เหตุใดรัชกาลที่ 5 ทรงบอกว่า “นึกว่าแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าจะไม่ได้เห็นดอกพยอม”

รัชกาลที่ 5 สวนดุสิต วังสวนดุสิต สวนป่าดุสิต ดอกพะยอม
รัชกาลที่ 5 ทรงสำราญพระอิริยาบถ ทอดพระเนตรแม่ค้าที่หาบของมาขายในพื้นที่สวนดุสิต (ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ใน มติชนออนไลน์)

ดอกพะยอม ดอกไม้ที่รัชกาลที่ 5 ทรงคิดว่าจะไม่ได้เห็นในแผ่นดินพระองค์

“ต้นพะยอม” เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้นำไปปลูกใน “สวนป่าดุสิต” ภายในสวนดุสิต สถานที่ประทับแปรพระราชฐานและพักผ่อนพระราชอิริยาบถช่วงท้ายรัชกาล จุดเด่นของต้นพะยอม ที่ทุกวันนี้ถือเป็นไม้มงคล คือ “ดอกพะยอม” สีขาวนวลตา ส่งกลิ่นหอม ที่น่าจะหาชมได้ยาก ถึงขั้นที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “นึกว่าแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าจะไม่ได้เห็นดอกพยอม”

พะยอม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 15-30 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ ทรงพุ่มสวยงาม แตกกิ่งก้านจำนวนมาก หากปลูกในที่โล่งแจ้งและไม่มีพันธุ์ไม้ใหญ่ชนิดอื่นอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่ง เพราะเป็นไม้ที่สวยงามตามธรรมชาติ ทั้งยังช่วยสร้างร่มเงาได้เป็นอย่างดี

ดอกพะยอม
ต้นพะยอมที่ออกดอกปีละครั้ง แต่บางปีก็ไม่ออกดอกเลย (ภาพ :
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง)

ใบของต้นพะยอมเป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปขอบขนาน ปลายมนหรือเป็นติ่งสั้นๆ โคนมน ขอบใบเรียบเป็นคลื่น ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน เส้นใบด้านหลังสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร กว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร

ส่วนดอกพะยอมมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอมจัด ออกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่งและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบดอก 5 กลีบ เรียงเวียนกันแบบกังหัน เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร เกสรตัวผู้ 15 อัน จะออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้นในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์

ส่วนผลเป็นผลแห้ง รูปทรงไข่และกระสวยคล้ายผลยาง ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนมีปีก 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปทรงขอบขนาน 3 ปีก ยาว 8 เซนติเมตร และปีกสั้น 2 ปีก แต่ละปีกยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ผลแก่สีน้ำตาลแดง เมล็ดเกลี้ยง ปลายมีติ่งแหลม เวลาแก่หลุดร่วงแล้วจะหมุนด้วยปีกไปไกล ในหนึ่งผลมีเพียง 1 เมล็ด และจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมไปจนถึงเดือนมีนาคม

ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมปลูกต้นพะยอมมากนัก เพราะต้องใช้พื้นที่กว้าง เป็นพันธุ์ไม้ที่โตช้า และออกดอกเพียงปีละครั้ง ทำให้พันธุ์ไม้นี้เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ มักพบตามป่าเต็งรังหรือป่าที่ถูกรบกวนน้อย ป่าเบญจพรรณแล้ง และป่าดิบแล้งทั่วไปทุกภาคในไทย

พะยอมยังมีประโยชน์ทางสมุนไพร ใช้บรรเทารักษาโรคได้หลายอาการ เช่น นำเปลือกลำต้นมาต้มน้ำ ดื่มแก้ท้องเดิน แก้ท้องร่วง เป็นยาสมานแผลลำไส้ ดอกอ่อนมีรสมัน ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำมาแกงส้ม ต้มจืด ผัดน้ำมันหอย ฯลฯ ชันไม้ ใช้เป็นน้ำมันชักเงา

รัชกาลที่ 5 สวนดุสิต ดอกพะยอม
ความร่มรื่นในสวนดุสิต (ภาพจากมติชนออนไลน์)

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้มี “สวนป่าดุสิต” ในสวนดุสิต พระองค์โปรดให้นำต้นไม้นานาพันธุ์มาปลูก อาทิ มะฮอกกานี ปาล์ม ประดู่ พิกุล จำปา เข็ม กรรณิการ์ ลำเจียก มะม่วง ลิ้นจี่ มะพร้าว รวงผึ้ง นมแมว กระดังงาไทย กระดังงาจีน โกศล พลับพลึง การะเกด สารภี เต่าเกียด หางนกยูง ลิ้นมังกร และต้นอื่นๆ อีกมากมายนับร้อยๆ พันธุ์

รวมถึงต้นพะยอม

ต้นพะยอมน่าจะออกดอกยาก ทำให้เมื่อดอกพะยอมเผยโฉมขึ้น รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) ใจความว่า

“…จะบอกข่าวที่ควรจะยินดีอย่างหนึ่ง ต้นพยอมที่ไปปลูกเรือนนางดาราออกดอกแล้ว นึกว่าแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าจะไม่ได้เห็นดอกพยอม ก็มาได้เห็นเช่นนี้จะว่ากระไร สงไสยว่าต้นอื่นจะไม่ออกเหมือนกัน แต่หากไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ขอให้ไปเที่ยวเดินมองๆ ดูที่ต้นพยอม ดอกตูมจะบ้างที่แห่งไหน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จันระวี จิตรสมาน. “พะยอม ต้นไม้ประจำกรมวิชาการเกษตร”.

พระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระปิยมหาราชพระราชทานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์และประวัติเจ้าคุณพ่อ อ้างถึงใน, บัณฑิต จุลาสัย, พีรศรี โพวาทอง และรัชดา โชติพานิช. วังสวนดุสิต. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2568