
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ทำไมโบราณสถานถึงฝังอยู่ใต้ดิน? บางแหล่งซ้อนทับหลายยุคหลายชั้นนานนับพันปี
ซากโบราณสถานอันเป็นร่องรอยอารยธรรมของมนุษย์มักถูกฝังกลบอยู่ใต้ดินในระดับความลึกมากน้อยต่างกันไป ยิ่งเก่าแก่เป็นพันปีก็ยิ่งอยู่ลึกมาก ทับถมต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แล้วสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมโบราณสถานถึงฝังอยู่ใต้ดิน?
การสะสมของชั้นตะกอนตามกาลเวลา
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้โบราณสถานถูกฝังไว้ใต้ดิน คือ กระบวนการทางธรรมชาติ เช่น ลม ฝน น้ำ ซึ่งมักนำพาดินตะกอนสะสมอยู่เหนือสิ่งก่อสร้างเดิม เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยหลายพันปี ตะกอนเหล่านี้ก็ทับถมสะสมหนาได้หลายเมตร จนทำให้ระดับพื้นดินสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ซากสิ่งก่อสร้างถูกฝังกลบกลายเป็นชั้นใต้ดิน
ในบางพื้นที่ที่มีฝุ่นละออง และทรายจำนวนมาก เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบน้ำท่วมถึง หรือทะเลทราย การสะสมที่ก่อให้เกิดชั้นดินก็จะยิ่งเร็วมากขึ้น และถ้ามีลมแรง บวกกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ก็สามารถพัดพาตะกอน ฝุ่นละออง และทรายเคลื่อนที่ไปปกคลุมสิ่งก่อสร้างภายในเวลาไม่กี่ปี

การล่มสลายของเมืองและการก่อสร้างทับซากเดิม
อารยธรรมโบราณมักสร้างซ้อนทับกัน เมื่ออารยธรรมหนึ่งล่มสลาย อันเกิดจากสงคราม โรคระบาด การย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว มนุษย์ในยุคต่อมามักจะไม่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมออกทั้งหมด แต่จะปรับระดับพื้นให้เรียบก่อน แล้วจึงก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ทับลงไป
เมืองโบราณหลายเมืองจึงมีลักษณะเป็นชั้น ๆ ซ้อนกันอยู่ใต้ดิน โดยในแต่ละชั้นจะสะท้อนความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ฯลฯ
ภัยพิบัติธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติอย่าง เช่น ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ น้ำท่วม ดินถล่ม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายอารยธรรมฝังอยู่ใต้ดิน อย่างเหตุการณ์ภูเขาไฟวิสุเวียสระเบิด เมื่อ ค.ศ. 79 ที่ถล่มเมืองปอมเปอี และเมืองเฮอร์คิวลานีอุม ในดินแดนอิตาลียุคโรมันโบราณ ก็สามารถฝังเมืองทั้งเมืองไว้ในพริบตา เศษฝุ่นละอองต่าง ๆ รวมถึงเถ้าถ่านร้อนจากภูเขาไฟได้ฝังกลบทั้งเมืองเอาไว้ การฝังอย่างฉับพลันนี้ช่วยรักษาโครงสร้าง และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้คงสภาพเกือบสมบูรณ์ ทำให้เราได้เห็นสภาพวิถีชีวิตของชาวโรมันโบราณได้อย่างชัดเจน
ขณะที่สึนามิ น้ำท่วม และดินหรือโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ลาดชันที่อยู่ใกล้ภูเขา ก็มีผลคล้ายคลึงกัน ซึ่งตะกอนจำนวนมหาศาลสามารถฝังกลบเมืองทั้งเมืองได้ในระยะเวลาอันสั้น

การทิ้งร้างและการปกคลุมโดยธรรมชาติ
เมื่อเมืองโบราณถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมก็จะค่อย ๆ ผุพัง ป่าจะเริ่มเจริญเติบโตเข้าปกคลุมตัวเมือง พืชที่ขึ้นใหม่จะดึงดินมาทับถมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศษซากจากการผุพังของอาคารจะทำให้เกิดการทับถมกันเป็นชั้น ๆ กระบวนการนี้อาจใช้เวลานานนับร้อยปี และในที่สุดก็จะสร้างชั้นดินหนาที่สามารถกลบซากโบราณสถานเอาไว้ได้
นอกเหนือจากเมืองปอมเปอี และเมืองเฮอร์คิวลานีอุม แล้ว ตัวอย่างเมืองโบราณที่ฝังอยู่ใต้ดินก็ยังพบอีกหลายแห่งทั่วโลก เช่น กรุงเอเธนส์ พบซากโบราณสถานจำนวนมากในชั้นใต้ดินเมื่อมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์โบราณเคยใช้พื้นที่เดียวกันในลักษณะที่ต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย
เมืองอูรุก เมืองโบราณทางตอนใต้ของอิรัก ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 7,000 ปี ที่ครั้งหนึ่งเคยจมอยู่ใต้ผืนดินและทรายที่ซ้อนทับกันหลายชั้น

เมืองมายาโบราณในดินแดนอเมริกากลาง ซึ่งถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าดิบชื้นปกคลุมสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จนเมื่อเวลาผ่านไปโบราณสถานก็ถูกปกคลุมจนกลายเป็นเพียงเนินดินธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเบื้องล่างกลับเป็นสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมขนาดใหญ่
ในดินแดนประเทศไทยเองที่เห็นได้ชัดเจน คือ เมืองโบราณเวียงกุมกาม ที่ครั้งหนึ่งเผชิญกับภัยน้ำท่วมครั้งรุนแรง จนทำให้เมืองล่ม และจมอยู่ใต้ดินนานหลายร้อยปี

การที่โบราณสถานหรือซากสิ่งก่อสร้างถูกฝังอยู่ใต้ดินเป็นผลมาจากปัจจัยทางธรรมชาติ และมนุษย์ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ และการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับซากโบราณสถานเหล่านี้จึงช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการของอารยธรรมต่าง ๆ ในแต่ละยุคสมัยได้ดียิ่งขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “ขุนเดช” (ตัวจริง) ผู้พิทักษ์โบราณสถานแห่งสุโขทัย ศรีสัชนาลัย
- เจาะเรื่อง “เขาคลังนอก” มหาสถูป “เมืองศรีเทพ” ข้อมูลจากปากคนใน เมื่อครั้งอนุรักษ์พัฒนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://youtu.be/wyTOYEk_Z2Y?si=AQd7Gd_9xZO3TeFo
https://www.sciencefocus.com/planet-earth/why-do-we-have-to-dig-so-deep-to-uncover-ancient-ruins
https://www.iflscience.com/why-the-remains-of-ancient-civilizations-are-usually-buried-underground-70300
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2568