายอย่างไร คนอีสานเป็นใครมาจากไหน
- “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” อนุสาวรีย์ “สามัญชน” ผู้ยิ่งใหญ่ แห่งแรกของไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชุมพล แนวจำปา. “ประวัติศาสตร์ความลำเค็ญของชาวนา บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน พ.ศ. 2540.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2568