ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตามรอยเจดีย์ศิลปะไทยในเขมร ตอนที่ 1 อิทธิพลจากราชสำนักอยุธยา
เขมรสมัยหลังพระนครเป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญความวุ่นวายหลายด้าน หากไม่รบพุ่งกันภายใน ก็มักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรข้างเคียงอย่างอยุธยา และญวน
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำสงครามพิชิตกรุงละแวก ราชธานีของเขมร ในสมัยนักพระสัตถา หรือสมเด็จพระมหินทราชา เขมรก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอยุธยา เจ้านายเขมรหลายพระองค์ต้องเสด็จมาประทับที่อยุธยา ในฐานะองค์ประกันตามโบราณราชประเพณี เช่น สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ พระราชโอรสในนักพระสัตถา รวมถึงสมเด็จพระชัยเชษฐาที่ 2 พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณ

ต่อมา ภายใต้การสนับสนุนของอยุธยา สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณจึงได้เสด็จกลับมาครองราชย์ที่เขมร จนเมื่อพระองค์สวรรคต สมเด็จพระชัยเชษฐาที่ 2 จึงขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร และทรงสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระราชบิดาไว้ที่เขาราชทรัพย์ กรุงอุดงมีชัย มีจารึกภาษาเขมรระบุปีที่สร้าง คือ พ.ศ. 2166
เจดีย์องค์นี้มีชื่อว่า “เจดีย์ไตรตรึงษ์” ซึ่งได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากราชสำนักอยุธยา

ในสมัยอยุธยาตอนกลาง “เจดีย์เพิ่มมุม” เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลานี้ มีลักษณะสำคัญคือ การทำองค์ระฆังในผังเพิ่มมุม (หรือที่นิยมเรียกกันว่าย่อมุม) ซึ่งไม่เคยปรากฏในงานศิลปกรรมอื่นใดมาก่อน โดยพัฒนาการเพิ่มมุมและส่วนฐานบัวลูกฟักมาจากเจดีย์ทรงปรางค์, ระเบียบของชุดรองรับองค์ระฆังมาจากศิลปกรรมของล้านนา, องค์ประกอบขององค์ระฆังและส่วนยอด เช่น เสาหาร มาจากเจดีย์ทรงระฆังของอยุธยาเอง และมีส่วนฐานสิงห์ที่นำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมครั้งแรกในสมัยนี้อย่างเช่น เจดีย์ศรีสุริโยทัย
เจดีย์ไตรตรึงษ์ได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากเจดีย์เพิ่มมุมของราชสำนักอยุธยา กล่าวคือ มีระเบียบของเจดีย์แบบเพิ่มมุม ตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงบัลลังก์อยู่ในผังเพิ่มมุมทั้งหมด ประกอบด้วยฐานเขียงและฐานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟัก 1 ฐาน ฐานสิงห์ 1 ฐาน ชุดรองรับองค์ระฆังเป็นมาลัยเถา 3 ชั้น มีบัวปากระฆังและองค์ระฆัง ต่อด้วยบัลลังก์ ก้านฉัตร ปล้องไฉน และปลี ตามระเบียบของศิลปกรรมอย่างเจดีย์ทรงระฆังทั่วไป
แต่จะมีส่วนเพิ่มเติมเข้ามาที่แตกต่างจากเจดีย์เพิ่มมุมของราชสำนักอยุธยา คือ บริเวณฐานเขียงมีการประดับช้างล้อม โดยแบ่งด้วยเสาเป็นห้อง ๆ ส่วนฐานประทักษิณแบ่งเป็นช่องเสา และประดับตกแต่งด้วยกลีบบัวที่ฐานบัวคว่ำทุกชั้น ซึ่งอาจเป็นการประดับเพิ่มในยุคหลัง อย่างไรก็ตาม บริเวณฐานสิงห์อาจไม่เป็นระบบชัดเจนเท่ากับเจดีย์เพิ่มมุมของราชสำนักอยุธยา แต่ก็สามารถดูได้ว่าเป็นฐานสิงห์
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบเจดีย์ไตรตรึงษ์ กับเจดีย์ศรีสุริโยทัย จะเห็นว่าเจดีย์ไตรตรึงษ์เป็นเจดีย์เพิ่มมุมสมัยอยุธยาตอนกลางที่มีพัฒนาการแล้ว เพราะมีการปรับลดองค์ประกอบต่าง ๆ ลง เช่น ไม่มีเรือนธาตุ และจัตุรมุขที่มีเจดีย์ยอดอย่างเจดีย์ศรีสุริโยทัย ซึ่งนับเป็นเจดีย์เพิ่มมุมรุ่นแรก ๆ ของอยุธยา

นอกจากเจดีย์ไตรตรึงษ์ สมเด็จพระชัยเชษฐาที่ 2 ยังทรงสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของนักพระสัตถาบนเขาราชทรัพย์อีกองค์ โดยมีรูปแบบศิลปกรรมเป็นเจดีย์เพิ่มมุมเช่นเดียวกัน แต่มีระบบเพิ่มมุมที่ใหญ่กว่ามุมขนาบมาก ฐานสิงห์ทำเป็น 2 ฐาน ส่วนที่เป็นมาลัยลูกแก้วยังคงเหมือนระบบของเจดีย์เพิ่มมุม แต่บริเวณส่วนยอดมีปล้องไฉนขนาดใหญ่มาก อาจเป็นการบูรณะเพิ่มเติมภายหลัง

เจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้ นับเป็นหลักฐานที่สะท้อนอิทธิพลทางศิลปกรรมจากราชสำนักอยุธยาในเขมรได้เป็นอย่างดี และสันนิษฐานว่า เขมรก็รับเอาคติการสร้างเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิมาจากราชสำนักอยุธยาด้วย เหมือนอย่างการสร้างเจดีย์ศรีสุริโยทัย ที่มีการบรรจุพระบรมอัฐิของพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
อ่านเพิ่มเติม :
- เจดีย์ศิลปะไทยในเขมร (2) : อิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพ
- ทำไมต้องเรียกคำช่างว่า “เพิ่มมุม” แทนคำว่า “ย่อมุม”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. พุทธศิลป์ไทยในอาเซียน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2568