รัชกาลที่ 5 พระราชทานเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดบ้าง และปีละกี่บาท?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉาย พระบรมฉายาลักษณ์ กับ พระราชโอรส ณ โรงเรียนอีตัน เสด็จประพาสยุโรป 16 มหาสาขา จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ ประกอบบทความ พระราชโอรสรัชกาลที่ 5 (บางพระองค์) ที่เสด็จไปเรียนต่อต่างประเทศและทรงกลับมารับราชการ เบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชโอรส ที่โรงเรียนอีตัน คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระราชทานเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดบ้าง และพระราชทานปีละกี่บาท

เรื่องนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า

“คราวนี้จะกล่าวถึงเงินปี เบี้ยหวัดของเจ้าต่อไป ทุกคนเกิดมา พอรู้ว่าอยู่ไม่ตายและได้พระราชทานชื่อแล้ว ก็ได้พระราชทานเบี้ยหวัด คือเงินประจำปี ตามตำแหน่งยศ หรือที่ทรงกะพระราชทานเป็นพิเศษ เป็นการชุบเลี้ยงพระราชวงศ์ ซึ่งทรงเป็นประมุข

ผู้ใดเกิดก่อนก็สะสมไว้ได้มากตามเวลา หรือสิ้นพระชนม์ซับซ้อนมรดกตกต่อกันลงมาเป็นขั้นๆ ก็เรียกว่ามั่งมี มีที่ทางต่อออกมาก็เพราะรับจำนำหลุด หรือเป็นของได้มาทางมรดก หรือพระราชทาน พูดตามงบประมาณอันเป็นส่วนมาก ไม่ใช่พวกพิเศษอันมีจำนวนน้อยกว่าแล้ว ก็เป็นดังนี้”

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์ ที่รัชกาลที่ 5 พระราชทาน ได้แก่

พระราชทานพระราชโอรส ปีละ 12,000 บาท

พระราชทานพระราชธิดา ปีละ 6,000 บาท

พระราชทานพระเจ้าพี่และน้องเธอ ปีละ 4,800 บาท

พระราชทานพระเจ้าหลานเธอ ปีละ 2,400 บาท

เจ้านายเหล่านี้ทรงรับเป็นงวด คือ 3 เดือนครั้งหนึ่ง เรียกว่า “เงินงวด” ส่วนชั้นหม่อมเจ้าต่างวังทุกรัชกาลนั้นมีเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงพระราชทานได้เพียงแต่ให้รู้สึกตัวว่าเป็นพระญาติที่ทรงชุบเลี้ยงอยู่ คือได้รับเมื่อเป็นเด็ก ปีละ 20 บาท พอโกนจุกแล้วขึ้นเป็นปีละ 40 บาท

ถ้าพระญาติพระองค์ใดทรงประพฤติดีมีความชอบอย่างใดก็ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มขึ้น แต่ถ้าทำผิดจะถูกตัดหรือหยุดพักการพระราชทานชั่วคราว

ส่วน “เจ้าผู้หญิงที่หนีไปมีผัวเป็นไพร่สกปรก ก็ยังได้พระราชทานปีละ 6 บาท จนมีคำเรียกกันว่า ‘เจ้า 6 บาท’ ในสมัยก่อนนี้” หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ทรงเล่า

เห็นได้ว่า แม้เชื้อพระวงศ์สตรีจะทำผิดกฎมณเฑียรบาล แต่รัชกาลที่ 5 ก็ยังทรงมีพระเมตตาพระราชทานเบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์ให้อยู่ แม้จะเป็นจำนวนที่ลดลงก็ตาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เบี้ยหวัดพระบรมวงศานุวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ขณะเดียวกัน ยังมีพระบรมวงศ์ที่รัฐบาลทูลเกล้าถวายเงินประจำปีด้วยอีก 8 พระองค์ ได้แก่

1. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (ด้วยทรงทำราชการเป็นผู้สำเร็จราชการมาก่อน) ปีละ 200,000 บาท

2. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ปีละ 300,000 บาท

3. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ปีละ 40,000 บาท

4. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ปีละ 40,000 บาท

5. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ปีละ 40,000 บาท

6. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา ปีละ 40,000 บาท

7. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ปีละ 40,000 บาท

8. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ปีละ 40,000 บาท

นอกจากเจ้านายชั้นสูงทั้ง 8 พระองค์ รัฐบาลก็ไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินปีแก่พระองค์ใดเพิ่มเติม หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยจึงทรงกล่าวว่า

“ฉะนั้น เจ้าทั้งหลายจึงไม่เคยเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเกินกว่าคนสามัญโดยสถานหนึ่งสถานใด กล่าวคือถ้าทำงานได้ก็ได้เงินเดือนตามตำแหน่งนั้นๆ ถ้าใครทำงานไม่ได้ก็กินเงินที่ทรงชุบเลี้ยง และเก็บสะสมหากินไปเงียบๆ ตามกำลังการศึกษา การเลี้ยงชีพของพวกตน…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. กรุงเทพมหานคร: อักษรไทย, 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2568