ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงชอบ “สีส้ม”? เปิดที่มาที่ไป และ “ความหมาย” ของสีส้ม

สีส้ม ส้ม
ภาพ : pixabay

“สีส้ม” เป็นอีก สี ที่ได้นับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งอาจมาจากความฉูดฉาดและความโดดเด่นที่สะท้อนออกมาจากสี แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว สีส้มก็ยังแสดงให้เห็นถึงนัยอันลึกซึ้งด้วยเช่นกัน

สีส้ม (Orange) เกิดมาจากคำว่า “naranga” ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่าต้นส้ม ก่อนจะกลายเป็นคำว่า “narang” ในภาษาเปอร์เซีย รวมถึง “naranj” ในภาษาอาหรับ และหลังจากการสื่อสารที่ผิดเพี้ยน ต้นส้มจึงถูกเรียกว่า “orenge” ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ ก่อนจะกลายมาเป็น “orange” คำภาษาอังกฤษดั่งในปัจจุบัน

หลังต้นส้มจากอินเดียถูกนำเข้าไปในยุโรป สีส้มก็กลายเป็นหนึ่งในสีหลักซึ่งถูกนำไปใช้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งในวงการศิลปะ รวมถึงศาสนา

สีส้มที่โดดเด่นที่สุดครั้งหนึ่งในวงการศิลปะอยู่ในยุคอิมเพรสชันนิสม์ ยุคแห่งการปฏิวัติทางศิลปะ เพื่อหลุดจากกรอบงานศิลป์อนุรักษนิยมแบบเดิม ๆ มีจุดเริ่มต้นมาจากภาพ “Impression, Sunrise” ของโคลด โมเนต์ (Claude Monet) ภาพที่แสดงให้เห็นถึงแสงสีส้มของดวงอาทิตย์ที่นุ่มนวลและโดดเด่นบนท้องฟ้า กับแสงสะท้อนบนพื้นทะเลที่ดูสั่นไหว แต่ก็แผ่แสงออกมาเป็นเส้นตรงอย่างงดงาม

ในวงการศาสนา สีส้มเป็นสีหนึ่งซึ่งสามารถแทนถึงคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ นิกายที่แยกตัวออกมาจากคาทอลิก ซึ่งถูกมองว่ามีการครอบงำสังคมและการเมืองของยุโรปในยุคกลางมากเกินไป

สีส้มถูกนำมาใช้อย่างมีนัยสำคัญในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษใน ค.ศ. 1688 ที่ “วิลเลียมแห่งออเรนจ์” เจ้าชายโปรเตสแตนท์จากราชวงศ์ของดัตช์นำทัพบุกอังกฤษ และทำการปฏิวัติกษัตริย์เจมส์ที่ 2 กษัตริย์คาทอลิก ก่อนนำพาอังกฤษเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ภายใต้คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์

ในแง่ของความหมายแล้ว “สีส้ม” ถูกตีความเอาไว้อย่างหลากหลาย วาสซิลี แคนดินสกี (Wassily Kandinsky) ศิลปินผู้มีภาวะซินเนสทีเซีย (คนที่เห็นเสียง ได้ยินสี) อธิบายถึงสีส้มไว้ว่า “สีส้มก็เหมือนชายคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในพลังอำนาจของตนเอง เป็นสีแดงที่เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากที่สุดโดยสีเหลือง”

ขณะที่บริษัทโฆษณาของอเมริกาแห่งหนึ่งระบุไว้ส่วนหนึ่งว่า “สีส้มแสดงถึงความผจญภัย การเข้าถึงง่าย ความเปิดเผย ความเชื่อมั่นในตนเอง ความสร้างสรรค์ทันสมัย ความไม่เป็นพิธีรีตอง”

ในศาสนาฮินดู ให้ความหมายสีส้มไว้ว่าเป็น “สีที่เผาทำลายความเมินเฉยไม่ใส่ใจ” สีส้มในศาสนานี้จึงเป็น สี ของชุดสำหรับนักบวช หรือผู้บำเพ็ญตน ซึ่งคาดว่าอาจเป็นที่มาของการสวมจีวรสีส้มของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธด้วยเช่นกัน

สีส้มยังถูกใช้เป็นสีของ “พรรคการเมือง” ในประเทศต่าง ๆ เช่น พรรคประชาธิปไตยใหม่ในแคนาดา พรรคประชาชนแห่งชาติในจาไมก้า พรรคยัวร์มูฟเมนต์ในโปแลนด์ ฯลฯ ซึ่งพรรคทั้งหมดล้วนมีทิศทางทางการเมือง และต้องการนำเสนอพรรคของตนในทิศทางที่เป็นพรรคหัวก้าวหน้า แต่ก็ไม่ได้เอนเอียงไปทางฝั่งซ้ายมากเกินไป

ส่วนในประเทศไทยก็มี “พรรคก้าวไกล” ที่ใช้สีส้มเป็นสีประจำพรรค และสามารถสร้างประวัติศาสตร์กวาดที่นั่ง ส.ส. ได้มากสุดในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2566

สีส้มยังถูกใช้ในการเคลื่อนไหวของมวลชน เช่น เมื่อครั้งวิคเตอร์ ยานูโควิช โกงการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการประท้วงขึ้น ครั้งนั้นผู้ประท้วงใช้ “ผ้าพันคอสีส้ม” เป็นสัญลักษณ์ และที่ยูเครนเช่นกัน วิคเตอร์ ยูชเชนโก หัวหน้าพรรค “Our Ukraine” (ยูเครนของเรา) ก็ใช้สีส้มเป็นสีประจำพรรค มีการตั้งเตนท์สีส้มขึ้นทั่วประเทศ จนท้ายสุดการเลือกตั้งครั้งต่อมา พรรคยูเครนของเราก็ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลในที่สุด

เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกตีความว่าเป็น “ออเรนจ์ ฟีเวอร์” ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ส่งผลกระทบมาถึงอำนาจอันมั่นคงของรัสเซียในยูเครนเลยทีเดียว

นอกจากสีสันอันสดใส ฉูดฉาด ดูแล้วสดชื่น สบายตา สีส้มก็ยังเป็นสีที่อยู่คู่กับการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ซิมป์สัน, พอล. The Color Code รหัสนัยแห่งสี. แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ (แบบเว็บไซต์) ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2567