ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พลังภูมิศาสตร์พม่า ยุทธศาสตร์ “พระเจ้าบุเรงนอง” แก้ไขความผิดพลาดยุคตะเบ็งชเวตี้ ก่อนรุกอยุธยาจนเสียกรุงฯ
ความสำเร็จของพม่าในยุคพระเจ้าบุเรงนอง หรือ “พระเจ้าสิบทิศ” ที่โดดเด่นมากในความทรงจำของไทยคือชัยชนะเหนือกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2112 หรือเหตุการณ์เสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 หลักฐานไทยระบุสาเหตุความพ่ายแพ้ครั้งนั้นด้วยหลายปัจจัย ทั้งความแข็งแกร่งยิ่งใหญ่เกรียงไกรของกองทัพพม่า ความอ่อนแอของราชสำนักอยุธยา รวมถึงการแตกสามัคคี หักหลังกันเองของคนไทย
สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าบุเรงนองกุมความได้เปรียบเหนืออยุธยาคือความพร้อมด้านกำลังพล เสบียงอาหาร และ “หลังบ้าน” ที่มีเสถียรภาพ นั่นคือทรัพยากรจากแผ่นดินพม่าที่พร้อมหนุนยุทธศาสตร์สงครามของพระองค์ในดินแดนห่างไกลและพร้อมรับศึกหนักยืดเยื้ออย่างอยุธยา
นี่คือสิ่งที่กษัตริย์พม่าพระองค์ก่อน ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ของพระองค์อย่าง พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ไม่ได้บรรลุ แต่บุเรงนองทำได้ และผลลัพธ์คือการตีหักเอากรุงศรีอยุธยาเป็นผลสำเร็จ

ยุทธศาสตร์พม่า ก่อนเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1
ประวัติศาสตร์พม่าหลังการล่มสลายของอาณาจักรพุกาม ดินแดนพม่าแตกเป็นรัฐขนาดเล็กของชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น พม่า มอญ ไทใหญ่ หรือไต สำหรับชาวพม่าตั้งศูนย์กลางอำนาจของตนเองที่ อังวะ แต่ว่าราชสำนักอังวะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากเมืองใต้ปกครองอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะพวกไตที่เข็มแข็งมากจนสามารถยึดเมืองอังวะได้
หลังการรุกรานของพวกไต พระเจ้ามินจีโญ ผู้ปกครองตองอู เมืองใต้อำนาจราชสำนักอังวะ จึงตั้งตนเป็นอิสระ และก่อตั้งราชวงศ์ของพระองค์ขึ้น นับเป็นปฐมกษัตริย์ของ ราชวงศ์ตองอูยุคต้น และเริ่มขยายอำนาจไปยังพื้นที่รอบ ๆ
อาณาจักรตองอูยิ่งใหญ่มากขึ้นในยุคพระราชโอรสของพระเจ้ามินจีโญ นั่นคือ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระองค์ดำเนินโยบายขยายอำนาจลงสู่ทางใต้จนถึงเมาะตะมะ แล้วย้ายเมืองหลวงจากตองอูมา พะโค หรือกรุงหงสาวดี เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะการค้าทางทะเลสามารถสร้างรายได้มหาศาล และตองอูก็อยู่ห่างไกลจากเมืองท่าแหล่งค้าขายทางทะเลเกินไป
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้พยายามสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนมอญให้เข้มแข็งมั่นคง เมื่อต้องการให้ขุนนางมอญยอมรับในพระราชอำนาจ พระองค์จึงต้องเป็นพระจักรพรรดิราช หรือกษัตริย์เหนือกษัตริย์ ยกทัพบุกอยุธยา เพื่อพิสูจน์บุญญาบารมีของพระองค์ และกำจัดอำนาจของอยุธยาที่แผ่อิทธิพลเข้าทางตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ของมอญ ทั้งยังเป็นเขตปริมณฑลทางอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างพม่ากับอยุธยา
แต่พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เอาชนะอยุธยาไม่ได้
ส่วนหนึ่งเพราะอาณาเขตของอาณาจักรตองอูยุคพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้กินพื้นที่แค่พม่าตอนกลางกับพม่าตอนล่างถึงบริเวณอ่าวเมาะตะมะ ไม่ได้ยึดเขตพม่าตอนบนซึ่งมีบ้านเมืองจำนวนมาก และเป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดกว้างใหญ่
ในสมัย พระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งครองราชย์สืบต่อจากรพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระองค์เรียนรู้จากเรื่องดังกล่าว จึงดำเนินนโยบายด้านการสงครามใหม่ ด้วยการมุ่งความสนใจไปยังดินแดนที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีตอนบน และบ้านเมืองของพวกไต
วิเคราะห์ได้ว่า พระเจ้าบุเรงนองเห็นข้อบกพร่องจากยุคพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ที่ไม่สามารถเอาชนะอาระกัน (ยะไข่) และอยุธยาได้ เหตุมาจากการที่ไม่มีกำลังทหารมากเพียงพอนั่นเอง

พระเจ้าบุเรงนองยกทัพขึ้นเหนือ ยึดอังวะและเมืองบริเวณโดยรอบสำเร็จในช่วง พ.ศ. 2097 ราว พ.ศ. 2100 พระองค์กลายเป็นกษัตริย์พม่าที่มีอำนาจเหนือดินแดนพม่าตอนบนเกือบทั้งหมด จึงเข้าตีเมืองของพวกไตทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำสาละวิน ต่อด้วยเมืองเชียงใหม่ พวกไตหลายเมืองหวาดกลัวอำนาจ ก็เข้ามาสวามิภักดิ์
การผนวกดินแดนพม่าตอนบน บ้านเมืองของพวกไต และล้านนา ทำให้ไพร่พลที่พม่ายกมาบุกอยุธยาใน พ.ศ. 2106 และ พ.ศ. 2112 ทวีคูณจากเดิมมาก เพราะพระเจ้าบุเรงนองสามารถเกณฑ์ทัพบ้านเมืองเหล่านี้มาร่วมด้วย
ความสำเร็จของพระเจ้าบุเรงนองคือทรงเล็งเห็น “ต้นทุน” ทางภูมิศาสตร์ของแผ่นดินพม่า อันมีศักยภาพเปี่ยมล้นมากพอที่จะสนับสนุนสรรพกำลังด้านการทหาร ทำให้กองทัพพม่ากุมความได้เปรียบเหนือบ้านเมืองข้างเคียง
ต้นทุนข้างต้นไม่เพียงส่งเสริมพม่าอย่างมีนัยสำคัญในยุคพระเจ้าสิบทิศ แต่รวมถึงยุคราชวงศ์คองบอง ซึ่งไทยพ่ายแพ้ให้จักรวรรดิพม่าอย่างหมดรูปจนราชธานีที่ยืนยงมากว่า 400 ปี ล่มสลายอย่างสมบูรณ์ หรือเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นั่นเอง
ร่วมเจาะลึกความยิ่งใหญ่ของพลังภูมิศาสตร์ดังกล่าวแบบเต็ม ๆ ได้ใน “สับประวัติศาสตร์ ZAB HISTORY : พลังภูมิศาสตร์ เครื่องจักรสงครามจักรวรรดิพม่า”
อ่านเพิ่มเติม :
- ศึกเมืองเชียงกราน ไม่ใช่ศึกครั้งแรกพม่า-ไทย
- สิบทิศยังน้อยไป! เปิดที่มา “บุเรงนอง” แท้จริงคือ “ผู้ชนะยี่สิบทิศ”
- เมื่อ “หงสา” ไร้บุเรงนอง บ้านเมืองวิกฤตถึงขั้น “คนกินกันเอง-ฝรั่งตั้งตนเป็นเจ้า”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2568