
ผู้เขียน | นิติพัฒน์ บุญชู |
---|---|
เผยแพร่ |
อำเภอหลังสวน หนึ่งในพื้นที่ขึ้นตรงต่อจังหวัดชุมพรในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งเคยมีความสำคัญมากถึงขั้นมีสถานะเป็น “จังหวัดหลังสวน”
ทุกวันนี้เราอาจคุ้นชินกับประเทศไทยที่มี 77 จังหวัด หรือบางคนอาจบอกว่า 76 หากไม่นับรวมกรุงเทพฯ แต่ในอดีตยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เคยมีสถานะเป็นจังหวัด ก่อนจะถูกปรับลดลงเป็นเพียงอำเภอ หนึ่งในนั้นคือ “อำเภอหลังสวน” จังหวัดชุมพร
ชื่อ “หลังสวน” นี้หมายถึงอะไรและมีความหมายอะไรหรือไม่?
ที่มาของชื่อ “หลังสวน” ยังไม่พบหลักฐานว่ามาจากอะไรแน่ แต่เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่ในอดีตก็จะพบว่าเป็นเมืองที่มีผลไม้มาก
กระทรวงคมนาคมจึงสันนิษฐานว่า คำว่า “หลังสวน” อาจเพี้ยนมาจากคำว่า “รังสวน” หรือ “คลังสวน” ซึ่งหมายถึง มีสวนมาก ต่อมาชื่อนี้จึงเพี้ยนไปเป็น “หลังสวน” นั่นเอง
ความเป็นมาของอำเภอหลังสวน
“หลังสวน” เป็นเมืองเก่าในภาคใต้ เริ่มปรากฏชื่อเมืองหลังสวน สมัยรัชกาลที่ 1 ตามจารึกวัดพระเชตุพนที่กล่าวถึงหัวเมืองสำคัญในปักษ์ใต้ตอนบนว่า “ไชยา เมืองประสงค์ เมืองหลังสวน อุทุมพร” (เมืองประสงค์คืออำเภอท่าชนะ อุทุมพรคือชุมพรในปัจจุบัน)
ในช่วงแรก เมืองหลังสวนยังไม่ได้มีบทบาทสำคัญใดเป็นพิเศษนัก แต่ความเปลี่ยนแปลงค่อย ๆ เริ่มขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญคือ “คอซู้เจียง”
คอซู้เจียงชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ปีนัง และเข้ามาค้าขายอยู่ในเมืองตะกั่วป่า จนภายหลังสามารถสะสมทุนและขยับขยายไปอาศัยอยู่ที่เมืองระนอง
เมื่ออยู่ที่เมืองระนอง คอซู้เจียงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตผูกขาดการค้าดีบุกในพื้นที่เมืองกระบุรีและระนอง และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ขณะเดียวกันรัชกาลที่ 3 ก็ทรงทราบว่า หลวงจำนงวานิช เจ้าภาษีอากรรายเดิม ติดค้างเงินหลวงหลายงวด พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้คอซู้เจียงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น “หลวงรัตนเศรษฐี” ทำหน้าที่เก็บภาษีแทนตั้งแต่นั้นมา

เมื่อถึงรัชกาลที่ 4 เจ้าเมืองระนองถึงแก่อสัญกรรม ด้วยความสามารถและความน่าเชื่อถือของหลวงรัตนเศรษฐี รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “พระยารัตนเศรษฐี” ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองระนองคนใหม่
ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจจากการผูกขาดดีบุก และสิทธิการเก็บภาษีแบบเหมาเมืองในระนอง ทำให้พระยารัตนเศรษฐีสั่งสมความมั่งคั่งจนสามารถขยายกิจการเหมืองแร่และการค้าไปยังเมืองหลังสวน เพื่อส่งสินค้าไปขายยังห้างโกหงวนที่ปีนังอีกทอดหนึ่ง
เมื่อถึงรัชกาลที่ 5 เมืองหลังสวนมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งทางการค้าและการทำเหมืองแร่ พระองค์ทรงแต่งตั้ง พระยาจรูญโภคากร (คอซิมเต๊ก ณ ระนอง) บุตรของพระยารัตนเศรษฐี เป็นผู้ว่าราชการเมืองคนแรกของหลังสวน จนใน พ.ศ. 2437 ทางราชการก็ได้ยกฐานะเมืองหลังสวนเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ
ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปลายรัชกาลที่ 5 ทางการได้เปลี่ยนให้เมืองหลังสวนไปขึ้นตรงต่อมณฑลชุมพร ซึ่งขณะนั้นเมืองหลังสวน ประกอบไปด้วย 4 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอสวี อำเภอพะโต๊ะ และอำเภอประสงค์
ในรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาค โดยให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” เมืองหลังสวนจึงเป็น “จังหวัดหลังสวน” อย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เขตการปกครองของจังหวัดหลังสวนลดลงเหลือ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสวี และอำเภอพะโต๊ะ เนื่องจากได้โอนอำเภอประสงค์ไปขึ้นต่อเขตอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แต่ต่อมาจังหวัดหลังสวนก็ลดลงเป็นอำเภอในสมัยรัชกาลที่ 7
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบจังหวัดหลังสวนลงเป็น “อำเภอขันเงิน” และให้ขึ้นต่อจังหวัดชุมพร โดยมีพระราชดำรัสว่า
“มณฑลและจังหวัดที่แบ่งเขตต์ไว้แต่เดิมนั้น เวลานี้การคมนาคมสะดวกขึ้นมาก พอที่จะรวมการปกครองบังคับบัญชาได้กว้างขวางยิ่งขึ้นแล้ว เป็นการสมควรที่จะยุบรวมมณฑลและจังหวัด เพื่อประหยัดรายจ่ายเงินแผ่นดินลงได้บ้าง”
อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่ออำเภอหลังสวนตามพระราชกฤษฎีกาอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คุ้นชินกับชื่อเดิมมากกว่า อีกทั้งยังต้องการรักษาประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณ
แม้หลังสวนจะลดสถานะเป็นอำเภอ แต่ก็ยังคงมีศาลจังหวัดหลังสวนประจำอยู่ที่อำเภอนี้ และมีความสำคัญจนใน พ.ศ. 2492 กระทรวงมหาดไทยได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอชั้นเอกของจังหวัดชุมพร
ปัจจุบัน อำเภอหลังสวนประกอบไปด้วย 11 ตำบล ที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อาหารการกินที่หลากหลาย และบรรยากาศของเมืองผลไม้ที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้อย่างชัดเจน เชื่อว่าหากใครมาถึงเมืองแห่งนี้ต้องหลงรักไปตาม ๆ กันอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม :
- 7 ตราประจำจังหวัด ที่มี “ช้าง” อยู่ในรูป มีจังหวัดใดบ้าง?
- “สระแก้ว” จากอำเภอ สู่จังหวัด พื้นที่นี้เป็นอะไร เกี่ยวกับใครมาก่อน
- จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดที่มีอำเภอมากที่สุดในประเทศไทย
- 18 มณฑล ประเทศสยาม เมื่อก่อนแต่ละจังหวัดอยู่ในมลฑลไหน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดชุมพร. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร
ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 48. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2475. หน้า 474. เรียกใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม 2568.
จตุพร คุณเจริญ. หลังสวน. (2567). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). เรียกใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม 2568. เข้าถึงได้จาก https://wikicommunity.sac.or.th/community/1833
จังหวัดภูเก็ต. มหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหศรภักดี. เรียกใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม 2568. เข้าถึงได้จาก https://ketwarin05.wordpress.com
จังหวัดชุมพร. อำเภอหลังสวน. เรียกใช้เมื่อ 15 พฤษภาคม 2568. เข้าถึงได้จาก https://www.chumphon.go.th/2013/page/ampher_langsuan
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2568