“ทูตไทย” คนสุดท้ายที่สาธารณรัฐจีน ทำไมเป็นข้าราชการอายุ 64 ปี

ทูตไทย
สถานทูตไทยในประเทศจีน (ภาพจาก : https://thaiembbeij.org/th)

“ทูตไทย” หรือเอกอัครราชทูตไทยประจำ “สาธารณรัฐจีน” คนสุดท้าย ก่อนจะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” คือ พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) ข้าราชการบำนาญ อายุ 64 ปี

“ทูตไทย” ประจำสาธารณรัฐจีน คนสุดท้าย

ทูตไทย
พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค)

พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค) (พ.ศ. 2427-2504) เนติบัณฑิตอังกฤษ เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษา (พ.ศ. 2456), อธิบดีกรมประกาศิต กระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2471), อัครราชทูตประจำกรุงโรม (พ.ศ. 2472), ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2475) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (พ.ศ. 2476) ฯลฯ

ใน พ.ศ. 2491 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่งตั้งพระยาอภิบาลราชไมตรีเป็นเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐจีน ซึ่งขณะนั้นจีนมี “พรรคก๊กมินตั๋ง” เป็นรัฐบาล มี “นานกิง” เป็นเมืองหลวง และมีสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคก๊กมินตั๋ง

เวลานั้นพระยาอภิบาลราชไมตรีอายุ 64 ปี เกษียณจากราชการปกติแล้ว

ทำไมต้องเป็นพระยาอภิบาลราชไมตรี

เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และหลานปู่ของพระยาอภิบาลราชไมตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นการแต่งตั้งทางการเมือง” เพราะรัฐบาลไทยต้องการแสดงท่าทีต่อสหรัฐอเมริกาว่า “ไทยสนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋ง” ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

การส่งนักการทูตอาวุโสที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงนานกิง อาจเป็นการยืนยันว่าไทยอยู่ฝ่ายโลกเสรี ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

พระยาอภิบาลราชไมตรีเดินทางถึงนานกิงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 สถานการณ์เวลานั้นพรรคก๊กมินตั๋งค่อนข้างเสียเปรียบ เพราะสูญเสียเมืองสำคัญหลายเมืองทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือให้พรรคคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์สามารถยึดเมืองหลวงได้ในเดือนเมษายน  พ.ศ. 2492

ทูตไทย
พรรคคอมมิวนิสต์ที่บุกเข้ายึดเมืองต่างๆ ในภาพเหมาเจ๋อตงหนึ่งในผู้นำของพรรคเข้ามาถึงปักกิ่ง (ภาพจาก หนังสือ China 100 Years of Revolution)

นับว่ารัฐบาลเลือกไม่ผิดที่ส่งพระยาอภิบาลราชไมตรีเป็นทูต แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่รายงานที่พระยาอภิบาลราชไมตรีส่งให้รัฐบาลหลังกลับมาประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรายงานสถานการณ์ในนานกิงและวิเคราะห์สาเหตุที่พรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้, การวิเคราะห์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เวลานั้นรับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตจะขัดแย้งกันเอง, ปัญหาลัทธิคอมมิวนิสต์ในไทย ฯลฯ

เช่นนี้จึงมีคำว่า “ขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธันวา วงศ์เสงี่ยม. ลูกเจ้าพระยาในกระแสการเปลี่ยนแปลง, กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2565.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2568