แช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีนิกายซุนนีคนแรกของไทย กับชะตาชีวิตสุดผกผัน

พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 7 นายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีซุนนีคนแรก
พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 7 ในรูปมีนายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรีซุนนีคนแรก (ที่ 2 จากซ้าย) หน้าโรงแรมที่ประทับ ณ กรุงไคโร (ภาพโดย ศุกรีย์ สะเร็ม, ถ่ายที่มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลาม แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2568)

จุฬาราชมนตรี ตำแหน่งสำคัญของไทยในอดีต ล้วนเป็นผู้มาจากเชื้อสายอินโด-อิหร่าน จนเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ได้มีผู้ดำรงตำแหน่งคนแรกที่เป็นชาวมลายูซุนนี นามว่าแช่ม พรหมยงค์

จุฬาราชมนตรี ตำแหน่งสำคัญในหมู่มวลชนมุสลิมไทย อยู่คู่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไทยมาเนิ่นนานนับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมทีเป็นตำแหน่งที่มักถือครองโดยชาวมุสลิมเชื้อสายอินโด-อิหร่าน แต่หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ทำให้มุสลิมเชื้อสายอื่นได้มีโอกาสเข้าดำรงตำแหน่ง

ความเป็นมาและบทบาทของตำแหน่งจุฬาราชมนตรี

ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด หลักฐานการมีอยู่กล่าวถึงครั้งแรกในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ พ.ศ. 2154-2171) ในจดหมายเหตุของคอร์เนลิส ฟอน ไนเยนโรด (Cornelis Van Neijenrode) หัวหน้าพ่อค้าฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยา ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2155 กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงมีรับสั่งให้ ออกพระจุลา ซึ่งหมายถึงจุฬาราชมนตรี เป็นผู้ไปรับพระราชสาส์นของกษัตริย์อังกฤษ

สันนิษฐานว่า “จุลา” มาจากคำว่า “จุละ” เป็นคำในภาษาอาหรับ และอิหร่าน แปลว่า คณะมนตรีที่ปรึกษา สอดคล้องกับบทบาทจุฬาราชมนตรีในฝ่ายไทย โดยแต่เดิมเป็นตำแหน่งหนึ่งในกรมท่าขวา มีหน้าที่ดูแลกิจการในกรม ได้แก่ การค้า การทูตจากทะเลฝั่งตะวันตก และการควบคุมประชาคมต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมุสลิมที่เข้ามาอาศัยอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร

ขุนนางกรมท่าขวาในฐานะจุฬาราชมนตรีคนแรกที่รู้จักกันดี คือ เฉกอะหมัด ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวอินโด-อิหร่าน นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ รอนแรมจากเปอร์เซียมาค้าขายในกรุงศรียุธยาราวต้นศตวรรษที่ 16 และสร้างผลประกอบการได้เป็นจำนวนมาก จนถูกดึงเข้าไปทำหน้าที่ในราชสำนัก 

ตระกูลเฉกอะหมัดถือว่าเป็นตระกูลที่มีบทบาทมากสุดในกรมท่าขวา ดำรงเรื่อยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ สายสกุลหนึ่งที่แตกออกมา และเป็นที่รู้จักกันดีในสังคมไทยคือ สกุล “บุนนาค”

ภาพวาด เฉกอะหมัด
ภาพวาดเฉกอะหมัด (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จากข้างต้น สายตระกูลเฉกอะหมัด ที่เป็นชาวอินโด-อิหร่าน ได้วางรากฐานอำนาจไว้ในกรมท่าขวา จึงมักได้รับเลือกจากกษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี กระนั้นก็ตามบทบาทของกรมท่าขวาก็เริ่มลดลงในช่วงรัตนโกสินทร์ จากการปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองของพระมหากษัตริย์ในเวลานั้น และการโยกย้ายหน้าที่ของกรมท่าขวาไปให้แก่กรมท่ากลาง อันเป็นกรมที่ควบคุมการค้าหลักในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ท้ายที่สุดสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการยกเลิกงานของกรมท่าทั้งหมด แต่ตำแหน่งจุฬาราชมนตรียังคงมีอยู่ ในฐานะเป็นที่ปรึกษาศาลต่างประเทศของกระทรวงยุติธรรม ดำรงตำแหน่งโดยเชื้อสายชาวอินโด-อิหร่านเช่นเดิม

ทว่าจุฬาราชมนตรี ตำแหน่งสำคัญที่ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเชื้อสายอินโด-อิหร่านก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2475

การปฏิวัติ 2475 และจุฬาราชมนตรีซุนนีคนแรก

ชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรที่มีจำนวนมากในไทย ล้วนมีบทบาทในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ตลอดมา การมีชาวมุสลิมอยู่ในคณะราษฎรจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาคมมุสลิม และเป็นฐานอำนาจหนึ่งในการช่วยเหลือการปฏิวัติ

ในคณะราษฎรมีแกนนำมุสลิมอยู่ทั้งสิ้น 4 คน คือ นายบรรจง ศรีจรูญ, นายประเสริฐ ศรีจรูญ, นายการุณ ศรีจรูญ และ นายแช่ม พรหมยงค์

4 มุสลิมคณะราษฎร แช่ม พรหมยงค์ บรรจง ศรีจรูญ ประเสริฐ ศรีจรูญ การุณ ศรีจรูญ ประวัติ ศรีจรูญ
4 มุสลิมคณะราษฎร (นั่งจากซ้ายไปขวา) แช่ม พรหมยงค์ และบรรจง ศรีจรูญ (ยืนจากซ้ายไปขวา) ประเสริฐ ศรีจรูญ, การุณ ศรีจรูญ และประวัติ ศรีจรูญ พี่ชายคนโต (ไม่ถือเป็นสมาชิกคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ) (ภาพจาก นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2563)

นายบรรจง นายประเสริฐ และนายการุณ เป็นญาติพี่น้องกัน มาจากครอบครัว “ศรีจรูญ” ทางบ้านประกอบกิจการขายปืน ซึ่งมีส่วนช่วยในการลำเลียงปืนให้คณะราษฎร ขณะที่นายแช่มประกอบกิจการขายกาแฟ และเป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาคมมุสลิม เพราะบิดาของท่านนามว่า มุสตาฟา หรือรู้จักกันในชื่อ “ครูฟา” เป็นครูสอนศาสนาที่มีชื่อเสียง ตัวนายแช่มเองก็ไปปฏิบัติพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียมาหลายครั้ง จนได้รับสมญานามว่า ฮัจยีร์อุดดามา หรือฮัจยีร์ใหญ่ แสดงถึงความยอมรับในหมู่ชนมุสลิม

หลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันปฏิวัติสยาม นายแช่มยังคงเดินหน้างานการเมือง ส่วน 3 คนในตระกูลศรีจรูญกลับไปทำธุรกิจของตนเอง

ต่อมาใน พ.ศ. 2488 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายแช่มเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของคณะราษฎร เพื่อเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับกิจการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม

นายแช่ม จึงกลายเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย ที่นับถือ “นิกายซุนนี” และไม่ได้มาจากเชื้อสายอินโด-อิหร่าน แต่เป็นเชื้อสายมลายู

ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 นายแช่มที่ดำรงตำแหน่งได้ราว 2 ปีก็ได้รับผลกระทบ เพราะอาสาพานายปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่รัฐต้องการตัวอยู่ขณะนั้น หลบหนีออกนอกประเทศ เป็นผลให้หลุดจากตำแหน่งจุฬาราชมนตรี และต้องลี้ภัยทางการเมืองเป็นระยะเวลาหลายปี พร้อมกับนายปรีดี ทั้งในสิงคโปร์ และจีน ท้ายที่สุดนายแช่มตัดสินใจลี้ภัยการเมืองอยู่ในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และได้กลับเข้าประเทศไทยเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2496

ส่วนตำแหน่งจุฬาราชมนตรีก็มีการปรับเปลี่ยนหน้าที่ให้เป็นที่ปรึกษาของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ในกิจการเกี่ยวกับศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลามเท่านั้น

นายแช่มนับเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในหมู่ชาวมุสลิมไทย กับบทบาทในฐานะคณะราษฎร และจุฬาราชมนตรี อันเป็นตำแหน่งสำคัญคู่ประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันเปรียบเสมือนผู้นำสูงสุดของชาวไทยมุสลิม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังมัสยิดต้นสนโดยมีนายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรี นำเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังมัสยิดต้นสนโดยมีนายแช่ม พรหมยงค์ จุฬาราชมนตรี นำเสด็จ (นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2563)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. (2544). บทบาทและหน้าที่ของขุนนางกรมท่าขวา ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2153-2435) [วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

จุฬาราชมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย. (n.d.). Retrieved from สำนักจุฬาราชมนตรี: https://www.skthai.org/th/pages/6794-จุฬาราชมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (2568, กุมภาพันธ์ 24). “แช่ม พรหมยงค์” ผู้ก่อการอภิวัฒน์มุสลิม มิ่งมิตรของปรีดี และจุฬาราชมนตรีคนที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์. Retrieved from สถาบันปรีดี พนมยงค์: https://pridi.or.th/th/content/2025/02/2349

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. (2563, มีนาคม). 3+1 มุสลิมีนคณะราษฎร ผู้ก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475. ศิลปวัฒนธรรม, 41(5), 86-118.

นรนิติ เศรษฐบุตร (2559). คนการเมือง. สถาบันพระปกเกล้า.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2568