ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” เมื่อปี 2475 ถึงปัจจุบัน “นายกรัฐมนตรีไทย” มีทั้งสิ้น 31 คน แต่มีเพียง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกฯ เพียงคนแรกและคนเดียว ที่ไม่ยอมขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง
นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2
พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) (พ.ศ. 2430-2490) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ โดยการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (20 มิถุนายน พ.ศ. 2476) เนื่องจากคณะรัฐมนตรีปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญ

พระยาพหลฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 สมัยด้วยกัน คือ สมัยที่ 1 (21 มิถุนายน – 16 ธันวาคม พ.ศ. 2476), สมัยที่ 2 (16 ธันวาคม พ.ศ. 2476 – 22 กันยายน พ.ศ. 2477), สมัยที่ 3 (22 กันยายน พ.ศ. 2477 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480), สมัยที่ 4 ( 9 สิงหาคม – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 และสมัยที่ 5 (21 ธันวาคม พ.ศ. 2480 – 11 กันยายน พ.ศ. 2481)
รวมระยะเวลาราว 5 ปี 5 เดือนเศษ
พระยาพหลฯ ได้รับการยกย่องเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีชีวิตแบบพอเพียง เพราะใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่อย่างสมถะ เช่น การแต่งกายที่พบเห็นจะอยู่ในเครื่องแบบทหารเป็นส่วนมาก ถ้าแต่งแบบพลเรือนก็เป็นแบบสากล ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นผ้าสีขาวไม่มีสีอื่น แต่ก็แต่งเมื่อต้องรับแขกบ้านแขกเมือง หรือไปงานพิธีเท่านั้น
ที่สำคัญคือ พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีไทย คนแรกและคนเดียวที่ไม่ยอมขึ้นเงินให้ตัวเอง
ทำไมไม่ยอมขึ้นเงินเดือนตัวเอง
เมื่อพระยาพหลฯ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกฯ มีการพูดกันถึงเรื่องเงินเดือนคณะรัฐมนตรีว่าน้อยเกินไป พระยาพหลฯ จึงแถลงต่อที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 มีความว่า
“เรื่องเงินเดือนนี้ คณะรัฐมนตรีชุดก่อนได้ประชุมปรึกษาลงมติเห็นว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นตำแหน่งการเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย จึงควรมีอัตราเงินเดือนชั้นเดียวคือ 1,500 บาทเท่ากันหมด ส่วนรัฐมนตรีที่มิได้ว่าการกระทรวงนั้น ควรมีเงินเดือนเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งเกียรติยศเดือนละ 200 บาท…”
เมื่อ พระยาพหลฯ แถลงเช่นนั้น มีสมาชิกหลายคนไม่เห็นด้วยและทักท้วงว่า อัตราเงินเดือนรัฐมนตรีน้อยเกินไป ส่วนเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีก็ควรจะสูงกว่าเงินเดือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เพราะหน้าที่และความรับผิดชอบสูงกว่ากันมาก
พระยาพหลฯ จึงชี้แจงเหตุผลที่ไม่เพิ่มเงินเดือนของตนเองว่า
“…ทำงานตำแหน่งนี้ไม่ประสงค์จะมาเพิ่มเงินเดือน เงินเดือนที่ได้มาเป็นเงินของราษฎรจะมาตกลงเพิ่มกันในบัดนี้ เป็นของกระดากใจที่เอาเงินส่วนรวมมาจ่ายเป็นเงินเดือนของคนหมู่น้อยน่าอัปยศ ขอแถลงความจริงใจให้ฟังว่า เรื่องเงินทองนั้นไม่วิตก รู้สึกว่าที่ได้นี้ก็เป็นการมากพอสำหรับตัวเองอยู่แล้วจริงๆ
แต่ที่ว่านี้ขออย่าให้ราษฎรเข้าใจว่าเป็นคนมั่งมี เมื่อคราวเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ราษฎรเข้าใจว่าได้เงินทองมากมาย จึงมีราษฎรเป็นอันมากได้ขอเงินรายละ 100-200 บาท เมื่อเช่นนี้จะให้เพิ่มสัก 500,000 บาท ก็ไม่พอแจกราษฎร…”
เมื่อนายกรัฐมนตรีปฏิเสธการขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง ที่ประชุมจึงตกลงตามมติเดิมคือเงินเดือนนายกฯ เท่ากับเงินเดือนรัฐมนตรี และยังเป็นการตัดปัญหาของผู้ที่เห็นว่าเงินเดือนของรัฐมนตรีน้อยเกินไปนั้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม :
- “นายกรัฐมนตรี” มาจากไหน? ทำไมเรียกว่า “นายกรัฐมนตรี” ?
- เจดีย์ศิลปะไทยในเขมร (2) : อิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วิมลรักษ์ ศานติธรรม. “พระยาพหลพลพยุหเสนา” ใน, http://wiki.kpi.ac.th
ส.พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีผู้ซื่อสัตย์, สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 เมษายน 2568