ศึกเมืองเชียงกราน ไม่ใช่ศึกครั้งแรกพม่า-ไทย

จิตรกรรมโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอน “สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” เขียนโดย หลวงพิศณุกรรม (เล็ก) ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2”)

หมายเหตุของบรรณาธิการ

คุณศิรภัทร เนตราคม เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการ ถามปัญหายากๆ 3 ข้อ

Advertisement

บรรณาธิการก็คือผมนี่แหละ อ่านอย่างละเอียดแล้ว ตอบตัวเองอยู่ในใจว่าไม่รู้โว้ย

ว่าแล้วดังนั้นผมก็ยกจดหมายของคุณศิรภัทรไปให้อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (เจ้าเก่า) แห่งกรมศิลปากร แล้วขอให้อธิบายอย่างละเอียดที่สุด เพราะเป็นคำถามสำคัญมาก ต้องอธิบายด้วยหลักฐานทางวิชาการอย่างลึกซึ้ง จะมีผลต่อวงวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย

ไม่นานวัน และไม่นานเกินรอ เพราะรอไม่นาน ผมได้รับต้นฉบับคำตอบจากอาจารย์พิเศษยาว 7 หน้า พร้อมแผนที่ประกอบอีก 2 แผ่น อ่านแล้วได้ความรู้เพิ่มเติมมาก พิจารณาแล้วเห็นว่าจะลงในหน้าจดหมายถึงบรรณาธิการไม่ได้แล้ว เพราะถ้าเอาลงตรงนั้นจดหมายฉบับอื่นๆ ก็ไม่ได้ลงพิมพ์

เหตุนี้ผมจึงย้ายมาลงเป็นบทความพิเศษดีกว่า หวังว่าจะสนองคุณได้ทั้งผู้เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการและผู้อ่านท่านอื่นๆ

ขอป่าวร้องว่าถ้าท่านใดมีข้อสงสัยลึกๆ ซึ้งๆ อย่างนี้ และปรารถนาให้อาจารย์และผู้รู้ท่านใดช่วยอธิบาย ขอได้โปรดเขียนมาทันที ผมจะจัดให้ตามปรารถนา แต่ได้โปรดเมตตา อย่าให้ผมตอบเลย เพราะอดอยากยากไร้สติปัญญาจริงๆ

สุจิตต์ วงษ์เทศ


 

จดหมายถึงบรรณาธิการ

ผมประวัติศาสตร์มานานแล้ว และเมื่ออ่านมากก็เกิดความสับสน จึงเขียนมาเพื่อให้ช่วยชี้แจงข้อสงสัยดังต่อไป

1. ศึกเชียงกราน ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ย่อมต้องรู้ว่านี่คือศึกครั้งแรกของไทยกับพม่า ตามที่คนส่วนใหญ่อ้างอิง ก็มาจากหนังสือไทยรบพม่า ของกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งเขียนไว้ว่า พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกทัพจากตองอูมาตีเมืองหงสาวดี ครั้นตีได้แล้วจึงย้ายราชธานีมาตั้งที่หงสาวดี แล้วยกทัพมาตีเมาะตะมะ อันเป็นเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงสาวดีครอง เมื่อได้เมาะตะมะแล้วพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงยกทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นเมืองปลายแดนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2081” เชื่อกันอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ก็กล่าวเหมือนกันในหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาของเรา” อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็กล่าวในหนังสือ “อยุธยาศาสตร์และการเมือง” แม้แต่หนัง “สุริโยไท” ก็กล่าวถึง

แต่พอมาได้อ่านหนังสือ “พม่ารบไทย” ของ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ทำให้เกิดความสงสัย ตามที่รู้มาศึกเชียงกรานเกิดปี พ.ศ. 2081 แต่แปลกที่ว่าปีนั้น พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยังไม่สามารถยึดหงสาวดีได้ หงสาวดีแตก พ.ศ. 2082 เมาะตะมะแตก พ.ศ. 2084 ถ้าดูตามปีที่ปรากฎก็จะค้านกับหนังสือไทยรบพม่าดังที่กล่าวมาข้างต้น กรมพระยาดำรงฯ ทรงอ้างจากพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐฯ และจดหมายเหตุของปินโต ซึ่งไม่มีฉบับไหนระบุว่า ไปรบกับพม่า ฉะนั้นจึงน่าสงสัยว่าไทยรบกับพม่าครั้งแรกที่เชียงกราน กรมพระยาดำรงฯ ทรงได้หลักฐานจากไหนนอกจากที่ทรงระบุ และผมก็ค่อนข้างเชื่อตามที่กล่าวไว้ในหนังสือ “พม่ารบไทย” ว่า สมเด็จพระไชยราชาเสด็จไปเชียงกรานจริง แต่ไปตีเมืองชายแดนมอญเพื่อขยายอาณาเขตในช่วงที่มอญกับพม่ารบกัน หรือถ้าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาตีเชียงกรานจริงเหตุการณ์ต้องเกิดหลังปี พ.ศ. 2084 ซึ่งก็แปลกที่ว่า พ.ศ. 2085 ยกไปตีเมืองแปร และปี พ.ศ. 2089-2090 ยกไปตียะไข่ (จากหนังสือภูมิหลังของพม่า ของอาจารย์ไพโรจน์ โพธิ์ไทร) ฉะนั้นมีหลักฐานนอกเหนือจากที่ได้รับรู้จากหนังสือไทยรบพม่าอีกไหมที่สนับสนุนว่าศึกเชียงกรานเป็นศึกแรกระหว่างไทยกับพม่าจริงๆ

2. หนังสือ “ไทยรบพม่า” ระบุว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงครองราชย์ปี พ.ศ. 2148-2163 รวม 15 ปี แต่หนังสือรุ่นใหม่อย่าง “อยุธยาประวัติศาสตร์และการเมือง” กลับระบุว่าครองราช 2148 รวมแค่ 5 ปีเท่านั้น ไม่ทราบว่าระยะเวลาครองราชย์ใดถูกต้อง

3. อ่านสงครามยุทธหัตถี ในศิลปวัฒนธรรม เดือนพฤศจิกายน 2544 แล้วรู้สึกสับสนไม่ใช่เรื่องยุทธหัตถี แต่เป็นเรื่องของ “นัดชินหน่อง” ที่ว่าขึ้นครองราชสมบัติแล้วไปสร้างพระราชวังที่กรุงอังวะ ตามหนังสือ “ประวัติศาสตร์พม่า” ของหม่องทินอ่อง กล่าวว่า นัดชินหน่องเป็นราชบุตรพระเจ้าตองอู เป็นผู้วางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้านันทบุเรง ภายหลังเข้าร่วมกับฟิลิป เดอ บริโต ชาวโปรตุเกส เจ้าเมืองซิเรียม ต่อต้านพระเจ้าอังวะ อน็อคเปตลุน (ANAUKPETLUN) ราชบุตรพระเจ้าอังวะ นะยองยาง ได้สวรรคตปีเดียวกับสมเด็จนเรศวร พ.ศ. 2148 นัดชินหน่องถูกประหารพร้อมกับ เดอ บริโต เมื่อเมืองชิเรียมแตก ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นนัดชินหน่องคนเดียวกันหรือไม่

ศิรภัทร เนตราคม

102 ซอยราชวิถี 4 ถ.ราชวิถี พญาไท กรุงเทพฯ 10400

ตอบคุณศิรภัทร เนตราคม

1. ศึกเมืองเชียงกรานเมื่อ พ.ศ. 2081 ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช เชื่อกันมานานว่า เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า แม้อาจารย์ผู้ได้รับการเชื่อถือด้านประวัติศาสตร์มากตามที่เอ่ยนามมาในคำถาม เมื่อกล่าวพาดพิงถึงสงครามไทยพม่าครั้งแรกก็จะยกเรื่องศึกเมืองเชียงกรานขึ้นมาอ้างอิง ที่เป็นเช่นนี้เพราะท่านมิได้มีประเด็น (ในหนังสือเล่มนั้น) ที่จะศึกษาเรื่องนี้จริงๆ จึงมิได้ตรวจสอบ หากแต่มุ่งที่จะกล่าวถึงประเด็นที่ท่านต้องการศึกษาเพื่อนำเสนอมากกว่า เรื่องสงครามไทยพม่าครั้งแรกที่เมืองเชียงกรานที่เป็นความเชื่อเดิม อันเป็นผลจากการศึกษาในอดีตจึงถูกยกขึ้นมาอ้างอย่างผ่านๆ

เรื่องศึกเมืองเชียงกรานเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า อยู่ในแบบเรียนตั้งแต่ครั้งชั้นมัธยมศึกษาติดต่อกันมานาน เป็นผลจากการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในพระนิพนธ์คำอธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และมีการขยายความมากขึ้น เมื่อนิพนธ์เรื่องไทยรบพม่า โดยทรงกล่าวว่า ในขณะนั้นดินแดนรอบอ่าวเมาะตะมะยังเป็นดินแดนของมอญที่ปกครองกันเอง กษัตริย์กรุงหงสาวดีพระองค์หนึ่งประพฤติเป็นพาล กดขี่ประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อน

…พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เห็นว่ารามัญประเทศเกิดระส่ำระสาย ก็ยกกองทัพเมืองตองอูมาตีเมืองหงสาวดี ครั้นตีได้ แล้วจึงย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองหงสาวดี แล้วยกกองทัพลงมาตีเมืองมาะตะมะ อันเป็นเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงสาวดีครอง เป็นมณฑลใหญ่อยู่ข้างฝ่ายใต้ เมื่อได้เมืองเมาะตะมะแล้ว พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะจัดการรวบรวมหัวเมืองมอญในมณฑลนั้น จึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย เมื่อปีจอ พ.ศ. 2081

เมืองเชียงกรานนี้มอญเรียกว่าเมืองเดิงกรายน์ ทุกวันนี้อังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน อยู่ต่อแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พลเมืองเป็นมอญ แต่จะเห็นเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ทำนองพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จะคิดเห็นว่าเป็นเมืองมอญ จึงประสงค์จะเอาไปเป็นอาณาเขต

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้มาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่า ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีปรากฏแต่ว่า ถึงเดือน 11 เสด็จไปเมืองเชียงกราน เท่านี้ แต่มีจดหมายเหตุของปินโต โปรตุเกสว่า ครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา 130 คน สมเด็จพระไชยราชาธิราชเกณฑ์โปรตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย 120 คน ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทย ดังแต่ก่อน...

ประเด็นแรกที่อยากเสนอในที่นี้คือ เรื่องที่ตั้งของเมืองเชียงกรานตามความเข้าพระทัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าจะอยู่ที่ใด ทรงมีพระนิพนธ์ในคำอธิบาย พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า …เมืองเชียงกรานจะอยู่ที่ไหนไม่แน่ ตรวจแผนที่ดู เห็นชื่อเมืองคล้ายกับเชียงกราน อยู่ที่ต่อแดนเหนือเมืองทวาย เห็นจะเป็นเมืองนี้เอง… และในข้อความในเรื่องไทยรบพม่า ที่ยกมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ทรงมีแนวคิดตั้งไว้ก่อนแล้วว่า เชียงกรานเป็นเมืองมอญในเขตอ่าวเมาะตะมะ ทรงเห็นชื่อเมืองมอญในแผนที่ว่า เดิงกรายน์ มีความคล้ายคลึงกับเชียงกรานมาก จึงคิดว่าควรจะเป็นเมืองนี้ ซึ่งอังกฤษเรียกว่าเมืองอัตรัน

บรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมเคยขอให้ผมหาตำแหน่งเมืองเดิงกรายน์หรืออัตรันให้มานานแล้ว แต่หาไม่ได้เพราะชื่อบ้านนามเมือง และชื่อทางภูมิศาสตร์ในพม่าหายากมาก บางที่พม่าเรียกอย่าง มอญเรียกอย่าง ไทยเรียกอย่าง ฝรั่งเรียกอย่าง พอกาลเวลาผ่านไปชื่อเรียกก็เปลี่ยนไปอีก เช่นเดียวกับชื่อ เดิงกรายน์ หรืออัตรันนี้ จะหาไม่พบในแผนที่ปัจจุบันไม่ว่าเป็นแผนที่ของไทย พม่า หรือฝรั่ง

ในการตอบจดหมายฉบับนี้เพิ่งพบชื่ออัตรัน (Ataran) อยู่ในแผนที่ พระราชอาณาจักรสยาม ซึ่งพระวิภาคภูวดล (เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี) ได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2432 และได้นำตำแหน่งของเมืองอัตรันจากแผนที่นี้มาระบุลงในแผนที่ประเทศไทย แสดงความสูงต่ำของผิวโลก มาตราส่วน 1 : 2,500,000 ของกรมแผนที่ทหาร ดังได้นำมาลงไว้ในที่นี้ด้วยแล้ว

จากแผนที่จะเห็นว่า เมืองอัตรันหรือเดิงกรายน์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำที่มีต้นน้ำเกิดจากภูเขาบริเวณด่านพระเจดีย์สามองค์ ไหลผ่านเมืองอัตรันลงสู่อ่าวเมาะตะมะ บริเวณเมืองเมาะลำเลิง หรือมะละแหม่ง เมาะลำเลิงเป็นเมืองใหม่ เมืองเก่าที่สำคัญคือเมืองเมาะตะมะ ไม่ได้ลงในแผนที่ แต่อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับเมืองเมาะลำเลิง ที่ก้นอ่าวเมาะตะมะเป็นปากแม่น้ำสะโตง จากปากแม่น้ำสะโตงไปทาง ทิศตะวันตกพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มตลอด วัดเป็นเส้นตรง (อยู่นอกแผนที่) ห่างไปประมาณ 40-45 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญของมอญในอดีตอีกเมืองหนึ่ง คือเมืองหงสาวดีหรือพะโค ขึ้นไปตามลำแม่น้ำสะโตง พื้นที่ต้นน้ำเป็นภูเขาเป็นที่ตั้งของเมืองตองอูของพม่า อยู่ห่างจากปากแม่น้ำสะโตงประมาณ 200 กิโลเมตร จากแผนที่และคำอธิบายนี้จะแสดงภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองต่างๆ ทุกเมืองที่มีกล่าวอยู่ในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ยกมากล่าวแต่ต้น

แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองอัตรัน หรือเดิงกรายน์ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเข้าพระทัยว่าคือ เมืองเชียงกราน ด้วยมีสำเนียงมอญคล้ายกัน คือเดิงกรายน์ฟังดูคล้ายเชียงกราน

อีกประเด็นหนึ่งคือ หลักฐานเป็นจดหมายเหตุของปินโต ชาวโปรตุเกสที่ทรงยกมากล่าวอ้างอิง การศึกเมืองเชียงกรานครั้งนั้นมีทหารโปรตุเกสเข้าร่วม 120 คน และมีชัยชนะต่อพม่าได้เมืองเชียงกรานกลับคืนนั้น บัดนี้บันทึกการท่องเที่ยวผจญภัยของปินโตได้รับการพิมพ์และแปลออกเป็นภาษาไทยหลายฉบับหลายสำนวน เช่น โดยสันต์ ท.โกมล บุตร (พ.ศ. 2526) โดยนันทนา วรเนติวงศ์ (กรมศิลปากร, 2538) ฯลฯ ซึ่งต่างก็ให้ข้อมูลตรงกัน และชัดเจนว่า ทหารโปรตุเกส 120 คนที่ร่วมกองทัพสมเด็จพระไชยราชาธิราชครั้งนั้น มิได้ไปศึกเมืองเชียงกรานเมื่อ พ.ศ. 2081 แต่เป็นการไปศึกตีเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2088 (ตามศักราชเวลาของพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ)

ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ (ในพม่ารบไทย, 2537) เป็นท่านแรกที่ชี้ว่า จดหมายเหตุของปินโตเรื่องนี้เป็นเรื่องการยกทัพไปตีเชียงใหม่มิใช่ตีเมืองเชียงกราน และถึงแม้จะมิได้เห็นขัดแย้งอย่างใดกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับที่ตั้งและชื่อเมืองเชียงกราน ว่าคือเมืองเดิงกรายน์หรืออัตรัน แต่ก็เป็นท่านแรกที่กล่าวว่า ศึกเมืองเชียงกรานมิใช่สงครามระหว่างพม่ากับไทยเป็นครั้งแรก สงครามครั้งนั้นเป็นสงครามระหว่างอยุธยากับมอญมากกว่า

อาจารย์สุเนตรยกหลักฐานที่เป็นพงศาวดารพม่าแสดงให้เห็นว่า เมื่อ พ.ศ. 2081 พม่ายังไม่ได้ดินแดนมอญรอบอ่าวเมาะตะมะ (ดูแผนที่ที่ผมนำมาลงประกอบ) จน พ.ศ. 2082 จึงได้เมืองหงสาวดี และ พ.ศ. 2084 จึงได้เมืองเมาะ ดังนั้นตอน พ.ศ. 2081 ที่อัตรันหรือเดิงกรายน์ที่เข้าใจคือเชียงกรานจึงยังไม่มีพม่า มีแต่มอญ ดังนั้นสมเด็จพระราชาธิราชจึงทรงรบกับมอญ มิใช่กับพม่า ถึงตอนนี้จึงอาจสรุปโดยปราศจากข้อสงสัยว่า ศึกเมืองเชียงกรานมิใช่ศึกครั้งแรกระหว่างพม่ากับไทย

มีที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวลัยลักษณ์ ทรงศิริ เขียนเรื่อง “สงครามเมืองเชียงกราน ไม่ใช่ไทยรบกับพม่า” ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์, 2543) สาระสำคัญมิได้อยู่ตรงชื่อเรื่อง เพราะถึงอย่างไรก็ได้ข้อสรุปไปแล้วจากการศึกษาของ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ความสำคัญของเรื่องอยู่ที่ว่า คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ได้ให้ข้อสังเกตความในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่กล่าวถึงการเสด็จยกทัพไปตีเมืองเชียงกรานของสมเด็จพระไชยราชาธิราชว่า …เสด็จไปเชียงไกรเชียงกราน….

คําว่าเชียงไกรที่อยู่กับเชียงกรานนั้น คุณวลัยลักษณ์ชี้ว่าเป็นเชื่อแม่น้ำที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสลำน้ำมะขามเฒ่า พ.ศ. 2451 เป็นแม่น้ำจากนครสวรรค์ขึ้นไปต่อกับลําแม่น้ำยมไปถึงสุโขทัยศรีสัชนาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริว่า การที่พงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จไปเมืองเชียงกรานนั้น ก็คงจะเสด็จขึ้นไปตามลำน้ำเชียงไกรนี้ แต่มิได้ทรงตรวจสอบในครั้งนั้นว่า เมืองเชียงกรานจะอยู่ที่ใด

คุณวลัยลักษณ์ได้ลงพื้นที่ตรวจหาแม่น้ำเชียงไกร ทราบว่าปัจจุบันไม่มีชื่อนี้อยู่แล้ว แต่ยังคงมีชื่อแม่น้ำเกรียงไกรและตำบลเกรียงไกร มีปากน้ำอยู่เหนือปากน้ำโพเล็กน้อย อยู่ฝั่งตรงข้ามและเหนือกว่าปากคลองบอระเพ็ดไม่มากนัก

แต่พอมาถึงเรื่องที่ตั้งเมืองเชียงกรานว่าควรจะอยู่ ณ ที่ใด คุณวลัยลักษณ์กลับทำเรื่องให้งุนงงไปหนักขึ้นอีก เพราะถึงแม้คุณวลัยลักษณ์จะมีความเห็นว่า เรื่องการท่องเที่ยวผจญภัยของปินโต ที่กล่าวถึงชาวโปรตุเกส 120 คน ร่วมทัพไปกับสมเด็จพระไชยราชาธิราชนั้น เป็นสงครามคราวยกทัพไปตีเชียงใหม่ แต่คุณวลัยลักษณ์กลับมองว่ามิใช่ไปตีเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2088 ตามพระราชพงศาวดาร หากเป็นการไปตีเชียงใหม่เมื่อปี 2081 ซึ่งพงศาวดารเขียนว่าไปตีเมืองเชียงกราน ด้วยเหตุนี้จึงได้วางเมืองเชียงกรานหรือที่คุณวลัยลักษณ์เข้าใจว่าเป็นเมืองที่ปินโตเขียนว่าเมือง Quitirvan ว่าควรจะอยู่เขตต่อแดนอิทธิพลระหว่างล้านนากับอยุธยา คืออยู่เหนือกำแพงและพิษณุโลก …ในกลุ่มเมืองสุโขทัยและเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย…

ข้อมูลเรื่องแม่น้ำเชียงไกรและที่ตั้งเมืองเชียงกรานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีความสำคัญมาก เพราะทำให้การตีความเรื่องทางประวัติศาสตร์จากหลักฐานนี้เปลี่ยนไปจากเดิมกลายเป็นว่าศึกเมืองเชียงกราน เมื่อ พ.ศ. 2081 นั้นมีความเกี่ยวเนื่องมาถึงศึกเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2088 ตามแนวคิดของคุณวลัยลักษณ์

พิจารณาจากหลักฐานที่เป็นตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ฉบับปริวรรตโดยอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, 2543) ได้ให้ข้อมูลเป็นเหตุการณ์ที่ดูเหมือนกับจะเกี่ยวข้องกับการเสด็จยกทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2081 และ 2088 คือหลังศึกชิงดินแดนสุโขทัยระหว่างพระเจ้าติโลกราช กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทั้งสองพระองค์เสด็จสวรรคต ในเวลาใกล้เคียงกัน คือพระเจ้าติโลกราชสวรรคต พ.ศ. 2030 และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต พ.ศ. 2031 ทางเมืองเชียงใหม่มีกษัตริย์ปกครองต่อๆ มา คือพระเจ้ายอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช ถัดจากนั้นเป็นพระเมืองแก้ว พระราชโอรสของพระเจ้ายอดเชียงราย ซึ่งครองราชย์เป็นเวลานาน ถัดจากนั้นจึงถึงสมัยพระเกษเกล้า เอกสารล้านนาบางฉบับว่าเป็นโอรสของพระเมืองแก้ว บ้างก็ว่าเป็นพระอนุชา ได้เสวยราชย์เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2069 หลังจากพระเมืองแก้วสวรรคตเนื่องจากเสวยเนื้อม้าดิบ

จากการศึกษาการเมืองของเชียงใหม่ในช่วงเวลานี้ได้พบว่า ราชวงศ์ของเชียงใหม่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์อื่นๆ ที่สำคัญ คือกับราชวงศ์ที่เป็นกลุ่มเมืองไทยใหญ่แห่งเมืองฝาง หาง สาด จวาด น้อย อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ของสุโขทัย-หลวงพระบาง กลุ่มไทยใหญ่นั้นเข้ามามีอำนาจเป็นขุนนางราชินิกุลในราชสำนัก ที่เห็นชัดตั้งแต่สมัยพระเจ้าสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราช พอถึงสมัยพระเจ้าติโลกราชขุนนางกลุ่มนี้ถูกพระองค์สยบบทบาทลงได้ชั่วคราว แต่หลังจากพระเจ้าติโลกราชสวรรคต ขุนนางราชสำนักส่วนกลางนี้กลับมีอำนาจคืนมา การเปลี่ยนกษัตริย์ผู้ครองเชียงใหม่ อยู่ในอุ้งมือของขุนนางกลุ่มนี้ คือจากพระเจ้ายอดเชียงรายเป็นพระเมืองแก้ว พอถึงสมัยพระเกษเกล้าหรือพญาเกศ ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันอีก คือ

เสนาอามาจทั้งหลายบ่เพิ่งใจพระเมืองเกศ เขาลวดพร้อมกันปลงพญาเกศ เอาไปไว้เสียเมืองน้อย เอาเจ้าพ่อท้าวซายตน เป็นลูกขึ้นนั่งแท่นแก้ว ในปีเปิกเส็ด [พ.ศ. 2081] นั้น…

แต่หลังจากนั้น 2 ปี ขุนนางในราชสำนักส่วนกลางนี้ไม่พอใจท้าวซาย จึงพร้อมใจกันจับประหาร และไปตามเอาพระเมืองเกศจากเมืองน้อยมาเสวยราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่นานก็เกิดเรื่องอีก คือ

...เถิงปีดับไส้ สก 907 ตัว (พ.ศ. 2088/9) พญาเกศเชษฐราชกระทำบุญหื้อชาวเจ้าหนป่าแดงลงอุปสมบทกัมม์ยังท่ามหาสถาน แล้วเข้ามาทางประตูหัวเวียง ยามพาดลันค่ำ แสนคร้าวจำหื้อหมื่นเตริน… หื้อกระทำฆาตวินาศแก่เจ้าพญา เชษฐราชพระเมืองเกศยังหัวข่วงหลวงเบื้องเหนือ…

เรื่องของพระเกษเกล้าหรือพญาเกศเมื่อถูกขุนนางถอดออกจากราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2081 อาจจะไปพ้องเวลาโดยบังเอิญกับปีที่สมเด็จพระไชยราชาธิราชยกทัพขึ้นเชียงไกรเชียงกรานได้ แต่ใน พ.ศ. 2088 ปีที่พระเกษเกล้าหรือพญาเกศถูกปลงพระชนม์นั้น ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่าเรื่องผูกพันมาถึงกรุงศรีอยุธาอย่างชัดเจนคือ

ฝ่ายเมืองแสนหวีทราบเรื่องพญาเกษเกล้าถูกปลงพระชนม์ จึงส่งหมื่นหัวเคียนยกทัพมาเมืองเชียงใหม่อ้างว่าจะมาจับตัวแสนคร้าว แต่แสนคร้าวก็ป้องกันเมืองไว้เป็นสามารถ หมื่นหัวเคียนเข้าเมืองเชียงใหม่ไม่ได้จึงถอยทัพไปที่ลำพูน พบแขกเมืองชาวใต้ (ทูต) 11 คนที่นั่น จึงบอกให้กลับไปยกทัพขึ้นมาเชียงใหม่ แขกเมืองทั้งหลายจึงกลับกรุงศรีอยุธยาแจ้งข่าวสมเด็จพระไชราชาธิราช จึงเสด็จยกทัพขึ้นเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2088 ซึ่งในครั้งนั้นมีทหารโปรตุเกส 120 คนขึ้นไปด้วย

แต่ขณะยกทัพยังไม่ถึงเชียงใหม่ เจ้าเมืองสำคัญของล้านนาที่ประชุมกันอยู่ที่เชียงแสนได้ร่วมกันยกมาเชียงใหม่ จับแสนคร้าวกับพวกฆ่าเสีย และยกมหาเทวีจิรประภาขึ้นเป็นนางพญา ออกเจรจาความเมืองประนีประนอมกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช ครั้งนั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับโดยมิได้เข้าประทับในเมืองเชียงใหม่ เพียงแต่ประทับพักอยู่รอบนอก คือทำบุญวัดโลกโมฬี อาบน้ำที่เวียงเจ็ดรินเชิงดอยสุเทพ และพักพลที่สบควงใต้เมืองลำพูน ก่อนเสด็จกลับอยุธยา

แผนที่จากบทความของวลัยลักษณ์ ทรงศิริ แสดงตำแหน่งแม่น้ำเกรียงไกร หรือลำเชียงไกรในอดีต

ที่ยกเรื่องในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ขึ้นมากล่าวนี้ ชักจะออกนอกเรื่องที่ถามมากไปทุกทีๆ ทั้งนี้ก็เพราะเรื่องราวตอนนี้มีความซับซ้อนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเมืองต่างๆ ซึ่งอยากจะชี้ให้เห็นได้รางๆ ว่า ราชวงศ์เชียงใหม่มีความสัมพันธ์ทั้งกับทางล้านช้าง สุโขทัย ไทยใหญ่ฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน คือเมืองฝาง หาง สาด จวาด น้อย และไทยใหญ่ ฟากตะวันตกของแม่น้ำสาละวินคือเมืองแสนหวี สมเด็จพระไชยราชาธิราชมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์สุโขทัยและกับล้านช้างด้วย ตอนนี้มีเมืองแสนหวีขึ้นมาอีกเมืองหนึ่ง รวมทั้งราชวงศ์ของพระเกษเกล้าหรือพญาเกศด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องการหลักฐานและคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ที่เหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ดี ถ้าจะพูดถึงเรื่องศึกเมืองเชียงกราน บัดนี้มีความชัดเจนว่ามิใช่เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่าอย่างแน่นอน ศึกเมืองเชียงกรานน่าจะเป็นเค้าของการปราบบ้านเมืองที่อยู่เหนือเขตอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา (บนเส้นทางไปตีเชียงใหม่) ดูเรื่องในพงศาวดารที่กล่าวว่ามีการประหารเจ้าเมืองกำแพงเพชรที่กล่าวอยู่ในตอนต่อเนื่องกับการตีเมืองเชียงกราน (ซึ่งไม่ได้บอกว่าเอาชนะได้หรือไม่) น่าจะเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันเกี่ยวกับอุปสรรคและปัญหาของฐานกำลังที่เมืองกำแพงเพชร ก่อนจะยกไปตีเมืองเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาบันทึกของปินโตให้ดี ก็เป็นไปได้อย่างมาก ที่ปินโตเอาเรื่องในสองเวลา คือเมื่อ พ.ศ. 2081 กับ 2088 มาเล่าปะปนกันเป็นเรื่องเดียว เพราะปินโตมีการกล่าวถึงการเสียชีวิตของเจ้าเมืองกำแพงเพชรในการทำศึกครั้งนี้อยู่ในบันทึกของเขาด้วย

ส่วนที่ว่าเรื่องศึกเมืองเชียงกรานเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า มีปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องสุริโยไทด้วยนั้น ก็เห็นจะเนื่องมาจากเป็นความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ติดมาตั้งแต่ครั้งเรียนในชั้นมัธยมของผู้สร้างภาพยนตร์เป็นแน่แท้ (และสามารถอธิบายสาเหตุสงครามไทย-พม่า จนเสียพระสุริโยไทได้อย่างง่ายๆ ด้วย เพราะถ้าจะอธิบายสาเหตุที่แท้จริงทางประวัติศาสตร์ให้หมดจดก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงจนสร้างไม่ได้)

2. เรื่องปีครองราชย์ของสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นเรื่องที่มีปัญหามากเรื่องหนึ่งจากหลักฐานที่เป็นหนังสือพงศาวดารของไทย พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องศักราช เวลา แต่พงศาวดารเรื่องนี้ก็กล่าวเรื่องราวมาจบเพียงปีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2148

จึงเป็นที่แน่นอนว่า สมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระเชษฐาเมื่อ พ.ศ. 2148

หลังจากนั้นจึงต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับพงศาวดารฉบับอื่นๆ ซึ่งมีความบกพร่องมากทางด้านตัวเลขศักราช อย่างไรก็ดีเนื้อหาภายในของพงศาวดารฉบับอื่นๆ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ จนถึงก่อนแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ก็มีความที่ต้องตรวจสอบกันมาก ซึ่งหากนับปีตามหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งในคำอธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า ทรงครองราชย์นาน 8 ปี แต่อาจจะเนื่องจากจำนวนปีในพงศาวดารฉบับอื่นๆ ไม่ตรงกัน อีกทั้งมีเรื่องราวบางตอนไม่สมเหตุผล สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงค้นคว้า โดยอ้างว่าศึกษาจากจดหมายเหตุของฝรั่ง (ฮอลันดา) กับของญี่ปุ่น จึงแปลความหมายว่า สมเด็จพระเอกาทศรถทรงครองราชย์ 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2148-2163 ดังที่คุณศิรภัทรอ่านพบในเรื่อง ไทยรบพม่า

ผมได้เคยพยายามติดตามอ่านเรื่องที่เป็นบันทึกของฝรั่ง ฮอลันดา คือ โยส เซาเตน และวัน วลิต กับรวบรวมจดหมายเอกสารญี่ปุ่นที่พิมพ์ในชุดประชุมพงศาวดาร ก็ยังไม่เห็นเหตุผลหรือหลักฐานที่อาจขยายปีครองราชย์ของสมเด็จพระเอกาทศรถให้ถึง 15 ปีได้

อย่างไรก็ดี อาจารย์ขจร สุขพานิช ได้เคยค้นคว้าศึกษาโดยเฉพาะเอกสารของอังกฤษ และสรุปว่าสมเด็จพระเอกาทศรถทรงครองราชย์อยู่เพียง 5 ปี คือ พ.ศ. 2148-2153 ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับกันมาก ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าวไว้ในหนังสือผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทย ของท่านว่า …คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทยได้รับรองแล้ว… เมื่อเป็นเช่นนี้เนื่องจากตอบในข้อ 1 ยาวมาก สำหรับข้อนี้จึงขอตอบเพียงเท่านี้

แต่หากต้องการค้นคว้าว่า อาจารย์ขจร สุขพานิช ท่านได้ใช้เอกสารหลักฐานอย่างไรในการศึกษาของท่าน ขอเรียนให้ทราบดังนี้ โดยขจร สุขพานิช เรื่อง “สอบศักราชปีรัชกาลสมเด็จพระเอกทศรถ” ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม, 2510), หน้า 58-77) เรื่องเดียวเล่มเดียวกัน ฉบับที่ 3 (กันยายน, 2510), หน้า 86-103 และเรื่องเดียว เล่มเดียวกัน ฉบับที่ 4 (พฤศจิกายน 2510), หน้า 68-91 อ่านให้อิ่มเลยนะครับ

3. ผมได้ตรวจกับต้นฉบับแปลของมองต่อแล้ว เป็นเช่นที่คุณอ่านในศิลปวัฒนธรรมจริงๆ คือกล่าวว่า นัดชินหน่อง เสวยราชย์แทนพระราชบิดาผู้สวรรคตที่กรุงอังวะ จึงได้ตรวจสอบต่อไปว่าต้นฉบับพม่าเขียนเช่นนั้นหรือเป็นความเข้าใจผิด ของผู้แปลเป็นภาษาไทยคือมองต่ออย่างใดกันแน่

ได้ตรวจจากภาษาอังกฤษโดยนายเทียน (อู ออง เทียน, เทียน สุพินทุ, พระไพรสณฑ์สารารักษ์) ใน The Journal of The Siam Society Vol. VII (part II) 1911 แปลจาก ต้นฉบับพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ฉบับเดียวกับที่มองต่อแปล ปรากฏว่ามิใช่เช่นนั้น เรื่องโดยสรุปคงเป็นอย่างเช่นที่ปรากฏใประวัติศาสตร์พม่า ของหม่องทินอ่อง ที่คุณได้อ่านมา คือพระเจ้าอังวะที่สวรรคตคือพระเจ้านยองยานหรือนยองรามตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงใช้เรียก เมื่อสวรรคตโอรสของพระองค์คือพระเจ้าอน็อคเปตลุนได้ขึ้นเสวยราชย์แทน พระองค์คือผู้ที่ปราบฟิลลิป เดอ บริโต ชาวโปรตุเกสเจ้าเมืองสิเรียม ซึ่งมีนัดชินหน่องแห่งเมืองตองอูร่วมอยู่ด้วย ครั้งนั้นพระองค์ได้ประหารทั้งเดอ บริโต และนัดชินหน่อง

การที่เกิดการผิดพลาดขึ้น น่าจะเนื่องจากว่า ในพงศาวดารพม่าหากอ่านเป็นเฉพาะตอนไป อาจไม่ค่อยรู้เรื่องว่าใครเป็นใคร เช่นในตอนนี้ก็ว่ากษัตริย์อังวะสวรรคตโอรสเสวยราชย์แทน มองต่อเลือกแปลเฉพาะที่มีความเกี่ยวข้องกับดินแดนสยาม ความละเอียดต่อไปเกี่ยวกับเรื่องเดอ บริโต ครองเมือง สิเรียม และโอรสแห่งตองอูคือนัดชินหน่องไปอยู่ด้วยกับเดอ บริโต เรื่องเมืองยะไข่ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง มองต่อมิได้อ่านแปล ไปถึงจึงไม่เห็นความชัดเจนว่าใครเป็นใคร ซึ่งจะอยู่ในตอนนี้ ด้วยความหวังดีจะขยายความที่แปลในตอนที่โอรสเสวยราชย์เมืองอังวะแทนพระราชบิดา และคงด้วยมิได้มีความจัดเจนในเรื่องประวัติศาสตร์ จึงนำความเข้าใจผิดของตนเอามาขยายความตอนที่แปล จึงเกิดการผิดพลาดที่สำคัญเกิดขึ้น

สรุปว่าที่ถูกนั้นมิใช่นัดชินหน่อง แต่เป็นอน็อคเปตลุน ผู้ขึ้นเสวยราชย์กรุงอังวะแทนพระราชบิดา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2565