พระราชทรัพย์รัชกาลที่ 3 จำนวน 40,000 ชั่ง ที่มอบไว้แก่รัชกาลถัดไป เป็นเงินกี่บาท ?

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประกอบเรื่อง พระราชทรัพย์รัชกาลที่ 3
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

พระราชทรัพย์รัชกาลที่ 3 จำนวน 40,000 ชั่ง ที่มอบไว้แก่รัชกาล 4 คือเงินกี่บาท ?

ในปลายพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงมีกระแสพระราชดำริเป็น “พินัยกรรม” ถึงการมอบพระราชทรัพย์แก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ผู้จะครองราชสมบัติต่อจากพระองค์ คือเงินในท้องพระคลังที่มีมากถึง 40,000 ชั่ง กับทองคำ 200 ชั่ง

เงินจำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนมากมายมหาศาลทีเดียว แล้ว “มรดกพระนั่งเกล้าฯ” มีมูลค่าเท่าไหร่กันแน่ ?

อนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชดำเนิน กรุงเทพฯ
อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชดำเนิน กรุงเทพฯ (ภาพโดย Paolobon140, via Wikimedia Commons)

ก่อนรัชกาลที่ 3 จะทรงครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) เมื่อ พ.ศ. 2367 “พระองค์เจ้าชายทับ” ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ทรงมีบทบาทสูงมากในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ทรงทำงานราชการหลายอย่างรับใช้เบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะการคุมกรมท่า ดูแลการแต่งเรือสำเภาหลวงไปค้าขายกับจีน สร้างรายได้มหาศาลให้ราชสำนักสยาม รวมถึงทรงทำการค้าส่วนพระองค์แยกต่างหากจากส่วนราชการ ทำให้ทรงมีทรัพย์ส่วนพระองค์สะสมมาตั้งแต่ตอนนั้น

เมื่อทรงครองสิริราชสมบัติ พระราชทรัพย์ในท้องพระคลังก็ยิ่งงอกเงยขึ้นไปอีก เป็นที่มาของเงินในพินัยกรรมของพระองค์

ประชุมพงศาวดาร จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต มีบันทึกถึงพระราชปรารภรัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นวงศาสนิท พระยาพิพัฒนโกษา นำออกมาแจ้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ดังความว่า

“ด้วยเงินในท้องพระคลังทั้งข้างหน้าข้างในมีอยู่สัก ๔๐,๐๐๐ ชั่งเศษ ขอไว้ให้ข้า ๑๐,๐๐๐ ชั่ง จะใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่นั้น ยังเงินอีก ๓๐,๐๐๐ ชั่งเศษนั้น จงเอาไว้ใช้ในการแผ่นดินต่อไปเถิด ทองคำก็มีอยู่กว่า ๒๐๐ ชั่ง ขอแบ่งไว้ให้ข้าเป็นส่วนพระราชกุศลสำหรับปิดวัดวาอารามที่ยังค้างอยู่นั้นให้สำเร็จก่อน ทองเหลืออยู่จากนั้นจะใช้ทำเครื่องละเม็งละคอนและการแผ่นดินก็ตามเถิด…”

จะเห็นว่า เงิน 40,000 ชั่ง และทองคำ 200 ชั่ง ในพินัยกรรมถือเป็นพระราชมรดก “ก้อนโต” สำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดมา นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

แม้ตอนที่รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชปรารภถึงเงินจำนวนนี้ จะยังไม่ทรงทราบว่า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” พระอนุชาธิราชต่างพระราชมารดาจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ต่อไปตามมติที่ประชุมขุนนาง แต่ก็ทรงมีพระราชปณิธานให้พระราชทรัพย์ดังกล่าวก่อประโยชน์แก่พระศาสนาและราชการแผ่นดินจริง ๆ

ถามว่าเงิน 40,000 ชั่ง เป็นจำนวนเงินกี่บาท ? เมื่อเทียบเงินหน่วย ชั่ง ซึ่งเป็นหน่วยโบราณแล้วพบว่า 1 ชั่ง เท่ากับ 20 ตำลึง หรือ 80 บาท ดังนั้น 40,000 ชั่ง จึงเท่ากับ 3,200,000 บาท

เท่ากับว่า จากเงินจำนวน 3.2 ล้านบาทในพินัยกรรม รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์ให้แบ่ง 1 หมื่นชั่ง หรือ 800,000 บาท “ใช้ในการพระราชกุศลซึ่งยังค้างอยู่” นั่นคือการซ่อม สร้าง และบำรุงวัดวาอารามต่าง ๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนอีก 3 หมื่นชั่ง เป็นเงิน 2,400,000 บาท ให้เอาไปใช้ในราชการแผ่นดินของกษัตริย์พระองค์ถัดไป

สำหรับทองคำ 200 ชั่ง ที่ให้แบ่งไปปิดทองตามวัดก่อนใช้ตามพระราชอัธยาศัยรัชกาลใหม่ จะเท่ากับ ทองคำ 16,000 บาท นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 4 ยังทรงออกมาเผยในภายหลังด้วยว่า จริง ๆ แล้วเงิน 4 หมื่นชั่งของรัชกาลที่ 3 เป็นจำนวนที่ “คลาดเคลื่อน” ไปจากของจริงที่มีอยู่ เพราะเมื่อทรงชำระบัญชีในภายหลังแล้วพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 45,000 ชั่ง คือเพิ่มมาอีก 5,000 ชั่ง รวมถึงทองคำที่มีอยู่ถึง 300 ชั่ง (เพิ่มอีก 100 ชั่ง)

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ใน ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ เรื่อง ประกาศว่าด้วยเงินสำหรับซ่อมแซมพระอารามซึ่งเปนส่วนพระองค์ ความว่า “จำนวนพระราชทรัพย์ที่ว่าในพระราชหัดถเลขานั้นก็หาสิ้นจริงไม่ ชรอยท่าน (รัชกาลที่ 3) จะทรงจำไม่ได้จะพลั้งไป เงินอยู่ในรวม ๔๐,๐๐๐ ชั่งนั้น ยังมีมากกว่านั้น ๕๐๐๐ ชั่งเศษ ทองคำยังมีมากกว่าที่ว่าในพระราชหัดถเลขานั้นอีกสัก ๑๐๐ ชั่งเศษ”

หากอ้างอิงตามประกาศรัชกาลที่ 4 พระราชทรัพย์ 45,000 ชั่ง จะถือเป็นเงิน 3,600,000 บาท หรือ 3.6 ล้านบาท กับทองคำอีก 24,000 บาทเลยทีเดียว

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เงิน 3.6 ล้านบาทถือว่ามากขนาดไหน ? สำหรับยุครัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ข้าวเปลือก 1 เกวียน (ตัน) มีราคา 7-8 ตำลึง หรือ 28-32 บาทเท่านั้น เทียบกับปัจจุบันข้าวเปลือก 1 ตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-8,000 บาทเข้าไปแล้ว

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ไม่ว่าเงิน 3.2 หรือ 3.6 ล้านบาท เมื่อ 174 ปีก่อน หรือใน พ.ศ. 2394 ซึ่งเป็นปีเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 3 (ปีที่มีพินัยกรรม) ย่อมเป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาลของยุคนั้น คือมีมูลค่ามากกว่าเงิน 3 ล้านกว่าบาทในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างมั่นคงของราชสำนักสยาม และพระราชอัจฉริยภาพรัชกาลที่ 3 ทั้งก่อนครองราชย์และตลอด 26 ปีในรัชสมัยของพระองค์ ที่สามารถเพิ่มพูนเงินทอง สะสมพระราชทรัพย์จนท้องพระคลังมั่งคั่งบริบูรณ์ และส่งต่อเป็นมรดกเพื่อพัฒนาบ้านเมืองและรับมือภัยคุกคามต่าง ๆ ในรัชกาลถัดไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ขอขอบคุณ ผศ. ดร. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ้างอิง : 

พัชนะ บุญประดิษฐ์, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. มาตราเงิน. 3 พฤศจิกายน 2553. (ออนไลน์)

เทพชู ทับทอง. (2525). กรุงเทพฯ เมื่อวันวาน. กรุงเทพฯ : พี. วาทิน พับลิเคชั่น จำกัด.

สุพจน์ แจ้งเร็ว. พระราชปรารภรัชกาลที่ ๓ เมื่อก่อนเสด็จสวรรคต. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2549.

ราชบัณฑิตยสภา. (2472). ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 51 จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต. กรุงเทพฯ : โสภณการพิพรรฒธนากร. พิมพ์พระราชทานในงานพระศพพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา, 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2472.

หอพระสมุดวชิรญาณ. (2469). ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิรณกะ ส่วนที่ ๒. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม, พ.ศ. 2469. (ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2568