ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2310-2325) ระยะเวลาสั้นเพียง 15 ปี ในการปกครองบ้านเมือง แต่พระราชประวัติของพระองค์กลับเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก เพราะทรงเป็นวีรกษัตริย์ผู้กอบกู้บ้านเมือง หากจำนวนไม่น้อยก็เป็นการ “ดิสเครดิต” พระเกียรติพระองค์
“กบฏ” คราวเสียกรุงฯ
การเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 มีข้อกล่าวว่า พระองค์ตีฝ่าวงล้อมพม่าไปอย่าง “กบฏ” ถ้าพูดแบบปัจจุบัน ก็เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะขณะนั้นก่อนกรุงแตก แค่คิดเพียงเอาตัวเองรอด รวบรวมซ่องสุมกำลังคน ก็ถือว่าคิดเป็นใหญ่
ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนหนึ่งว่า “…ฝ่ายพระยากำแพงเพชร [สมเด็มพระเจ้าตากสินฯ] ซึ่งตั้งอยู่ ณ ค่ายวัดพิชัย จึงชุมนุมพรรคพวก ทหารไทยจีนประมาณพันหนึ่ง สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ กับทั้งนายทหารผู้ใหญ่…จัดแจงกันคิดจะยกทัพหนีไปทางตะวันออก”

แต่ใน “จดหมายออกพระพิพัทธโกษาถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ค.ศ. 1769” (ปัจจุบันเก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์) ลงวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1769 (พ.ศ. 2312) กล่าวว่า พระเจ้าตากสินฝ่าวงล้อมตาม “รับสั่ง” ไม่ได้หนีราชการ
“เมื่อศัตรูพม่า เข้ามาทำสงครามกับสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม [พระเจ้าเอกทัศน์] ทรงส่งขุนนางผู้หนึ่ง นามว่า ‘พญาตาก’ ไปยังเมืองจันทบูร เพื่อไปรวบรวมกำลังพล และนำคนเหล่านี้มาช่วยกรุงสยาม แต่ยังมิทันดำเนินการไปเท่าไร อาณาจักรสยามก็ปราชัยต่อศัตรูดังกล่าวเสีย…”
กู้เงิน-หนีหนี้
ประเด็นนี้มีผู้เขียนจำนวนมาก เนื้อหาหลักๆ สรุปได้ว่า พระองค์ทรงกู้มาจากเมืองจีนจำนวน 60,000 ตำลึง เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ เงินในท้องพระคลังมีไม่พอ จึงทรงหารือกับเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) แล้วทรงออกอุบาย “หนีหนี้” โดยพระองค์จะแกล้งบ้าหลบไปอยู่หัวเมือง บ้านเมืองก็ยกให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ไปปกครอง หนี้สินก็คงเป็นอันจบกันไป

แต่ถ้าจำกันได้ช่วงต้นกรุงธนบุรี ราชสำนักจีนยังไม่ยอมรับสถานะพระองค์ การที่จีนจะปล่อยกู้จึงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้คณะราชทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน 2 ครั้ง (พ.ศ. 2320, พ.ศ. 2324) โดยเฉพาะครั้งหลังใช้เรือที่บรรทุกเครื่องราชบรรณาการ 4 ลำ เรือสินค้า 7 ลำ มีการประเมินว่าใช้เงินไม่น้อยกว่า 3.9 ล้านตำลึง แสดงว่าท้องพระคลังกรุงธนบุรีอู้ฟู่ขนาดนี้ ไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ยืมสิน
เมื่อเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอ้างอิงว่าพระองค์เป็น “ลูก” ของพระเจ้าตากสินฯ กับทางการจีน เช่นนี้ภาระหนี้สินของพ่อลูกจะปฏิเสธได้ย่างไร
อาจเอื้อม
อีกประเด็นร้อนก็คือ เรื่องที่พระองค์ทูลขอ “พระราชธิดา” จักรพรรดิจีน ที่เอกสารไทยส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า แม้พระองค์ทรงเป็น “พระเจ้ากรุงธนบุรี” เมื่อเทียบกับ “พระเจ้ากรุงจีน” นับว่ายังห่างไกลกันอยู่หลายช่วงตัว อีกมุมหนึ่งการมีพระชาติกำเนิดเป็นสามัญชนชาวจีน การกระทำเช่นนี้จึงสรุปได้เพียงว่า “อาจเอื้อม”

หากที่จริงแล้ว เจ้านายสตรีที่พระองค์มีพระราชประสงค์ทูลขอคือ “พระราชธิดา” เจ้านครเวียงจันท์ (1 ใน 3 นครรัฐแห่งอาณาจักรล้านช้างขณะนั้น ได้แก่ นครเวียงจันท์, นครหลวงพระบาง และนครจำปาศักดิ์) เพื่อที่ทั้งสองอาณาจักรจะร่วมมือกันต่อต้านอำนาจกองทัพพม่า
ประเด็นดิสเครดิตพระเจ้าตากสินมหาราช ที่กล่าวไปข้างต้นก็แค่บางส่วนจากอีกหลายประเด็น แสดงให้เห็นว่า มีการดิสเครดิตพระองค์อย่างทั่วถึงในแต่ละช่วงของพระชนมชีพ
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระเจ้าตากสินมหาราช” เสด็จพระราชสมภพที่ไหนกันแน่?
- พระนามทางการของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่เลือนหายจากความทรงจำคนไทย
- ตามรอย “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปสำคัญของไทยทั้ง 3 องค์ กับพุทธศิลป์ 3 แบบ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กำพล จำปาพันธ์. “พระยาตากสิน จากหลักฐานฮอลันดา (ไปจันทบุรีตามคำสั่งของราชสำนักอยุธยา?)” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2560.
รศ. นพ. เอกชัย โควาวิสารัช. “ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตอนที่ 1 เรื่อง ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้เงิน 60,0000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่’ ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2560.
สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “โอละพ่อ! กรณีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทูลขอพระราชธิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงจีน” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2567
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2568