ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตามรอยเจดีย์ศิลปะไทยในเขมร ตอนที่ 2 อิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ
ในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามกับญวณพยายามแข่งขันอำนาจเหนือดินแดนเขมร ขณะที่ในเขมรเองก็เผชิญปัญหาการเมืองภายใน จนหลายครั้งที่เจ้านายเขมรต้องลี้ภัยเสด็จมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์สยาม ทำให้ราชสำนักเขมรได้รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ หลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ ศิลปกรรมเจดีย์อย่าง “เจดีย์ทรงเครื่อง” ทั้งนี้ ราชสำนักเขมรก็รับอิทธิพลจาก “เจดีย์เพิ่มมุม” มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางแล้ว
สำหรับเจดีย์ทรงเครื่องเป็นเจดีย์ที่พัฒนาต่อมาจากเจดีย์เพิ่มมุมในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยเจดีย์ทรงเครื่องเป็นที่นิยมตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเรื่อยมาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 1-3 แต่จะพบมากในรัชกาลที่ 3 มีเอกลักษณ์ คือ การใช้ชุดฐานสิงห์ 3 ชั้น มีบัวทรงคลุ่มรองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นบัวทรงคลุ่มเถา ตั้งแต่ฐานจนถึงบัลลังก์ใช้การเพิ่มมุม มุมมีขนาดเล็กและเท่ากัน และมีจุดเด่นคือ มีการประดับตกแต่งเจดีย์ โดยเฉพาะบริเวณองค์ระฆัง ต้นแบบที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ เจดีย์ที่วัดโพธิ์ และเจดีย์ทองคู่หน้าปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระแก้ว

ราชสำนักเขมรรับเอาศิลปกรรมข้างต้นไป ปรากฏอยู่ในกลุ่มเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของกษัตริย์เขมรที่เขาราชทรัพย์ กรุงอุดงมีชัย แต่จะมีความแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงเครื่องของราชสำนักกรุงเทพฯ บ้าง คือ ส่วนยอดยังคงเป็นปล้องไฉน ไม่ใช่บัวทรงคลุ่มเถาแบบเจดีย์ทรงเครื่อง สัดส่วนขององค์ระฆังจะสูงกว่าปกติ และมีส่วนยอดที่เตี้ยกว่าเจดีย์ทรงเครื่องของราชสำนักกรุงเทพฯ อาจเป็นไปได้ว่า ช่างเขมรยังคงยึดแบบจากเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิองค์ที่สร้างขึ้นก่อนหน้า อย่าง เจดีย์ไตรตรึงษ์ แต่ก็ปรับเอาศิลปกรรมใหม่เขามาผสมผสานด้วย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ เจดีย์บรรจุพระบรมอัฐินักองค์ด้วง หรือสมเด็จพระหริรักษ์รามาอิศราธิบดี ที่กรุงอุดงมีชัย ซึ่งโดยทั่วไปคล้ายกับเจดีย์ไตรตรึงษ์ คือ เป็นเจดีย์เพิ่มมุม แต่บริเวณองค์ระฆังประดับตกแต่งด้วยลวดลายพวงมาลัย อันเป็นลักษณะเด่นของเจดีย์ทรงเครื่องของราชสำนักกรุงเทพฯ
แต่ก็มีเจดีย์บางองค์ในเขมรที่รักษาระเบียบแบบแผนของเจดีย์ทรงเครื่องของราชสำนักกรุงเทพฯ ทุกประการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ เจดีย์บริวารประจำมุมที่วัดปราบปรามปัจจามิตร (วัดกดุลโดนเตียว) ที่เมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3
เจดีย์ทรงเครื่องเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 กลับทรงมีพระราชนิยมเจดีย์ทรงระฆังมากกว่า จึงปรากฏการสร้างเจดีย์ทรงระฆังจำนวนมาก แต่มีเจดีย์คู่หนึ่งที่วัดราชสิทธารามจะมีความพิเศษกว่าที่อื่น เพราะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบทรงเครื่อง คือมีการประดับลวดลายพวงมาลัยบริเวณองค์ระฆัง ซึ่งลักษณะนี้พบน้อยมากในไทย แต่กลับพบมากในเขมร
ดังเช่น เจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จสีสุวัตถิ์ ที่กรุงอุดงมีชัย เป็นเจดีย์ทรงระฆัง แต่มีการประดับตกแต่งองค์ระฆังด้วยลวดลายพวงมาลัยเหมือนอย่างเจดีย์ทรงเครื่อง แต่ส่วนยอดยังคงเป็นปล้องไฉน ไม่ใช่บัวทรงคลุ่มเถาแบบเจดีย์ทรงเครื่อง และมีการเพิ่มพรหมพักตร์เหนือองค์ระฆัง

สำหรับเจดีย์ทรงเครื่องของราชสำนักกรุงเทพฯ นิยมสร้างเป็นเจดีย์คู่ด้านหน้าพระอุโบสถ, เจดีย์บริวารประจำมุมทั้ง 4 ทิศ ของพระอุโบสถ และเจดีย์รายเพื่อบรรจุอัฐิประจำตระกูลผู้อุปถัมภ์วัด คติการสร้างเช่นนี้ก็ส่งไปยังเขมรด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางแล้ว เช่น การสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิ

อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2568