ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวจีนเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมาถึงสยามก็กระจายตัวทำการค้าหรือตั้งรกรากในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในภาคกลาง แต่ก็มีบางส่วนที่ขยับขยายไปอยู่ทางเหนือด้วยเช่นกัน แล้ว “ชาวจีนในหัวเมืองฝ่ายเหนือ” ของสยาม ตั้งรกรากที่นั่นเป็นจำนวนมากในรัชกาลใด
คำตอบก็คือสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

ช่วงนั้นจำนวนชาวจีนในหัวเมืองฝ่ายเหนือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากชาวจีนไม่น้อยได้รับผลกระทบและแรงกดดัน จากการที่รัฐบาลสยามส่งกองทัพไปจัดการเหตุโกลาหล
ขุนนางที่รับผิดชอบนำโดย เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค), จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) และ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปปราบปรามจีน “ตั้วเหี่ย” หรือชาวจีนที่รวมตัวแล้วก่อการจลาจลขึ้นที่แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เมืองนครชัยศรี เมืองราชบุรี และเมืองอื่นๆ ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง
ผลของการปราบปราม ทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งต้องอพยพและหนีความโกลาหลขึ้นไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ
โดยเฉพาะที่เมืองนครสวรรค์ เมืองลพบุรี เมืองอ่างทอง เมืองอุทัยธานี เมืองพรมอินทร์ เมืองชัยนาท และเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นหัวเมืองที่ทางการสยามไม่ได้มีหมายเกณฑ์ส่งไปจับชาวจีนตั้วเหี่ย

นอกจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ชาวจีนบางส่วนยังอพยพไปยังท้องที่ห่างไกลและทุรกันดาร เช่น เมืองนครชุม ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพิษณุโลกอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ชาวจีนในไทยมาจากไหน เปิดประวัติการอพยพยุคแรกเริ่ม ถึงการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม
- ชาวจีนในร้อยเอ็ดกลุ่มแรกคือใคร เป็นต้นตระกูลใดในปัจจุบัน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปวีณา หมู่อุบล. อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ: การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2568