
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เหตุใด สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ถึงตรัสว่า “หมอเขาให้มาตายที่เมืองไทย”
สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ประสูติแต่ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ทรงเป็นพระโสทรกนิษฐภคินี (น้องสาวร่วมบิดามารดา) ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินี (พี่สาวร่วมบิดามารดา) ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ชาววังออกพระนามพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าหญิง” หรือบ้างก็ออกพระนามพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงแหม่ม” ด้วยพระองค์ทรงไว้พระเกศายาว ไม่ได้เกล้าพระเมาฬี และทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดกระโปรงแบบตะวันตกตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
เมื่อพระชนมายุ 37 ชันษา พระอาการประชวรของพระองค์เริ่มฉายชัด ปรากฏหลักฐานระบุว่า พ.ศ. 2464 (บ้างก็ว่า พ.ศ. 2465) พระองค์ทรงประชวรพระโรค พระวักกะพิการ (ไตวาย)
สมเด็จฯ พระบรมราชชนก จึงเสด็จกลับจากสหรัฐอเมริกา และกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพื่อเชิญเสด็จพระโสทรเชษฐภคินีไปรักษาพระองค์ในยุโรป
คณะที่ตามเสด็จคราวนั้น นอกจากพระราชโอรสและพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ทั้ง 2 พระองค์แล้ว ยังมี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์, พระยาชนินทรภักดี (ปลี่ยน หัสดิเสวี), ม.จ.สุภาภรณ์ ไชยันต์, คุณพัว สุจริตกุล (ต่อมาคือท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร)
เมื่อเสด็จประทับยังโรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ แพทย์ได้ผ่าตัดพระวักกะออกข้างหนึ่ง จากนั้นพระพลานามัยของพระองค์ก็ค่อยๆ ฟื้น ทรงพระสำราญดีขึ้น ทรงแต่งพระองค์งดงามด้วยเฟอร์และพระมาลา เป็นที่ชื่นชมยินดีของคณะผู้ตามเสด็จและข้าในพระองค์ถ้วนหน้า

ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี พระโรคพระวักกะพิการก็กลับมาอีกครั้ง
ใน พ.ศ. 2479 สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ทรงพระประชวรพระโรคเดิม ขณะนั้นสมเด็จฯ พระบรมราชชนกสวรรคตแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งสมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเลี้ยงดูประดุจพระราชโอรส จึงทรงรับหน้าที่เชิญเสด็จพระองค์ไปรักษายังประเทศอังกฤษอีกครั้ง
เมื่อจบการรักษาที่โรงพยาบาล ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงได้เสด็จไปประทับกับพระราชนัดดาทั้ง 3 พระองค์ที่สวิตเซอร์แลนด์ ทั้งยังทรงเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ที่ทรงสละราชสมบัติและประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ และได้เสด็จเยี่ยมพระญาติวงศ์ที่เสด็จลี้ภัยในยุโรป ซึ่งสร้างความสำราญพระทัยให้พระองค์เป็นที่ยิ่ง ก่อนพระองค์จะเสด็จกลับประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การรักษาพระองค์ในครั้งที่ 2 นี้ ไม่ได้เป็นการรักษาแบบหายขาด
หนังสือ “สุทธิสิริโสภา” หนังสืออนุสรณ์ที่โรงเรียนราชินีจัดทำขึ้นในคราวที่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริโสภา ผู้จัดการโรงเรียนราชินี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2541 เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า (ย่อหน้าใหม่และเน้นคำโดย กอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)

“หลังจากที่เสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่สองนี้ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงมีพระอาการไม่ดีขึ้น
ก่อนเสด็จกลับแพทย์ที่ถวายการรักษาได้กราบทูลกับกรมขุนชัยนาทนเรนทรว่า สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร จะมีพระชนม์ได้อีกไม่เกินห้าเดือน และสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ก็ทรงมีรับสั่งว่า ‘หมอเขาให้มาตายที่เมืองไทย’
พระองค์เสวยแต่อาหารรสจืดและเสวยได้เพียงเล็กน้อย โปรดสรงน้ำด้วยน้ำอุ่นและหลังจากสรงและจะทรงใช้โอเดอโคโลญเป็นประจำ เมื่ออากาศเย็นเล็กน้อยจะรู้สึกพระองค์ว่าหนาว และจะทรงสวมเสื้อหนาวทันที…”
พระอาการประชวรของพระองค์เริ่มหนักขึ้นตั้งวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 โดยมีพระอาการบวมตามพระองค์ กระทั่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน เวลา 23.15 นาฬิกา สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ก็สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ ณ วังคันธวาส ถนนวิทยุ
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จฯ พระบรมราชเทวี กับการสูญเสียพระราชโอรส-ธิดา 4 พระองค์
- “สามัญพระนาม” พระราชโอรส-ธิดา ในรัชกาลที่ 5 บางพระองค์
- ทูลกระหม่อม สมเด็จ และเสด็จ 3 คำนี้ใช้ต่างกันอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอกชัย โควาวิสารัช. ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤษภาคม 2568