จำปา (ลั่นทมสยาม) เข้าสู่ไทยอย่างไร ค้นหลักฐาน ไฉนกลายเป็น “ลีลาวดี”

จำปา ลั่นทม
ภาพประกอบเนื้อหา - Plumieria

พืชในบ้านเรานี้มีหลากหลายชนิด บางชนิดมีหลายชื่อเรียก และปฏิเสธได้ยากว่า “จำปา” แห่งชมพูทวีปนั้นส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมในแถบเอเชีย มีชื่ออย่างจำปามอญ จำปาเขมร จำปาลาว ขณะที่คนไทยเรียกว่า “ลั่นทม” แต่ยังมีความสับสนลักลั่นในชื่อเรียก ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ใครเปลี่ยนชื่อลั่นทมเป็นลีลาวดี”

ดร. องค์ บรรจุน คอลัมนิสต์เกี่ยวกับมอญ อธิบายไว้ในบทความ “จำปามอญ จำปาขอม จำปาลาว กับลั่นทมสยามและลีลาวดี” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2560 ว่า ลั่นทมหรือ Plumieria ได้ชื่อมาจาก ชาร์ล พลัมเมอร์ นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ค้นพบลั่นทมแห่งหมู่เกาะแคริบเบียน ทวีปอเมริกาใต้ ก่อนนำกลับมาราชสำนักตามคำบัญชาให้ออกค้นหาพืชพันธุ์แปลกใหม่ ภายหลังจึงได้รับตั้งชื่อทางวิชาการเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Frangipani (กลิ่นหอม) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plumeria rubra L.

นักวิชาการเกษตรไทยเชื่อว่า ลั่นทมในประเทศไทยถูกนำเข้ามาจากอเมริกาใต้เมื่อราว 500 ปีก่อนโดยนักเดินเรือชาวสเปนหรือโปรตุเกส บ้างว่าเข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่รับรู้กันดีว่ายุคนั้นมีฝรั่งมาค้าขายกับอยุธยาจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ ลั่นทมจึงไม่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมไทยยุคก่อนนั้น แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตอนต้นแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ลั่นทมถูกนำเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยพ่อค้าฝรั่งเศสเมื่อสมัยอยุธยา ไม่ก็โดยกองทัพฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมเมื่อราว 100 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนบทความอธิบายว่า เพิ่งเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ชนชั้นสูงในไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ดังปรากฏว่ามีการปลูกลั่นทมอย่างเอิกเกริกตามวังและวัดหลวงแทบทุกแห่ง

ส่วนคนเขมรและคนแถบภาคใต้ของไทยเรียกลั่นทม (ลีลาวดี) ว่า “จำปาขอม” คนอินโดนีเซียที่เรียก “จำปากัมพูชา” (Bunga Kamboja) แปลว่า บุหงากัมโพช คนลาวเรียก “จำปาลาว” และลาวก็ถือเป็นดอกไม้ประจำชาติ เคยใช้เป็นสัญลักษณ์ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมาแล้ว คนจีนเรียก “จี ตัน ฮวา” (Ji Dun Hua) แปลว่า ดอกไข่ไก่ ส่วนมอญเรียก “จำปามอญ”อ่านว่า (จำปาโหม่น) 

ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่ ลั่นทม (จำปา) “ผูกติดกับความเป็นมาของอาณาจักรจามปาของพวกจาม ฝรั่งนำดอกไม้ชนิดนี้มาจากอเมริกาใต้ แล้วไปโผล่ที่จามปา” แต่ในดินแดนประเทศไทยก็มีชื่อ “จามเทวี” กษัตรีมอญแห่งอาณาจักรหริภุญชัย (ครองราชย์ พ.ศ. 1206-13) รวมทั้งเมืองซับจำปา เมืองโบราณสมัยทวารวดี ที่แม้จะไม่ปรากฏชื่อในคำเรียกของชาวเมืองยุคสมัยนั้น แต่ชื่อที่ได้มาก็เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณในปัจจุบัน นั่นคือ ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี สถานที่ซึ่งมีต้นจำปาขนาดใหญ่จำนวนมากขึ้นในบริเวณที่มีน้ำซับพุขึ้นมาจากใต้ดิน

จำปาดังกล่าวแม้จะจัดอยู่ในวงศ์จำปา แต่ก็เป็นจำปาพันธุ์พิเศษ มีดอกสีขาวขนาดใหญ่ หอมนาน ทว่าออกดอกยาก ต่างจากจำปีและจำปาชนิดอื่น สำนักงานหอพรรณไม้ เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ รับรองว่าเป็นพืชพันธุ์ใหม่ของโลก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อว่า “จำปีสิรินธร” (Magnolia sirindhorniae Noot. & Chalermglin) นอกจากนี้ในพื้นที่บริเวณตำบลซับจำปายังเต็มไปด้วยชื่อบ้านนามเมืองที่ล้วนสัมพันธ์กัน เช่น วัดซับจำปา บ้านซับจำปา วัดศรีจำปา บ้านดงจำปา และวัดดงจำปา

จำปา

“จำปา” (Champaca) เป็นพืชในสกุล Magnolia วงศ์ Magnoliaceae เช่นเดียวกับจำปี ในความรับรู้ของคนไทย ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของจำปาอยู่แถบประเทศไทย มาเลเซีย จีน และอินเดีย ซึ่งคนอินเดียเรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า “จำปากะ” (Champaca) ดังปรากฏอยู่ข้างท้ายของชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia champaca Linn. องค์ บรรจุน มองว่า ทำให้การเป็นแหล่งกำเนิดจำปาของอินเดียดูจะมีน้ำหนักมากกว่าที่แห่งอื่น

“จำปา” ยังเป็นดอกไม้โบราณที่อยู่ในพิธีกรรมสำคัญของชาวอินเดียหลายหลาก ชาวฮินดูถือคติว่าจำปาเป็นไม้มงคลเช่นเดียวกับโพธิ์และไทร จึงปลูกไว้ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และถูกใช้ในพิธีกรรมของพราหมณ์มาแต่โบราณ ในทางพุทธศาสนาก็ถือว่าจำปาเป็นต้นไม้ตรัสรู้ของอนาคตพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าคติดังกล่าวคงเดินทางมาสู่สุวรรณภูมิพร้อมกับการค้าและการเผยแผ่ศาสนาทั้งพราหมณ์และพุทธ

ดังปรากฏร่องรอยคติความเชื่อเกี่ยวกับดอกจำปาที่ถูกใช้เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรมสำคัญของราชสำนักและชนชั้นสูงของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการยกย่องเป็น “พระยาแห่งดอกไม้” การกรองจำปาตกแต่งมณฑลพิธีภายในราชสำนัก ตลอดจนรับแขกบ้านแขกเมือง แม้แต่ผู้คนทั่วไปก็ใช้อ้างอิงในฐานะสีสำคัญสีหนึ่ง นั่นคือ “สีดอกจำปา”

ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น คติความเชื่อเกี่ยวกับจำปาจากอินเดียมาสู่สุวรรณภูมิ มักมีพื้นฐานมาจากการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา โดยเฉพาะทางด้านพระพุทธศาสนา เมื่อราว พ.ศ. 236 ภายหลังพระเจ้าอโศกมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 270-331) เป็นองค์อุปัฏฐากสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ ได้จัดส่งสมณทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนายังประเทศต่างๆ รวม 9 สาย ซึ่งสายที่ 8 นำโดยพระโสณเถระและพระอุตตรเถระมายังเมืองสะเทิมของมอญ ดินแดนสุวรรณภูมิ ดังปรากฏในจารึกกัลยาณี ของพระเจ้าธรรมเจดีย์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2015-35) กษัตริย์มอญแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2022 (จารึกกัลยาณี, 2526 : 123)

จากตำนาน พงศาวดาร และจารึกภาษามอญทำให้เห็นว่า แม้มอญจะใกล้ชิดกับอินเดียทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และโดยเฉพาะอักษรภาษามาอย่างยาวนาน แต่มอญก็มีคำเรียกพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นของตนเองต่างหาก องค์ บรรจุนมอง่า จึงน่าเชื่อได้ว่า ก่อนการมาถึงของ “จำปากะ” จากอินเดีย ไม่เพียงแต่มอญ ชาวอุษาคเนย์เองก็คงจะมีไม้ดอกที่ชื่อว่า “จำปา” อยู่ก่อนแล้ว แม้ภายหลังต่อมาคนไทยจะเรียกขานว่า “ลั่นทม” ก็ตามที

ลั่นทม

ปัจจุบันมอญยังคงเรียก “ลั่นทม” ของไทยในชื่อดั้งเดิมว่า “จำปาโหม่น” (จำปามอญ) ขณะที่คนลาวและเขมรเรียกว่า “จำปา” (เฉยๆ) แต่คนนอกวัฒนธรรมหรือชาติเพื่อนบ้านข้างเคียงที่คุ้นว่า “จำปา” (เฉยๆ) เป็นของดั้งเดิมของชนชาตินั้นๆ จึงเติมชื่อชนชาตินั้นๆ เข้าไปด้วยเพื่อให้ต่างจาก “จำปากะ” ที่มาจากอินเดียภายหลังว่า “จำปาลาว” จำปาขอม” หรือ “จำปากัมโพช” เป็นต้น

ความพยายามสร้างศัพท์สันนิษฐานเกิดขึ้นหลายแนวคิด บ้างว่า “ลั่นทม” มาจาก “ผกาธม” หมายถึงดอกไม้ใหญ่ หรือ ดอกไม้แห่งนครธม อย่างที่พบคำอธิบายลักษณะนี้ได้ทั่วไปในอินเตอร์เน็ต นั่นคือ “ลั่นทม เป็นไม้ที่นำมาจากเขมร…เล่ากันว่า ไม้นี้นำเข้ามาปลูกในไทย เมื่อคราวไปตีนครธมได้ชัยชนะ แล้วเรียกชื่อเป็นที่ระลึกว่า ‘ลั่นธม’ เพราะ ‘ลั่น’ แปลว่า ตี เช่น ลั่นฆ้อง ลั่นกลอง ‘ธม’ หมายถึง ‘นครธม’ ภายหลัง ‘ลั่นธม’ เพี้ยนเป็น ‘ลั่นทม’…” เป็นการอธิบายความว่า ไทยได้พันธุ์ไม้ชนิดนี้มาภายหลังพระเจ้าสามพระยา หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงยกทัพพิชิตนครธมเมื่อ พ.ศ. 1974

บ้างว่ามีที่มาจาก “สรันธม” ที่ว่า “แผลงมาจากภาษาเขมรโบราณว่า ‘สรันธม’ แปลว่า ดอกไม้แห่งความรักที่มั่นคง…” หรือ “…‘ลั่น’ แปลว่าแตกหัก หรือละทิ้ง ‘ลั่นทม’ จึงหมายถึงการละแล้วซึ่งความโศกเศร้า ทุกข์ระทม…”

บ้างว่ามาจาก “ผกาธม” ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่าดอกไม้ใหญ่ ดังจะเห็นว่า คำอธิบายเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากล เป็นการโยนบาปให้กับ “ลั่นทม” ที่ก่อนหน้าไม่นานคนไทยยังมองว่าเป็นชื่อพันธุ์ไม้อัปมงคล เนื่องจากพ้องกับคำว่า ระทม ซึ่งแปลว่า เศร้าโศก ทุกข์ใจ แต่ไหนแต่ไรมา เราจึงเห็นว่าจะมีก็แต่ในวัดและวังเท่านั้นที่ปลูกต้นลั่นทมให้เห็น ไม่สมควรที่จะปลูกในเขตบ้าน ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นอื่นและตอกย้ำเพื่อนบ้านที่สมอ้างว่าเป็นเจ้าของลั่นทม ก่อนที่ไทยจะได้มาครอบครองพร้อมชัยชนะ ทั้งนี้ก็เป็นการมุ่งอธิบายแก้ต่างให้พันธุ์ไม้ที่โชคร้ายเพราะมีชื่อเป็นอัปมงคล เพื่อให้สอดรับกับตลาดค้าต้นไม้ในช่วงเวลาที่ผู้คนหันมานิยมเพาะเลี้ยงลั่นทมกันอย่างแพร่หลายเป็นล่ำเป็นสัน

ทั้งสองสามชื่อที่กล่าวมาข้างต้น ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นการลากเข้าศัพท์ภาษาเขมรทั้งสิ้น แบบต่างคนต่างทำแก้ขัดระหว่างที่ยังไม่มีใครศึกษาจริงจังในทางวิชาการ ข้อควรระมัดระวังก็คือ คำอธิบายเหล่านั้นผูกเข้ากับประวัติศาสตร์สงครามในอดีตระหว่างไทยและกัมพูชา ไม่ต่างอะไรกับกุหลาบมอญหรือกุหลาบเมาะลำเลิง ที่หากเข้าไปค้นหาที่มาในอินเตอร์เน็ตก็จะพบคำตอบที่ไม่ต่างกัน นั่นคือ “ที่มันมีชื่อว่ากุหลาบมอญ ก็เพราะมันเป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงนำกลับมาปลูกในประเทศไทยหลังจากเสร็จศึกสงครามนั่นเอง…” แต่ใครอย่าไปเที่ยวหากุหลาบทั้ง 2 ชนิดนั้นในเมืองหงสาวดีเลย ไม่มีให้เห็นง่ายๆ อย่างแน่นอน

จากที่ผู้เขียนบทความประมวลที่มาของลั่นทมทั้งหมดแล้ว องค์ บรรจุน แสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลที่น่ารับฟังก็คือ “ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยโดยชาวฝรั่งเศสหรือชาวยุโรป” เบื้องต้นชาวฝรั่งเศสหรือชาวยุโรปคงนิยมปลูกลั่นทมไว้ข้างหลุมศพเพื่อเป็นจุดหมายตา ลั่นทมจึงมีภาพลักษณ์คู่กับหลุมศพหรือสุสานฝรั่งในสายตาคนไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรู้สึก “ระทม” ส่วนที่มาของชื่อ “ลั่นทม” คงต้องอาศัยการสืบค้นอย่างถี่ถ้วนกว่านี้

เมื่อพิจารณาในส่วนของการเรียกชื่อพันธุ์ไม้นี้ของมอญพบว่า มอญน่ารู้จัก “จำปา” (ลั่นทม) ก่อน “จำปากะ” (จำปา) จึงอาจเป็นไปได้ว่า ต้นจำปาของมอญ เขมร และลาว หรือลั่นทมของไทย น่าจะเป็นต้นไม้พื้นถิ่นของภูมิภาคนี้หรือไม่ก็เป็นพืชต่างถิ่นที่เข้ามาก่อน หรืออาจจะมีความเป็นมาที่ซับซ้อนกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะเพียงคำว่า “ลั่นทม” เองก็แปลกประหลาด ด้วยเพื่อนบ้านสุวรรณภูมิล้วนเรียกขานด้วยชื่อ “จำปา” ด้วยกันทั้งสิ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนชื่อ เพราะเหตุที่มันถูกพยายามเปลี่ยนชื่อ มาจากชื่อของมันโดยตัวของมันเอง ไม่เกี่ยวข้องกับความแปลกประหลาดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม การสืบค้นไม่พบหลักฐานว่าใครเป็นผู้เปลี่ยนชื่อจากลั่นทม เป็น ลีลาวดี แม้จะร่ำลือกันว่า สมเด็จพระเทพฯ เป็นผู้พระราชทานชื่อให้ แต่ก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาปฏิเสธแล้ว ดังนั้นจึงน่าจะเชื่อได้ว่าคงมีคนคิดชื่อใหม่ขึ้นไล่เลี่ยกับเมื่อคราวสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วง พ.ศ. 2547-48

ครั้งนั้นมีเตรียมการสั่งต้นลั่นทมในนามลีลาวดีเข้าไปตกแต่งสนามบินสุวรรณภูมิจำนวนมาก อ้างว่าเป็นต้นไม้มงคลนามพระราชทาน คราวนั้นเกิดกระแส “ลั่นทมฟีเวอร์” เจ้าของสวนไม้ดอกไม้ประดับปลูกเลี้ยงกันไม่ทัน พาขาดตลาด ลั่นทมเก่าแก่ตามวัดถูกขโมยขุดไปขายไม่เว้นแต่ละวัน มีการนำมาทำไม้กระถางตกแต่งบ้านเรือนกันเอิกเกริก ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่นานยังตั้งข้อรังเกียจว่าจะพาเจ้าของบ้านทุกข์ระทม และเมื่อกระแสซาลง หลังการตรวจสอบงบประมาณในการจัดสวนและจัดซื้อต้นลั่นทมที่สูงถึง 700 ล้านบาท เจ้าของสวนที่ซื้อหรือเลี้ยงไว้รอเก็งกำไรก็ทุกข์ระทมจริงๆ เพราะขายไม่ออก หันมาเปลี่ยนชื่อไม้พันธุ์ใหม่ๆ ให้เป็นมงคลจูงใจคนที่ยึดติดกับชื่อต่อไป

ใครเดินตลาดต้นไม้จตุจักรช่วงนั้นก็จะเห็นต้นไม้ที่คุ้นเคยแต่มีป้ายชื่อเป็นมงคลปักอยู่โคนกระถาง หากยังขายไม่ออก สัปดาห์ต่อมาก็เปลี่ยนชื่อใหม่ จนบางครั้งคนตั้งชื่อเองก็ลืม และพันธุ์เดียวกันแต่มีหลายชื่อ ลูกค้าแต่ละรายจะรับรู้ชื่อที่ไม่เหมือนกันเลย คงเหมือนกับคนที่ถูกหมอดูทักให้เปลี่ยนชื่อ บางคนเปลี่ยนเป็นสิบชื่อ ชีวิตก็ยังไม่ดีขึ้น นั่นคงเป็นเพราะยังไม่ได้เปลี่ยนลักษณะนิสัยมากกว่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “จำปามอญ จำปาขอม จำปาลาว กับลั่นทมสยามและลีลาวดี” เขียนโดย องค์ บรรจุน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2563