“เงินเหรียญนก” ต่างชาติใช้ค้าขายกับสยามยุค ร.4 แต่เกิดปัญหาเพราะอะไร?

เงินเหรียญนก เงินเหรียญตัวนก เม็กซิโก
เงินเหรียญของเม็กซิโก ที่ใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าในสยาม ในภาพระบุปีผลิตคือ ค.ศ. 1840 (พ.ศ. 2383) (ภาพ : Windrain, CC BY-SA 4.0 , via Wikimedia Commons)

“เงินเหรียญนก” เป็นเงินสำคัญที่ต่างชาติใช้ค้าขายกับสยามยุครัชกาลที่ 4 แต่เกิดความวุ่นวาย เพราะช่วงหนึ่งราษฎรอิดออดไม่ยอมรับ จนรัชกาลที่ 4 ต้องทรงออกประกาศแก้ไขปัญหา

เงินเหรียญดังกล่าวเป็นชื่อเรียกเหรียญเงินของเม็กซิโก ที่พ่อค้าชาวต่างชาตินำมาใช้เป็นสื่อกลางซื้อขายสินค้ากับสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

เหรียญเงินนก เม็กซิโก การค้า รัชกาลที่ 4
เหรียญนกของเม็กซิโก ที่ครั้งหนึ่งเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนสินค้าในหลายพื้นที่ทั่วโลก (ภาพ : Wikimedia Commons)

ที่ได้ชื่อว่า “เหรียญนก” เพราะด้านหนึ่งของเหรียญเป็นรูปนกอินทรีคาบงู ส่วนอีกด้านเป็นรูปหมวก ในหมวกมีอักษร LIBERTAD และมีรัศมีเปล่งออกไปโดยรอบ

ขอบเหรียญจากซ้ายไปขวามีรูปดาว 1 ดวงอยู่หน้าตัวเลข ระบุมูลค่าของเหรียญ เช่น 8R หมายถึง ราคา 8 เรียล ตามด้วยปีที่ผลิต ชื่อย่อของเมือง และโรงกษาปณ์ที่ผลิต ชื่อย่อของผู้อำนวยการโรงกษาปณ์และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และตัวย่อแสดงความบริสุทธิ์ของเนื้อเงิน

เหรียญนกของเม็กซิโกผลิตจากเงินคุณภาพดี ลวดลายคมชัด มีน้ำหนักมาตรฐาน อีกทั้งขอบเหรียญเป็นเฟือง ปลอมแปลงได้ยาก ทำให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก รวมทั้งในสยามยุครัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 4

แต่แล้วก็เกิดปัญหาจนได้สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อพ่อค้าต่างชาตินำเหรียญนกมาแลกเปลี่ยนสินค้าตามปกติ แต่ชาวสยามปฏิเสธ บอกจะเอาแต่เงินบาท เพราะไม่เข้าใจน้ำหนักและราคาเงินเหรียญ อีกทั้งเกรงว่าจะใช้สอยยาก กลายเป็นอุปสรรคการค้าไปอย่างนึกไม่ถึง

รัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระบรมราชโองการ ประกาศอธิบายเรื่องเงินเหรียญนกเทียบกับเงินสยามว่า

3 เหรียญ เท่ากับเงิน 5 บาท
6 เหรียญ เท่ากับราคาเงิน 10 บาท
12 เหรียญ เท่ากับราคาเงิน 5 ตำลึง
24 เหรียญ เท่ากับราคาเงิน 10 ตำลึง
48 เหรียญ เท่ากับราคาเงิน 1 ชั่ง

เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาซื้อของด้วยเงินเหรียญนี้ก็ให้ราษฎรรับ อย่าได้รังเกียจ เงินเหรียญที่รับมาแล้วจะเอามาส่งคลังแลกเอาเงินบาทไปตามกำหนดนั้นก็ได้ จะส่งภาษีอากรตามพิกัดนั้นก็ได้ ถ้าสงสัยว่าจะเป็นเหรียญปลอมจะทิ้งลงฟังเสียงก็ได้ หรือจะเผาไฟดูก็ได้

เหรียญบรอนซ์ VOC ดัตช์อินเดียตะวันออก ฮอลันดา เงินเหรียญนก
เหรียญบรอนซ์ของบริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก (VOC) ของฮอลันดา ใช้แลกเปลี่ยนสินค้าในดินแดนตะวันออกไกล ในภาพเป็นเหรียญที่ระบุ ค.ศ. 1735 (พ.ศ. 2278) (ภาพ : Петров Эдуард, CC BY-SA 4.0 <https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0>, via Wikimedia Commons)

นอกจากนี้ ยังมีประกาศเทียบเงินต่างชาติอื่นๆ กับเงินสยามอีก อย่างเงินรูปีอินเดีย เงินเหรียญฮอลันดา

เงินรูปีเมืองอินเดีย
7 รูปี เป็นเงิน 5 บาท
14 รูปี เป็นเงิน 10 บาท
28 รูปี เป็นเงิน 5 ตำลึง คือ 20 บาท
56 รูปี เป็นเงิน 10 ตำลึง คือ 40 บาท
112 รูปี เป็นเงิน 1 ชั่ง คือ 80 บาท

เงินเหรียญวิลันดาขนาดใหญ่
13 เหรียญ เป็นเงิน 5 ตำลึง
26 เหรียญ เป็นเงิน 10 ตำลึง
52 เหรียญ เป็นเงิน 1 ชั่ง

หากเป็นเงินย่อยเล็กน้อยกว่าเหรียญที่ออกชื่อข้างต้น หรือเป็นเหรียญหัก หรือเหรียญชำรุด มีตรานายห้างเมืองจีนมาก ให้รวมเอาชั่งกับเหรียญนกหนักเท่า 3 เหรียญนก แล้วคิดเงิน 5 บาท

เพื่อสร้างความมั่นใจไปอีกขั้น ทางการจึงบอกกับราษฎรสยามว่า ชาวต่างชาติเอาเงินเหรียญมาแลกเงินบาทไปจากคลังแล้วหลายแสนเหรียญ คิดเป็นเงินหลายพันชั่ง และรัชกาลที่ 4 โปรดให้หลอมเงินเหรียญเหล่านี้หีบทำเป็นเงินเหรียญบาทไปแล้วกว่า 5,000 ชั่ง

เหตุความวุ่นวายที่ราษฎรสยามไม่ยอมรับ “เงินเหรียญนก” จึงค่อยๆ คลี่คลายในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ – BOTLC. “เหรียญนก : เหรียญต่างชาติในเงินถุงแดง”.

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. กรุงเทพมหานคร: อักษรไทย, 2528


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2568