ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ดาวหางโดนาติ (Comet Donati) ดาวหางยักษ์แห่งศตวรรษที่ 19 ที่มาของประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เรื่อง “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก”
ย้อนไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ในยุคที่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสยามอาจยังมีข้อจำกัด เมื่อพบเห็นดาวหางพุ่งผ่านฟากฟ้า ชาวบ้านก็มักมีความเชื่อว่าเป็นลางร้าย
แต่เมื่อถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่มีการติดต่อกับโลกตะวันตกมากขึ้นผ่านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ซึ่งนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และวิทยาการต่างๆ เข้ามาด้วย ชาวสยามโดยเฉพาะชนชั้นนำจึงมีการใช้หลักเหตุผลเข้ามาวิเคราะห์สิ่งต่างๆ มากขึ้น โดยไม่อิงกับความเชื่อแบบที่ผ่านๆ มา
หนึ่งในนั้นคือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่าง “ดาวหาง”

ดาวหางโดนาติ ปรากฏขึ้นในยุครัชกาลที่ 4 ตั้งชื่อตาม จิโอวานนี แบตติสตา โดนาติ (Giovanni Battista Donati) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ที่สังเกตเห็นดาวหางดวงนี้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1858 (พ.ศ. 2401) ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี หลังจากปรากฏดาวหางขนาดใหญ่เมื่อ ค.ศ. 1811 (พ.ศ. 2354 เทียบแล้วอยู่ในยุครัชกาลที่ 2)
ดาวหางที่โดนาติค้นพบมีความสว่างมากสุดในศตวรรษที่ 19 ทั้งยังมีขนาดใหญ่มาก แบ่งเป็น 2 หาง หางหนึ่งยาว มีลักษณะเป็นเส้นตรง ส่วนอีกหางมีลักษณะโค้ง เข้าใกล้โลกมากที่สุดในเดือนตุลาคม ปี 1858 และยังคงมองเห็นได้จากกล้องดูดาวที่ รอยัล ออบเซอร์เวทอรี, เคป ออฟ กู๊ด โฮป (Royal Observatory, Cape of Good Hope) ในแอฟริกาใต้ ช่วงต้นเดือนมีนาคม ปี 1859

ดาวหางดวงนี้มองเห็นได้จากหลายประเทศ นำสู่การที่รัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศไม่ให้ประชาชนแตกตื่น ปรากฏในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 4 เรื่อง “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก” ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียนบทความ)
“ณวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า วันเสาร์ เดือนสิบ แรมสิบค่ำ นายจบคชศิลปทรงบาศขวาได้เหนดาวหางดวงนี้ ครั้นวันพฤหัส เดือนสิบ แรมสิบห้าค่ำ เจ้านายแลข้าราชการจึงได้เหนด้วยกันมาก ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทอดพระเนตรแล้วทรงดำรัสว่าดาวดวงนี้ทรงจำได้ ว่าได้เคยมีมาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปีมะเมียโทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ ได้ ๔๘ ปีมาแล้ว
คราวนั้นก็มาในเดือนสิบเอ็จในทิศนี้ในราษีแลฤดูกาลเวลาเช่นนี้ ก็ไม่มีเหตุอะไรนัก มีแต่ความไข้ทรพิษแลกระบือล้มมาก แลฝนแล้ง แล้วก็ได้พระเศวตกุญชรมาในปีมะแมตรีศกนั้น ถึงคนมีอายุมากได้เหนแล้วแต่ไม่ได้สังเกตก็จำไม่ได้ คนอายุน้อยก็ไม่ได้เคยเหน
ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำได้แน่ แลพระยาโหราธิบดีก็จำได้ แต่ชาวประเทศยุโรปได้เหนในประเทศยุโรปนานหลายเดือนแล้วได้ลงในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เดือนหกมา แลดาวอย่างนี้มีคติแลทางที่ดำเนินยาวไปในท้องฟ้า ไม่เหมือนดาวพระเคราะห์อื่นแลดาวพระเคราะห์ทั้งปวง เปนของสัญจรไปนานหลายปีแล้วก็กลับมาได้เหนในประเทศข้างนี้อีก
เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกันแลคิดวิตกเล่าฦๅไปต่างๆ ด้วยว่ามิใช่จะได้เหนแต่ในพระนครนี้ แลเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ ย่อมได้เหนทุกบ้านทุกเมือง ทั่วพิภพอย่างได้เหนนี้แล
ประกาศมาณวันอาทิตย์ เดือนสิบเอ็จ ขึ้นสิบค่ำ ปีมะเมียสัม๘ฤทธิศก เปนวันที่ ๒๗๑๓ ในรัชกาลปัตยุบันนี้”
นอกจากประกาศฉบับนี้จะต้องการให้ราษฎรไม่แตกตื่นหรือวิตกกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างดาวหางโดนาติ ในแง่หนึ่งยังสะท้อนการเปิดรับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งเป็นประเด็นที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ดาวหางฮัลเลย์ กับเหตุการณ์ใหญ่ใน 2 รัชกาลแห่งกรุงศรีอยุธยา
- “ดาวหางฮัลเลย์” ดาวหางที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือฝ่ายปฏิวัติ เพื่อโค่นล้ม “ราชวงศ์ชิง”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
The Gallery of Natural Phenomena: The earth, the sea, the sky-and beyond. “DONATI’S COMET, 1858”. Accessed 13th May 2025.
เว็บไซต์วัชรญาณ. “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก” ใน, ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 4.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2568