สกุลมุสลิม “สุนนี” กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลของรัชกาลที่ 3

“มะระหุ่ม” สุสานของสุลต่านสุลัยมาน ริมทะเลสาปสงขลา ด้านหัวเขาแดง

ในปลายสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ “สุลต่านสุลัยมาน” บุตรของโมกุล เชื้อสายอาหรับ ซึ่งสุลต่านแห่งเมืองสุลัย ในชวาภาคกลาง เกิดพิพาทกับพวกเดินเรือชาวโปรตุเกส สุลต่านสุลัยมานพ่ายแพ้ จึงพาครอบครัวและบริวารหลบหนีเข้าสู่อ่าวไทย ราว พ.ศ. 2145 และได้มาขึ้นบกที่แถบอําเภอสทิงพระ (เขตจังหวัดสงขลา ปัจจุบัน) จัดตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งเคยเป็นเมืองพัทลุงเก่าอยู่ก่อน ต่อมาได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ท่านสุลต่านสุลัยมานเป็นเจ้าเมืองพัทลุง และมีลูกหลานหลายสาขาจวบจนปัจจุบัน

ลูกหลานในชั้นต่อๆ มาของสุลต่านผู้นี้ได้เข้ารับราชการในราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ซึ่งเกษม ท้วมประถม, สุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง และประยูรศักดิ์ ชลายนเดชะ เรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ใน “ประวัติมุสลิม ‘สุนนี’ กับสายสัมพันธ์ราชินิกุลราชวงศ์จักรี” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2530 ซึ่งขอสรุปได้ดังนี้

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทําการปราบดาภิเษกแล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ทางเมืองปัตตานีไม่พอใจในการปราบดาภิเษกครั้งนี้ จึงประกาศแข็งเมืองเมื่อ พ.ศ. 2173 ต่อมาสุลต่านสุลัยมาน ก็ประกาศแข็งเมืองเมื่อ พ.ศ. 2185 เจ้าพระยานครศรีธรรมราชคนใหม่ คือ ออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) จึงทำเรื่องกราบทูลไปยังราชสำนักว่า เมืองพัทลุงแข็งเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้กองทัพหัวเมืองทางใต้ร่วมกันปราบอยู่ 2 ครั้ง (ปี 2191, 2198)

หากสุลต่านสุลัยมานยังคงมีอํานาจปกครองกว้างขวางตลอดฝั่งทะเล คือทั้งด้านอ่าวไทยและด้านทะเลอันดามันด้านใต้จรดเขตปัตตานีและไทรบุรี ด้านเหนือติดต่อกับเขตเมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระดําริว่า ในราชอาณาจักร เดียวกันจะมีสุลต่านอีกองค์หนึ่งในพระราช อาณาเขตของพระองค์มิได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทัพหลวงยกไปร่วมกับทัพหัวเมืองภาคใต้ โดยมีกองอาสาโปรตุเกสและดัทช์ร่วมด้วย ยกไปปราบเมืองพัทลุงจนได้รับชัยชนะ เมื่อ พ.ศ. 2223 ในขณะนั้นท่านสุลต่านสุลัยมาน ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว (ศพของท่านสุลต่านสุลัยมานฝังอยู่ริมทะเลสงขลาด้านหัวเขาแดง)

หลังจากท่านสุลต่านสุลัยมานถึงแก่อสัญกรรมแล้ว มุสตาฟา บุตรชายคนโต ก็ขึ้นเป็นสุลต่านแทน ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา กราบทูลว่า มิได้ปรารถนาจะแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยา เพียงแต่ขัดใจกับเจ้าพระยานครฯคนก่อน (ออกญาเสนาภิมุข)

ขณะนั้นเจ้าพระยานครฯ เปลี่ยนใหม่ แล้ว ได้แก่พระยารามเดโชซึ่งเป็นชาวมุสลิมและมีความสัมพันธ์อันดี และเป็นผู้มีพระคุณ แก่พี่น้องของท่านสุลต่านมุสตาฟาทั้งสามคน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเกล้าฯให้ครอบครัวทั้งหมดของท่านสุลต่านมุสตาฟาเข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยา ยกเว้นท่านสุลต่านมุสตาฟาเองซึ่งมีอายุมากแล้ว ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ไปเป็น “พระยาไชยา” โดยปล่อยให้เมืองพัทลุงไม่มีเจ้าเมือง แต่ให้อยู่ในความดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช

ครอบครัวของสุลต่านมุสตาฟาที่ เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ทรงโปรด ให้ชุบเลี้ยงรับราชการด้วยนั้นมี เตาฟิค-บุตรของสุลต่านมุสตาฟา ได้เป็น “หลวงคชสวัสดิ์ราชบังสัน”, ฮุซเซ็น-น้องชายคนกลางสุลต่านมุสตาฟา ได้เป็นปลัดเมืองไชยา, ฮัซซัน-น้องชายคนเล็กของสุลต่านมุสตาฟา ได้เป็น “พระยาราชบังสัน”

บรรดาศักดิ์นี้เพิ่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา เพราะฮัซซันนั้น ชาวบ้านมุสลิมเคารพนับถือเรียกท่านว่า “บังซัน” สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามบรรดาศักดิ์ว่า “พระยาราชบังสัน” ว่าที่แม่ทัพเรือ และตําแหน่งนี้สืบต่อมาในระหว่างบุตรหลานของสุลต่านสุลัยมานเท่านั้น จนกระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นบรรดาลูกๆ ของท่านทั้งสามดังกล่าวต่างก็มีตําแหน่งหน้าที่ในทางราชการกันทุกคน

ต่อมาพระเพทราชาขึ้นเสวยราชย์ก็ทรงโปรดเกล้าฯให้ท่านฮุซเซ็น น้องชายของท่านสุลต่านมุสตาฟาไปเป็นพระยาพัทลุง เนื่องจากพระยานครศรีธรรมราชในขณะนั้น คือ พระยารามเดโชเป็นมุสลิมไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง พระเพทราชาก็โปรดให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นแม่ทัพหลวงยก ไปปราบและให้พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) เป็นแม่ทัพเรือล้อมเมืองนครศรีธรรมราช ไว้ทั้งทางบกและทางทะเล

ศึกครั้งนี้ พระยานครฯ (พระยารามเดโช) หนีไปได้ ด้วยความช่วยเหลือของ พระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) จัดเรือลําหนึ่งไว้ ให้หลบหนี พระเพทราชาทรงกริ้วมาก จึงโปรดให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตเสียที่ เมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง ครอบครัวของพระยาราชบังสัน (ฮัซซัน) ยังคงพํานักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แต่เงียบหายไปไม่ปรากฏเรื่องราวอีก

ต่อมาในรัชสมัยของขุนหลวงสรศักดิ์ (พระพุทธเจ้าเสือ) พระยาไชยา (ท่านสุลต่านมุสตาฟา) ได้ถึงแก่อสัญกรรม ก็ได้โปรดเกล้าฯให้หลวงคชสวัสดิ์ราชบังสัน (เตาฟิค) ไปเป็นพระยาไชยาและเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิชิตภักดีศรีพิชัยสงคราม”

ส่วนลูกๆ ของท่านเตาฟิคยังคงอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เป็นชาย 4 คน ชื่อ หลวงราชหลวงราญ ขุนลักษมณา (คําว่า “ลักษมณา” Laksamana ในภาษาอินโดนีเซียและมลายู แปลว่า “นายพลเรือ”) ขุนสมุทร อีก 2 ท่าน ไม่ทราบว่าชื่ออะไร (มีชายทั้งหมด 6 คน) ติดตามบิดาไปอยู่เมืองไชยา ต่อมาเรียกกัน ว่า “ท่านมูดาฮุซเซ็น” (เข้าใจว่าจะเป็นท่าน “ฮุซเซ็น” ตอนเป็นอุปราช (Raja Muda) ผู้ช่วยของท่านสุลต่านมุสตาฟา ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูล “มูดาฮุซเซ็น” ที่ไชยา อีกตระกูลหนึ่งคือ ตระกูล “คชสวัสดิ์” และอีกสายหนึ่ง คือ สกุล “หวันมุดา” ท่านเหล่านี้เป็นมุสลิม

ส่วนบุตรชายคนที่ชื่อ ขุนลักษมณา (บุญยัง) ได้ไปทําสงครามมีความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานนางห้าม ชื่อ “หม่อม ดวง” เป็นภรรยา มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ “หมุด” ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้เป็นหลวงศักดิ์นายเวร ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ (สมเด็จเจ้าฟ้าพระที่นั่งสุริยามรินทร์) กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

ทางด้านเมืองพัทลุงนั้น สมัยขุนหลวงสรศักดิ์ (พระพุทธเจ้าเสือ) ได้โปรดให้บุตรของพระยาพัทลุง (ฮุซเซ็น) ชื่อท่านตะตา ผู้ซึ่งเคยเป็นพระพี่เลี้ยงของขุนหลวงสรศักดิ์ สมัยยังเป็นนายเดื่อ (บุตรของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอันเกิดจากเจ้าหญิงเชียงใหม่ และเป็นบุตรบุญธรรมของพระเพทราชา) ให้เป็นพระยาราชบังสัน (แม่ทัพเรือ) แทน ท่านฮัซซันผู้เป็นอา และน้อง ๆ ของท่าน ตะตาก็ได้เป็นหลวงศรีประดุกาคนหนึ่ง (“Paduka” เป็นภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า Excellency” หรือ พณหัวเจ้าท่าน) หลวงทิพ เทวาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบิดาของพระภักดีเสนา พระภักดีเสนานี้ ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองตะกั่วป่า แล้วย้ายไปเป็นพระยาพัทลุง ต่อจากพระยาราชบังสัน (ตะตา) และถูกเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อไปช่วยรบกับพม่า ทั้งหมดรับราชการและตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นสกุลขุนนางแขกสุนนี เชื้อสายอาหรับ (แต่ยังคงมีการสมรสกับมุสลิมแขกแพในกรุงศรีอยุธยาอยู่บ้าง)

ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระต่อถึงพระเจ้าบรมโกศ พระยาพัทลุง (ฮุซเซ็น) ถึงแก่อสัญกรรม โปรดให้พระยาราชบังสัน (ตะตา) ไปเป็นพระยาพัทลุง เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาแก้วโกรพพิชัย” ส่วนลูกๆ ของท่านยังคงพํานักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ชื่อ ขุน, เผือก, เมือง, อิน รับราชการต่อมา มีครอบครัวอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ท่านที่ชื่อ “ขุน” เป็นมหาดเล็กและเป็นคนรุ่นเดียว กับท่านหมุด บุตรขุนลักษมณา (บุญยัง) ซึ่งก็เป็นญาติกันด้วย และเป็นเพื่อนกับท่านทองด้วง ท่านสิน ท่านบุนนาค (สายท่านเฉกอะหมัด) จนถึงแผ่นดินสุดท้าย ท่านเหล่านี้ ต่างก็มีตําแหน่งใหญ่โตขึ้น ท่านหมุดได้เป็นหลวงศักดิ์นายเวร (หลวงนายศักดิ์) ท่านสิน ได้เป็นยกกระบัตรเมืองตาก ท่านด้วงได้เป็นยกกระบัตรเมืองราชบุรี ส่วนท่านเมือง (บุตร ท่านตะตา) ได้เป็นพระยาจะนะ มีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาอานุภาพ (เมือง) ต้นตระกูล “ศิริธร”

ท่านหมุดหรือหลวงนายศักดิ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงไปเก็บภาษีต่างๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ขณะนั้นเมืองจันทบูรณ์เป็นเมืองใหญ่ ก็พอดีกรุงแตก (พ.ศ. 2310) พี่น้องในสกุลนี้หลายคนเสียชีวิต ในการรบป้องกันกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น เช่น พระยาภักดีเสนา (เป็นบุตรของพี่ชายพระยาราชบังสันตะตา) ซึ่งเป็นนายทหารก็ถึงอสัญกรรมในสนามรบ

หลวงนายศักดิ์ (หมุด) เก็บภาษีได้ 300 ชั่ง ยังไม่ทันกลับเข้ากรุง พอได้ทราบข่าวกรุงแตก พระยาจันทบุรีขอรับเงินภาษีไว้เอง หลวงนายศักดิ์ไม่ยอมจะขอเก็บรักษาไว้ก่อนยังไม่เป็นการตกลงกัน หลวงนายศักดิ์จึงได้นําเงินจํานวนนี้ไปฝังไว้ในวัดจันทร์ แล้วตกค่ำลง หลวงนายศักดิ์แต่งให้จีนโห่ร้องมาปล้น แล้วแจ้งแก่พระยาจันทบุรีว่า เงินค่าส่วยค่านานั้นได้ถูกคนร้ายปล้นสะดมไปหมดแล้ว พระยาจันทบุรีจึงสั่งให้จําหลวงนายศักดิ์ แต่หลวงนายศักดิ์ก็ได้พยายามต่อสู้ ด้วยกําลังจีนโต้เหี่ย ตั้งใจจะรบกัน

แต่ยังไม่ทันได้ลงมือ ทัพพระเจ้าตากก็ไปถึง พระยาจันทบุรีไม่ยอมให้เข้าเมืองได้ต่อสู้รักษาเมืองไว้ หลวงนายศักดิ์หลบหนีออกมาเฝ้าพระเจ้าตาก ด้วยเป็นผู้ที่เคยสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก่อนตั้งแต่เยาว์วัย และได้พาจีนโต้เที่ยจํานวน 500 คน กับเงินที่ฝังไว้ 300 ชั่ง มอบให้แก่พระเจ้าตากและร่วมมือกันยึดเมืองจันทบุรีไว้ได้ แล้วสร้างกําลังเรือรบขึ้น โดยใช้เงินค่าส่วยค่านาที่หลวงนายศักดิ์มอบให้เป็นทุนสําคัญ

เมื่อพระเจ้าตากตั้งกรุงธนบุรีขึ้น มหาดเล็กหนุ่มรุ่นนั้น ต่างก็ได้ดีกันทุกคน ท่านขุนได้ไปเป็นพระยาพัทลุง เลื่อนเป็นพระยาแก้ว โกรพพิชัย แทนบิดา (ท่านตะตา) ต่อมาท่าน ผู้นี้ได้รับพระบรมราชโองการให้มารับราชการ ในราชสํานักกรุงธนบุรี ครอบครัวของท่าน ในกรุงธนบุรี เป็นต้นตระกูล “ณ พัทลุง” และ “สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง”

เมื่อพระยาแก้วโกรพพิชัย (ขุน) กลับมารับราชการในกรุงธนบุรีแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ “ท่านเผือก” น้องชายท่านขุน ไปเป็นพระ ยาพัทลุงแทน ท่านผู้นี้เป็นต้นตระกูล “วัลลิโภดม”

ส่วนท่านอิน (น้องอีกคนหนึ่ง) ไปเป็นพระยาจะนะ (แทนเจ้าพระยามหาอานุภาพ ผู้พี่) บุตรหลานของท่านผู้นี้ใช้นามสกุล “ศิริธร” เช่นเดียวกับบุตรหลานของพระยา

สําหรับหลวงนายศักดิ์ (หมุด) ได้ ความดีความชอบมาก โปรดให้เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปเป็นกองหน้าไปที่ชุมนุมเจ้านคร (เข้าใจ ว่าขณะนั้นหลวงนายศักดิ์คงดํารงตําแหน่ง พระยายมราช) กล่าวกันว่า เมื่อได้รับพระบรมราชโองการแล้ว ท่านได้เดินทางไปเมืองไชยา พร้อมด้วยกําลังทหารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ท่านได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระยาไชยา (ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเอง) ช่วยเหลือจัดการต่อเรือให้ที่ท่าชนะ พร้อมกับเกณฑ์ ผู้คนที่ชํานาญการทางเรือตั้งเป็นกองเรือ ยกไปตีเมืองนครได้ (กําลังทหารทั้งนายและพล จากเมืองไชยา)

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จึง โปรดเกล้าฯให้เลื่อนเป็น “เจ้าพระยาจักรี” ในประวัติศาสตร์เรียกท่านว่า “เจ้าพระยาจักรีแขก”

เรื่องราวของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) นี้ยังมีอีกมาก อาทิ เช่น การเดินทางไปจับ เจ้าพระยานคร กับพระยาพิมลขันธ์ (สามีท้าวเทพสตรี) จากเมืองปัตตานีมาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นต้น บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชบังสัน (จุ้ย) ดํารงตําแหน่งแม่ทัพเรือ ส่วนตําแหน่งพระยายมราชนั้นได้แก่ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง)

ในระหว่างรับราชการ เจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นที่โปรดปรานมาก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานที่ดินใกล้พระราชวัง ระหว่างวัดหงส์รัตนารามกับวัดโมลีโลกยาราม ให้เป็นที่พักอาศัยของบรรดาญาติพี่น้องของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ได้อยู่รวมกัน ให้มีมัสยิด “กุฎีใหญ่” หรือมัสยิดต้นสนปัจจุบัน มีบริเวณสุสานที่กว้างขวางมากในบริเวณกุฎีใหญ่ด้วย เมื่อเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ถึงแก่อสัญกรรม โปรดให้ฝังศพของท่านไว้ ณ สุสานแห่งนี้ และพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จมาร่วมในพิธีฝังศพด้วย

สายสกุลขุนนางมุสลิมสุนนี้เชื้อสายอาหรับสกุลนี้ ได้รับราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งรับราชการในกรุงธนบุรี ท่านมีบุตรธิดาหลายคน ในจํานวนนี้มีคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อ “กลิ่น” ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ถวายตัวเป็นพระสนม ชื่อ “เจ้าจอมมารดากลิ่น” มีโอรสองค์หนึ่งชื่อ “พระองค์เจ้าสุทัศน์” ซึ่งเป็นต้นสกุล “สุทัศน์ ณ อยุธยา” และบุตรชายอีกคนหนึ่งชื่อ “ทองขาว” ได้เป็น หลวงศักดิ์นายเวร ในรัชกาลที่ 1

ต่อมาเมื่อพระยาพัทลุง (ขุน) และพระยาพัทลุง (เผือก) ถึงแก่อสัญกรรม ท่านทองขาวได้รับแต่งตั้งเป็น “พระยาพัทลุง” แทน ส่วนญาติพี่น้องสายอื่น ๆ ที่รับราชการอยู่ ก็มีตําแหน่งกันมี เช่น พระศรีวรขาน (มี) หลวงศรียศและตําแหน่งอื่นๆ อีกหลาย ท่าน

ส่วนพระยาราชบังสัน (จุ้ย) บุตรเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น พระยายมราช (จุ้ย) และบุตรของพระยายมราช (จุ้ย) ชื่อแม้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชบังสัน (แม้น) ตําแหน่งแม่ทัพเรือ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงรําลึกถึงพระสหายคือ เจ้าพระยาจักรี (หมุด) จึงทรงโปรดเกล้าฯให้บุตรชายของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) คนน้องชื่อ “หวัง” เข้ามารับราชการในกรุง

แต่เนื่องจากขณะนั้นบุตรของพระยายมราช (จุ้ย) คนโต ชื่อ “แม้น” ดํารงตําแหน่งพระยาราชบังสัน แม่ทัพเรืออยู่ก่อนแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ “ท่านหวัง” เป็น พระยาราชวังสัน (หวัง) คงไม่ใช่ตําแหน่งแม่ทัพเรือ เข้าใจว่าคงเกี่ยวกับการควบคุมการเดินเรือทะเลบรรทุกสินค้าของพระองค์เอง เพราะเป็นธรรมเนียมมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วว่า พระเจ้าแผ่นดินจะทรงผูกขาดการค้าขายทางทะเลแต่ผู้เดียว

พระยาราชวังสัน (หวัง) มีภรรยาหลายคน คนหนึ่งมีบุตรชื่อ “ท่านหมุด” และ “ท่านเกตุ” และเป็นต้นสกุล “ชลายนเดชะ” ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ “ท่านน้อย” ซึ่งต่อมามีธิดาชื่อ “เสม” ได้ทําการสมสกับ พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว อะหมัดจุฬา) มุสลิมฝ่ายชีอะห์

ส่วนภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อ “คุณหญิงชะ” เป็นชาวสวนสกุลคลองบางเชือกหนัง คุณหญิงชะมีบุตรีหลายคน มีคุณหญิงศรีสรราช หรือ “พระนมรอด” พระชนนีเพ็ง และ คุณหญิงปล้อง พระชนนีเพ็ง สมรสกับพระยานนทบุรี ศรีมหาอุทยาน ซึ่งเป็นชาวพุทธ มีบุตรีคนหนึ่งชื่อ “เรียม” ต่อมาได้เป็น “เจ้าจอมมารดาเรียม” ในรัชกาลที่ 2

ส่วนคุณหญิงปล้องสมรสกับพระยาพัทลุง (ทองขาว) ซึ่งเป็นญาติสายพัทลุง มีบุตรหลายคน บุตรคนหนึ่งชื่อ “ท่านผ่อง” ได้สมรสกับพระอักษรสมบัติ และมีบุตรีคนหนึ่งชื่อ “ทรัพย์” ซึ่งต่อมาได้เป็น เจ้าจอมมารดาทรัพย์ ในรัชกาลที่ 3

สําหรับเจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ 2 ได้ประสูติพระโอรส 3 พระองค์ ทรงพระนามว่า “พระองค์เจ้าทับ” ซึ่งต่อมา ได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์เจ้าป้อม และพระองค์เจ้าหนูดํา ทั้งสองพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์

เมื่อพระองค์เจ้าทับทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงได้สถาปนาพระชนนี คือ เจ้าจอมมารดาเรียม เป็น “สมเด็จพระศรีสุลาลัย บรมราชชนนี” และพระมารดาของสมเด็จพระศรีสุลาลัยบรมราชชนนี ก็ได้รับขนานพระนามว่า “พระชนนีเพ็ง” ญาติทางสายนี้จึงเรียกว่าเป็น สายราชนิกุล ในรัชกาลที่ 3

ส่วนเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ 3 นั้น ประสูติพระโอรสชื่อ “พระองค์เจ้าศิริวงศ์” หลานของพระยาพัทลุง (ทองขาว) และคุณหญิงปล้องราชวังสัน เป็นต้นสกุล “ศิริวงศ์ ณ อยุธยา” ซึ่งเป็นพระบิดาของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 4 และเป็นพระราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ด้วย

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ญาติคนหนึ่งของเจ้าพระยาจักรี (หมุด) ซึ่งมีเชื้อสายทางไทรบุรี น้องสาวคนหนึ่งของหลวงคชสวัสดิ์ราชบังสัน (เตาฟิค) ได้สมรสกับสายสกุลพระยาไทรบุรี ได้อพยพครอบครัวมาอยู่กับญาติในตําบลข้างวัดหงส์รัตนาราม ปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ชื่อ ท่านเจ๊ะซอและห์ พร้อมด้วยบุตรชายชื่อ “อาลี”

ท่านเจ๊ะซอและห์เคยเฝ้าพระองค์เจ้าทับอย่างใกล้ชิด เมื่อพระองค์เสด็จมาทรงเยี่ยมพระญาติฝ่ายพระชนนี (คือเจ้าจอมมารดา เรียม) ที่หมู่บ้านมุสลิมสุนนี ปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) ท่านเจ๊ะซอและห์ เคยทํานายพระลักษณะพระองค์เจ้าทับว่า จะได้เป็นกษัตริย์ พระองค์เจ้าทับมิได้ทรงเชื่อถือนัก แต่ก็รับสั่งว่าถ้าได้เป็นจริงจะไม่ลืมท่านเจ๊ะซอและห์

ต่อมาเมื่อพระองค์ท่านได้ขึ้นครองราชย์ แล้ว ก็ได้รับสั่งให้ตามหาท่านเจ๊ะซอและห์ แต่ท่านเจ๊ะซอและห์ได้สิ้นชีวิตเสียก่อนแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้บุตรชาย คือ “ท่านอาลี” เข้ารับราชการในกรมการค้าสําเภาหลวงของพระองค์ ซึ่งมีกองพาณิชย์นาวีอยู่เป็นอันมาก

ท่านอาลีมีความรู้เรื่องการเดินเรือมา ก่อน จึงทรงแต่งตั้งให้มีตําแหน่งเป็นนายเรือ เรียกว่า “นาโคดาลี” คําว่า “นาโคดา” เป็นภาษามลายแปลว่า “นายเรือ” หรือ “กัปตัน เรือ” ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงโกชาอิศหาก” (เป็นต้นสกุล “ทองคําวงศ์”) ประจําท่าเรือสินค้าจากต่างประเทศ ท่านผู้นี้มีญาติพี่น้องร่วมงานกันอีกหลายท่าน เช่น ท่านหมัด (ต้นหน) ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หลวงศิริภาษา” (บิดาของคุณย่าปุย ศรีจรูญ คุณย่าเพิ่ม ศรีสง่า, คุณย่าถม ท้วมประถม, คุณย่าปริก ฉัตรสุวรรณ) สายสกุลทองคําวงศ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากท่านหลวงโกชาอิศหากนี้ น่าจะใช้ชื่อสกุลว่า “ทองคําวงศ์ ณ ไทรบุรี” ได้

กล่าวโดยสรุป สกุลมุสลิมสุนนีสายอาหรับจากพัทลุงได้มีบทบาทสําคัญอยู่ในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ทั้งในภาคใต้ กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ มาโดยตลอด บางส่วนของเชื้อสายนี้ยังคงเป็นมุสลิม ซึ่งบําเพ็ญคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินไทยอยู่ตลอดมา บางส่วนเป็นพุทธศาสนิก บางท่านเป็นสมาชิกในพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงเป็นพระบรมวงศ์ชั้นสูงหรือชั้นสูงสุดด้วย


เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 17 มกราคม 2563