ตามรอย “ขุนเดช” (ตัวจริง) ผู้พิทักษ์โบราณสถานแห่งสุโขทัย ศรีสัชนาลัย

ขุนเดช มหาจิระเดช จิระเดช ไวยโกสิทธิ์
ขุนเดช (แถวหลังคนแรกจากขวา) มีผู้ระบุว่าได้ภาพต้นฉบับจากนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อดีตข้าราชการกรมศิลปากร (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 8 พฤษภาคม 2559)

วันที่ 13 มกราคม 2528 คือวันถึงแก่กรรมของขุนเดช (ตัวจริง) หรือ “จิระเดช ไวยโกสิทธิ์” ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้น ชุด “ขุนเดช” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ

จิระเดช ไวยโกสิทธิ์ คือลูกจ้างของกรมศิลปากร จังหวัดสุโขทัย ผู้ดูแลโบราณวัตถุสถานของชาติแห่งเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย อยู่ร่วมสมัยกับ ขรรค์ชัย บุนปาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ สองกุมารสยาม โดยช่วงเวลาที่ทั้งสองท่านยังเป็นนักศึกษา มีโอกาสได้ติดตามและเรียนรู้เกี่ยวกับโบราณสถานในเมืองศรีสัชนาลัย โดยเฉพาะ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้นำเรื่องราวของ จิระเดช ไวยโกสิทธิ์ เกี่ยวกับการดูแลแหล่งโบราณคดีและปกป้องสมบัติของชาติจากพวกโจรลักลอบขุดโบราณวัตถุ เรียบเรียงเสริมจินตนาการเป็นวรรณกรรมเรื่อง “ขุนเดช” ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ด้วย (คลิกชมภาพ ใบปิดภาพยนตร์ขุนเดช ปี 2523)

“ขุนเดช” จากบทประพันธ์ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นเรื่องราวของวีรบุรุษผู้พิทักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ ขณะเดียวกันเขาคือนักฆ่าผู้โด่งดังและเลือดเย็น เป็นที่หวั่นเกรงของเหล่าโจรผู้ร้าย เรื่องราวของขุนเดช มีพื้นหลังเป็นกรุงศรีสัชนาลัยและสุโขทัย หากมีการโจรกรรมโบราณวัตถุ มิจฉาชีพเหล่านั้นจะต้องเผชิญหน้ากับท่านผู้นี้ ก่อนพบจุดจบอันน่าสยดสยอง คดีความในที่เกิดเหตุมักถูกเมินเฉยจากทางการ ศพของโจรผู้ร้ายยังถูกชาวบ้านแช่งชักหักกระดูกว่าสมควรแก่โทษทัณฑ์ที่ได้รับแล้ว ส่วนตอนจบคือการแก้แค้นของขุนเดชเพื่อบิดาของตน โดยการบั่นศีรษะผู้ฆ่าบิดาเพื่อบูชาพระศิลาและยุติเพลิงแค้นที่อัดแน่นในใจตัวเอกผู้นี้มาตั้งแต่เยาว์วัย

แม้วรรณกรรมนี้จะเรียบเรียงจากจินตนาการ แต่แรงบันดาลใจจากตัวตนของนายจิระเดช ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงมีผลต่องานเขียนชิ้นนี้ไม่น้อย ในอดีตท่านมักถูกเรียกขานว่า “อามหา” (อา-มะ-หา) หรือ มหาจิระเดช จากบรรดานักศึกษาโบราณคดี และถือเป็นบุคคลที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นับถือดุจครูบาอาจารย์อีกคน เพราะท่านเป็นผู้ชำนาญในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและการขุดแต่งโบราณสถานละแวกนั้นได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งรับหน้าที่พี่เลี้ยงนักศึกษาวิชาโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งมาลงพื้นที่เป็นประจำทุกปีด้วย จึงไม่แปลกที่นักศึกษาจะยกย่องและมองท่านเป็นบุคคลต้นแบบ

มหาจิระเดช กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้แต่งเรื่องสั้นชุด “ขุนเดช” ซึ่งถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 8 พฤษภาคม 2559)

มีข้อสันนิษฐานว่า อีกหนึ่งแรงบันดาลใจของบทประพันธ์ “ขุนเดช” คือเรื่องราวของ “นายเทียน” จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ท่านผู้นี้เป็นอีกคนที่เคยดูแลพื้นที่โบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยในอดีตก่อนยุคของมหาจิระเดช นายเทียนจะตระเวนไปทั่วศรีสัชนาลัยเพื่อถากถางพงหญ้า สอดส่องดูแลโบราณสถานไม่ให้โจรมาขุดค้นหรือทำลายเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ นายเทียนยังมีโอกาสถวายงานรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จประพาสศรีสัชนาลัย โดยคอยนำชมนำเที่ยวและบอกชื่อวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ตลอด 13 วันที่เสด็จพระราชดำเนิน

เรื่องราวของนายเทียนถูกบอกเล่ากันสืบมารุ่นสู่รุ่น รวมถึงวงสนทนาที่ประกอบด้วยชาวบ้าน อาจารย์ และนักศึกษาที่มาลงพื้นที่ ซึ่งมหาจิระเดชก็ร่วมวงอยู่ด้วย ชาวบ้านยังมักมองและเปรียบเทียบท่านว่าเหมือนนายเทียนทั้งประวัติ บทบาทหน้าที่ และการแต่งกายที่คล้ายคลึงกัน คือ นุ่งกางเกงขาก๊วย ใส่เสื้อม่อฮ่อม มีมีดอีโต้เหน็บหลังเป็นอาวุธ และที่สำคัญคือมีหน้าที่ดูแลโบราณสถานเช่นเดียวกับนายเทียน

เหล่านี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ นำเรื่องราวและบุคลิกของท่าน ผสมกับเรื่องเล่าของนายเทียน ร้อยเรียงเป็นตัวละครในวรรณกรรมอันโดดเด่น ทำให้ชื่อของขุนเดชเต็มไปด้วยมนต์ขลัง น่าเกรงขาม สะท้อนตัวตนคนรักชาติที่มีจิตสำนึกของความรักและหวงแหนมรดกของแผ่นดิน

ขอส่งท้ายด้วยบทกลอนที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ แต่งให้มหาจิระเดช ดังนี้

จงเป็นขุนสุโขทัยในสยาม   อยู่เหนือความเชื่อโลกนรกสวรรค์

เป็นขุนเดชจิระเดชเพศสามัญ   เป็นเสื้อคำสำคัญสุโขทัย

ให้ในน้ำมีปลานาเต็มเข้า   เมืองบ่เอาอันระบอบจกอบไพร่

ทั้งอิฐดินหินผาพนาลัย   มันผู้ใดทำลายอย่าไว้มัน ฯ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มติชนออนไลน์ (8 พฤษภาคม 2559) : ชาวสุโขทัยแห่แชร์ภาพ ‘ขุนเดช’ตัวจริง ฮือฮา! รูปขณะสำรวจ ร่วมเฟรม’สุจิตต์’ผู้แต่ง. (ออนไลน์)

Facebook เทศบาลเมืองศรีสัชนาลัย (11 ตุลาคม 2561) : ขุนเดชคือใคร? (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2566