ผู้เขียน | สัตตบงกช เยาวโยธิน |
---|---|
เผยแพร่ |
เวสทัล นักบวชหญิงผู้คอยดูแล “ไฟศักดิ์สิทธิ์” หนึ่งในหัวใจสำคัญของกรุงโรม
ทำความรู้จัก “เวสทัล” เหล่านักบวชหญิงผู้รับใช้ “เทพีเวสตา” เทพีแห่งการครองเรือนและเตาไฟ และผู้ดูแลไฟศักดิ์สิทธิ์ประจำกรุงโรม หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้กรุงโรมไม่ประสบหายนะ
ตามคำบอกกล่าวของนักเขียนชาวโรมัน เวสทัลเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิบูชาเตาไฟที่ก่อตั้งโดย นุมา ปอมปิลิอุส (Numa Pompilius) กษัตริย์โรมันในตำนาน ช่วงศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล ซึ่งพิธีกรรมนี้มีแค่หญิงสาวเท่านั้นที่สามารถทำได้ แตกต่างจากพิธีกรรมอื่น ๆ ในสมัยนั้นที่เน้นบุรุษ
ชาวโรมันเชื่อกันว่า เตาไฟในวิหารเวสตา คือ ชะตาแห่งกรุงโรม เพราะตราบใดที่ไฟยังลุกโชนอยู่ กรุงโรมก็จะปลอดภัย ดังนั้นจึงมีการเฟ้นหาเด็กหญิงจากตระกูลเก่าแก่ที่มีอายุ 6-10 ปี จำนวน 6 คน ส่งให้สังฆนายก (Pontifex Maximus) เป็นผู้คัดเลือก และมีข้อบังคับว่าต้องเป็นสาวพรหมจารีเท่านั้น โดยพวกเธอจะต้องทำหน้าที่เหล่านี้ไปอีก 30 ปี

เหล่านักบวชหญิงจะต้องย้ายไปอาศัยอยู่ในบ้านของหญิงพรหมจารีเวสทัล เขตจตุรัสโรมัน ใกล้กับวิหารเวสตา ในทุก ๆ วันพวกเธอจะต้องคอยดูแลไฟศักดิ์สิทธิ์ และในเดือนมีนาคมของทุกปี จะมีการเติมเชื้อไฟอีกครั้งเพื่อให้ไฟลุกโชนอยู่ตลอดจนปีถัดไป ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ เนื่องจากเป็นชะตาของกรุงโรม
หากไฟดับ เหล่านักบวชหญิงที่เป็นผู้ดูแลเตาไฟจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าละเลยต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้จักรพรรดิหรือสังฆนายกสั่งเฆี่ยนตีพวกนางได้ และเมื่อใดที่พบว่านักบวชหญิงเหล่านี้ไม่รักษาพรหมจรรย์ ก็จะถูกประหารด้วยการฝังทั้งเป็นทันที
นอกจากนี้ ในเวสตายังมีเทศกาลสำคัญอีกหนึ่งอย่าง คือ เทศกาลเวสทาเลีย ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นทุกปีตั้งแต่วันที่ 7-15 มิถุนายน ในเทศกาลนี้สาว ๆ จะอบขนมโมลาซัลซา (mola salsa) เค้กที่ทำจากแป้งและเกลือ พร้อมทั้งเดินเท้าไปยังวิหารเวสตา เพื่อไปถวายแด่เทพีเวสตา
หลังจากทำหน้าที่ครบ 30 ปี มีนักบวชหญิงน้อยคนนักที่เลือกจะแต่งงานถือครองเรือน เพราะพวกเธอเชื่อกันว่าสิ่งใดที่เคยเป็นของเทพีเวสตา สิ่งนั้นก็จะเป็นของเทพีตลอดไป ดังเช่นพวกเธอที่ถวายตัวรับใช้แล้ว ก็จะเป็นผู้รับใช้ตลอดไป

เนื่องจากการเข้ามาของศาสนาคริสต์ ทำให้ลัทธิบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ยกเลิกไปในสมัยจักรพรรดิธีโอโดซิอุสที่ 1 (Theodosius I) ใน ค.ศ. 394 และพระองค์ได้ประกาศให้คริสตศาสนาเป็นศาสนาประจำโรมันแทน
แม้เปลวไฟจะดับลง แต่ลัทธิบูชานี้ก็ได้เปลี่ยนผ่านไปยังศาสนาใหม่ โดยนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าบทบาทของแม่ชีในศาสนาคริสต์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหล่านักบวชหญิงเวสทัลนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “อารามชีลับ” นักโทษของพระเจ้า หรือเจ้าสาวของพระคริสต์?
- “แม่ชี” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งว่า “ไม่มีคนไหนเป็นหญิงบริสุทธิ์”!?
- ตามรอย “เตาไฟ” แบบโบราณ จากเตาก้อนเส้า ถึง “เตาอั้งโล่” และ “เตามหาเศรษฐี”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอดิธ แฮมิลตัน. (2565). ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส [Mythology] (พิมพ์ครั้งที่ 18) (นพมาส แววหงส์, ผู้แปล). กรุงเทพมหานคร: อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
The Editors of Encyclopaedia Britannica (2025, January 24). Vestal Virgins. Encyclopedia Britannica. https://www.britannica.com/topic/Vestal-Virgins
https://www.nationalgeographic.com/history/history-magazine/article/vestal-virgins-of-ancient-rome
https://medium.com/the-10th-muse/vestal-virgins-buried-alive-8c3933d8ab98
Apel, T. (2022, November 30). Vesta. Mythopedia. https://mythopedia.com/topics/vesta
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2568