“สีแสด” กับ “สีส้ม” สีไหนมาก่อนหรือมาพร้อมกัน เริ่มใช้ 2 คำนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

สีแสด กับ สีส้ม
สีไม้สีส้ม (ภาพจาก : pixabay)

สีแสด กับ สีส้ม สีไหนมาก่อนหรือมาพร้อมกัน เริ่มใช้ 2 คำนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

เดี๋ยวนี้เวลาเรียกสีที่มีความเหลืองเจือแดง ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็จะเรียกกันว่า “สีส้ม” ทว่าก็มีอีกคำหนึ่งปรากฏในพจนานุกรมฉบับเดียวกัน ที่ถ้าพูดถึงสีแดงอมเหลืองก็จะเรียกได้เช่นกันนั่นคือ “สีแสด” แต่ปัจจุบันในชีวิตประจำวันแทบไม่มีใครเรียกกันแล้ว

แล้ว สีแสด กับ สีส้ม คำไหนมาก่อนกัน เริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่?

ส้ม (ภาพจาก : pixabay)

ในบทความของขนิษฐา น้อยบางยา เรื่อง ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ: กรณีศึกษาคำเรียกสีจีวรพระสงฆ์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ บอกว่า สมัยสุโขทัยมีคำเรียกสีพื้นฐานอยู่ 5 สี ได้แก่ ขาว ดำ แดง เหลือง เขียว 

ก่อนที่ต่อมาจะพบอีก 4 คำ คือ สีชมพู ใน พ.ศ. 1991-2026 สีฟ้าและสีม่วง ใน พ.ศ. 2275-2301 และสุดท้ายคือสีแสด พ.ศ. 2145-2170

ส่วนช่วงกรุงรัตนโกสินทร์พบคำที่เกี่ยวข้องกับสีอีก 3 คำ คือ สีเทาและสีน้ำเงิน ในสมัยรัชกาลที่ 1 และสีน้ำตาล ในสมัยรัชกาลที่ 2

ขณะเดียวกันคำว่าสีแสดที่เคยปรากฏใน พ.ศ. 2145-2170 ในเวลาต่อมาก็มีคำว่าสีส้มเข้ามาแทนที่ (ไม่ปรากฏว่าเมื่อไหร่) 

จึงทำให้เกิดข้อ 2 สันนิษฐานในวงวิชาการว่า 1. คำว่าสีส้มมาทีหลัง 2. คาดว่ามาพร้อมกับสีแสด แต่ใช้เรียกต่างสีกัน

กุหลาบสีส้ม (ภาพจาก : pixabay)

เรื่องนี้ ขนิษฐาเชื่อว่าสีส้มน่าจะมาทีหลังสีแสด และได้รับความนิยมกว่า จนทำให้คำว่าสีแสดค่อย ๆ หายไปจากสังคมไทย มากกว่าที่ทั้งสองคำจะมาพร้อมกัน โดยให้เหตุผลว่า…

“สาเหตุที่ผู้วิจัยคาดว่าคำเรียกสีแสดและส้มไม่น่าจะเป็นคำเรียกสีที่มีใช้พร้อมกัน แต่ใช้เรียกสีคนละสีกัน ก็คือหากคำเรียกสีทั้งสองคำนี้มีใช้พร้อมกันจริงในอดีต จากการศึกษาข้อมูลในวรรณกรรมสมัยอยุธยาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 หากพบคำว่า ‘แสด’ ก็น่าจะพบคำว่า ‘ส้ม’ ปรากฏบ้าง

แต่จากการศึกษาของผู้วิจัยพบแต่คำว่าสี ‘แสด’ เท่านั้น ไม่ปรากฏคำว่า ‘ส้ม’ ที่ใช้เป็นคำเรียกสีเลย

ดังนั้นผู้วิจัยจึงสันนิษฐานว่าคำเรียกสีแสดและคำเรียกสีส้มนั้นไม่ได้มีใช้พร้อมกัน”

พร้อมกับอธิบายต่อไปอีกว่า การเรียกสีแสดไปเป็นส้ม เป็นการเปลี่ยนแปลงของคำเรียก ไม่ใช่การเปลี่ยนของระบบการจำแนกสีในภาษา จะเห็นว่าประเภทของสีก็ยังมีแค่ 1 สี ซึ่งการเปลี่ยนนี้เป็นไปในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะจะมีช่วงหนึ่งที่คนเรียกเป็นส้มบ้าง แสดบ้าง แต่ก็มีความหมายเหมือนกัน จนในที่สุดคนก็เรียกสีส้มมากกว่าในยุคปัจจุบัน

แล้วท่านผู้อ่านล่ะ คิดว่าสีส้มมาพร้อมกันหรือมาทีหลังกับสีแสด?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ขนิษฐา น้อยบางยา. ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ: กรณีศึกษาคำเรียกสีจีวรพระสงฆ์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์. วารสารสถาบันวิจัยพิมลธรรม ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม) 2564.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2568