
ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
กิจการ “โรงสีข้าว” ของไทย เริ่มขึ้นปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 ระยะแรกดำเนินการโดยชาวยุโรป จากนั้นราว 10 ปีเศษ ก็เริ่มเปลี่ยนมือเป็นของชาวจีนเสียส่วนใหญ่ แต่เบื้องหลังโรงสีของชาวจีนจำนวนไม่น้อยมีนายทุนหรือเจ้าของตัวจริงเป็นชนชั้นสูง ที่มีทั้งเจ้านายและขุนนางไทย
โรงสีข้าวของคนไทย
โรงสีเครื่องจักรเครื่องแรกในประเทศ ชื่อ “โรงสีจักรเมืองอเมริกา” ของบริษัทชาวอเมริกัน ตั้งอยู่ที่คลองบางน้ำชน ถนนตก กรุงเทพฯ เปิดดำเนินการ พ.ศ. 2401 ในสมัยรัชกาลที่ 4 จากนั้นก็มีโรงสีของชาวตะวันตกอื่นๆ ตามมา จน พ.ศ. 2413 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ชาวจีนที่เป็นเจ้าของโรงสีมือก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นโรงสีเครื่องจักร
ส่วนโรงสีแห่งแรกที่คนไทยเป็นเจ้าของเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2409 เมื่อพระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล-ต่อมาคือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง) ซื้อกิจการโรงสีสก๊อตแอนด์กำปะนี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2409

คนไทยที่ดำเนินกิจการโรงสีส่วนใหญ่มักเป็นชนชั้นสูงในสังคม ได้แก่ เจ้านายและขุนนาง ที่เป็นเช่นนั้น เพราะกิจการโรงสีขณะนั้นกำไรดีมาก อันเนื่องจากการส่งออกข้าวได้ราคาดี และรัชกาลที่ 5 ทรงสนับสนุนให้เจ้านายและขุนนางนำเงินไปลงทุนทำการค้าในอาชีพอื่นๆ
หากคนไทยที่เป็นเจ้าของโรงสีมักไม่ดำเนินกิจการเอง แต่ให้ผู้อื่นเช่า ซึ่งก็คือ “คนจีน” ภาพโรงสีส่วนใหญ่ในไทยจึงดูเป็นของจีน
เจ้าของตัวจริง
โรงสีกลไฟ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สมัยรัชกาลที่ 5-6 จำนวน 41 แห่ง พบว่าเป็นของชนชั้นนำถึง 20 แห่ง แม้เจ้าของตัวจริงเป็นเจ้านาย, กรมกระคลังข้างที่ และขุนนางไทย แต่ชื่อกิจการมักเป็นภาษาจีน ตัวอย่างเช่น
สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นเจ้าของโรงสีอยู่ที่วัดราชสิงขร (ไม่ทราบชื่อ) ให้นายยูเสงเช่า และโรงสีที่บางโพ (ไม่ทราบชื่อ) พระยาวรพงษ์พิพัฒน์เป็นผู้หาคนมาเช่า
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ไม่ชัดเจนว่าเป็น เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ หรือเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ) ทรงเป็นเจ้าของโรงสีที่ทรายมูล ฉะเชิงเทรา
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงเป็นเจ้าของ “โรงสีบางกอกไรซมิล” ที่ตำบลบ้านใหม่ ปทุมธานี ให้นายตันฮ่วงหลีเช่า
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นเจ้าของ “โรงสีเม่งหง” ที่สามเสน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเจ้าของ “โรงสีไทเฮงหลี” ที่บางพลัด ให้นายแผ่เลี้ยงกับนายห้องหลีเช่า
กรมพระคลังข้างที่ (ภายหลังคือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) เป็นเจ้าของมีโรงสีหลายแห่ง ราว พ.ศ. 2461 โรงสีในกรุงเทพฯ กว่าครึ่งเป็นของพระคลังข้างที่ เช่น โรงสียู่ฮวดเส็ง บางซื่อ, โรงสีกิมฮั่วหลง บางซื่อ, โรงสีเซียงเฮงล้ง บุคคโล ฯลฯ

พระยาบริบูรณ์ เป็นเจ้าของ “โรงสีหลีติ๊ดหงวน” คลองสาน
พระยาวรพงษ์พิพัฒน์ เป็นเจ้าของ “โรงสีกิมง่วนสง” บางซื่อ
พระพิบูลย์ เป็นเจ้าของ “โรงสีเคี่ยนลี่จ่าง” สามเสน และ “โรงสีเซี่ยงกี่จ่าง” วัดราชสิงขร
หลวงอุดมภัณฑ์พานิช เป็นเจ้าของ “โรงสีง่วนเจ็งหลี” บางซื่อ
ฯลฯ
ที่บอกว่าโรงสีเป็นของคนจีน แต่ก็มีชนชั้นสูงไทยเป็นนายทุน จะแยกแยะชัดเจนว่าโรงสีข้าวของไทยหรือของจีนคงเป็นการยากอยู่ เพราะจะดูแค่ชื่อไม่ได้
อ่านเพิ่มเติม :
- จุดกำเนิดพ่อค้าชาว “จีน” กับธุรกิจ “โรงสีข้าว” ยุคแรกในสยาม จากความมั่งคั่งสู่การล้มละลาย
- เปิดประวัติ “ข้าว” อาหารที่คนไทยขาดไม่ได้ เริ่มกินตั้งแต่เมื่อไหร่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ของใคร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. พ.ศ. 2558.
ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. “การผลิตและการค้าข้าวในภาคกลางตั้งแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2411-2475)” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2521.
ม.ล. ยิ่งศักดิ์ อิสรเสนา. ประวัติเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ; พระยาภิรมย์ภักดีและประวัติโรงเบียร์ ; โชคชะตาในชีวิตที่พอใจ, องค์การค้าคุรุสภา พ.ศ. 2506
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2568